xs
xsm
sm
md
lg

ดูคุณครูหัวฟูที่ท้องฟ้าจำลองในงาน "สัปดาห์วิทย์" 18-24 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรียนรู้วิทย์จากธรรมชาติผ่านกล้องดิจิทัล
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์นำตระเวนชมงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์" ที่ท้องฟ้าจำลอง ร่วมทดลอง "แวนเดอรแกรฟ" ทำหัวฟู ดูชุมชนวิทยาศาสตร์นำเสนอกิจกรรมวิทย์ เยี่ยมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พร้อมเรียนรู้ห่วงโซ่อาหาร 8-24 ส.ค.นี้

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ 18 ส.ค.51 นี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรุงเทพมหานคร (ท้องฟ้าจำลอง) และชุมชนใกล้เคียง จัดงานชุมชนวิทยาศาสตร์ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2551 ในหัวข้อ "ชุมชนวิทยาศาสตร์ ตลาดนัดวิชา พัฒนาสังคม" ระหว่าง 18-24 ส.ค.นี้

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้ตระเวนชมนิทรรศการและกิจกรรมภายในงาน พร้อมเก็บภาพบรรยากาศภายในงานมาฝาก โดยวันแรกของการจัดงานคราคร่ำไปด้วยนักเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
คุณครูทดลองแวนเดอรกราฟ จนหัวฟู
ทั้งนี้ทรรศการและกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นภายในบริเวณ สสวท.และท้องฟ้าจำลอง โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ อาทิ ลานสนุกคิด ชุมชนวิทยาศาสตร์ เวทีกิจกรรมกลาง กิจกรรมบรรยายทางวิชาการ ห้องฟิสิกส์และหุ่นยนต์ เป็นต้น

ณ ห้องฟิสิกส์และหุ่นยนต์ เสียงเด็กนักเรียนต่างเฮฮากับกิจกรรมทดลองเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแวนเดอรแกรฟ (Van de Graaf Generator) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตประจุไฟฟ้าโดยใช้หลักการขัดถูของวัตถุ เมื่อผู้ทดลองสัมผัสเครื่องกำเนิดไฟฟ้านี้จะทำให้ผมชี้ฟู เนื่องจากประจุเคลื่อนเข้าไปร่างกาย โดยเฉพาะปลายผมมากที่สุด แต่เพราะเป็นประจุเดียวกัน จึงเกิดการผลักกันและทำให้เส้นผมกางออก

นักเรียนยิ่งเฮฮามากขึ้น เมื่อเสนอให้คุณครูทดลองสัมผัสเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแวนเดอรกราฟ และคุณครูผู้ชายต้องสวมผมปลอม เพื่อให้เห็นการทดลองที่ชัดเจนขึ้น ภาพครูที่แปลกตาทำเอานักเรียนหลายคนอดไม่ได้ ที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพคุณครู
เรียนระบบนิเวศแค่ในหนังสือน่าเบื่อไป สสวท.ชวนเรียนรู้ผ่านกระดาษพับรูปสิ่งสาราสัตว์ คุณครูโหลดภาพให้นักเรียนทำเองได้ที่ http://www.canon-europe.com/paperart/animals/index.asp
บริเวณชุมชนวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่เข้าร่วมต่างขนกิจกรรมมานำเสนอ อาทิ โรงเรียนปทุมคงคา ที่สาธิตการทดลองอากาศหดและขยายตัว เนื่องจากความเย็นและความร้อน โดยนำขวดน้ำพลาสติกต่อเข้ากับหลอดดูดน้ำและจุ่มลงในแก้วที่มีน้ำ แล้วอุดบริเวณรอยต่อด้วยดินน้ำมันไม่ให้มีช่องว่าง จากนั้นลาดน้ำร้อนบนขวดพลาสติก จะเห็นว่าเกิดฟองอากาศในแก้วน้ำ แล้วลาดน้ำเย็นต่อจะเห็นว่ามีไหลผ่านหลอดเข้าสู่ขวดน้ำพลาสติก เป็นต้น

ขณะที่นิทรรศการถาวรภายในท้องฟ้าจำลองก็ได้ความสนใจจากนักเรียนผู้เข้าร่วมชมงาน อาทิ เครื่องกำเนิดวงแหวนเวอร์เทกซ์ (Vertex) ซึ่งเมื่อกดเครื่องที่มีรูปร่างเหมือนโดนัทพร้อมๆ กัน จะทำให้ลำอากาศพุ่งขึ้นเป็นวงหมุนรูปโดนัท เรียกว่าวงแหวนเวอร์เทกซ์ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวพบเห็นได้ในธารน้ำที่ไหลผ่านก้อนหิน แล้วเกิดน้ำวน หรือกระแสลมที่พัดผ่านสายไฟฟ้า ทำให้เกิดเวอร์เทกซ์ของอากาศ หรือเครื่องกำเนิดพายุทอร์นาโด เป็นต้น
นิทรรศการของนักเรียนปทุมคงคาสอนเรื่องอากาศหด-ขยายตามความเย็น-ความร้อน โดยภาพขวาจะเห็นฟองอากาศในน้ำสีเขียวเมื่อลาดขวดพลาสติกด้วยน้ำร้อน
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำก็เปิดให้เข้าชมได้ฟรี โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรม "ห่วงโซ่อาหาร" ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมปลากระดาษที่มีขนาดต่างๆ กัน ให้นักเรียนติดกระดาษ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" เพื่อเรียนรู้เรื่องห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมบรรยายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ อาทิ

- "เรียนรู้ดูพลอย" โดยนักวิชาการ สสวท. ในวันที่ 20 ส.ค.เวลา 11.00-12.00, วันที่ 22 ส.ค. เวลา 10.00-11.00 และวันที่ 24 ส.ค. เวลา 11.00-12.00
- "พระวิหารในธรณีวิทยา" โดยนักวิชาการ สสวท. ในวันที่ 21 ส.ค. เวลา 11.00-12.00
- "เสวนาทำอย่างไรจึงได้เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ" โดยผู้แทนโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ในวันที่23 ส.ค. เวลา 10.00-11.00
- "ผู้ปกครองกับการส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยตนเองที่บ้าน" โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 24 ส.ค. เวลา 10.00-11.00
เรียนรู้รูปทรงเรขาคณิตผ่านการพับกระดาษ
เวทีกลางรับอาสาสมัครร่วมทดลอง การดูดซับน้ำของ ซิลิกาเจล ซึ่งใส่ในผ้าอ้อมเด็ก
ส่วนหนึ่งของบรรยากาศงานสัปดาห์วิทย์ที่ท้องฟ้าจำลอง
รู้จักห่วงโซ่อาหารผ่านกิจกรรม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก





คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "สัปดาห์วิทย์" ที่ท้องฟ้าจำลองเพิ่มเติม

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

กำลังโหลดความคิดเห็น