ประหยัดพลังงานไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังให้ผลเกินคุ้ม อย่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ลดค่าใช้จ่ายลงได้ และยังคว้ารางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ตั้งแต่ระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน ประธานโครงการเผย สิ่งสำคัญต้องสร้างจิตสำนึกของคนในองค์กร พร้อมตั้งเป้าผลักดันทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ. ให้ทำได้แบบเดียวกัน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัลไทยแลนด์ เอนเนอร์จี อวอร์ด 2008 (Thailand Energy Awards 2008) ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับรางวัลรวม 51 หน่วยงาน รวมถึงโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารควบคุม และรางวัลชนะเลิศจาก อาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด 2008 (ASEAN Energy Awards 2008) ประเภทการบริหารจัดการพลังงานดีเด่นในอาคาร
พญ.ประภา รัตนไชย ประธานคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พลังงาน โรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อราว 4-5 ปีก่อน รัฐบาลมีนโยบายโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้โรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จึงต้องหาวิธีที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับโรงพยาบาลได้ ได้แก่ การลดใช้พลังงานในโรงพยาบาล จึงเริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการดังกล่าว
"เริ่มต้นด้วยการหาความรู้และข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน โครงการพลังงานหารสอง และโครงการต่างๆ พอเริ่มมีเครือข่ายมากขึ้นก็ได้วิศวกรที่ปรึกษามาช่วยในเรื่อต่างๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งการดำเนินงานมี 3 องค์ประกอบใหญ่ คือ พัฒนาบุคลากร ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นแบบประหยัดพลังงาน และการจัดการระบบการใช้พลังงานในโรงพยาบาล" พญ.ประภา แจงให้ฟัง
พญ.ประภาเล่าต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลตื่นตัวและตระหนักในเรื่องของพลังงาน ซึ่งในตอนแรกก็มีหลายคนที่ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย แต่ก็จะไม่มีการว่ากล่าว หรือตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะค่อยๆ ทำให้ทุกคนเข้าใจและได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งในที่สุดทุกคนก็ให้ความร่วมมือกันอย่างดี โดยทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลจะมี ส.ส.พลังงาน เป็นผู้แทนในการปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ
พญ.ประภา ยกตัวอย่างการดำเนินงานของโครงการเพื่อลดการใช้พลังงานว่าได้แก่ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เป็นรุ่นประหยัดไฟ ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ให้ใช้งานอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เช่น เปิดสวิตซ์เมื่อต้องการใช้งาน และปิดสวิซต์ทันทีเมื่อเลิกใช้งาน น้ำร้อนให้ต้มแต่พอใช้ และใช้ทันทีเมื่อต้มเสร็จ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้สูญเสียพลังงาน
"ทางโรงพยาบาลมีการซักผ้าของผู้ป่วยทุกวัน ซึ่งจะมีผ้าบางส่วนที่เปรอะเปื้อนเลือดมากน้อยต่างกัน เมื่อก่อนจะซักรวมกันทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้จะให้มีการแยกผ้าก่อนซัก ก็จะช่วยประหยัดน้ำ, ไฟฟ้า และ ผงซักฟอก ได้มาก หรือว่าการต้มน้ำร้อนในหม้อต้มขนาดใหญ่สำหรับใช้ในโรงพยาบาล เราก็จะไม่ปล่อยไอน้ำให้ระเหยไปเฉยๆ แต่จะเอามาให้ความร้อนกับน้ำที่รอจะเข้าเครื่องต้มน้ำต่อไป เพื่อให้น้ำอุ่นขึ้น และใช้พลังงานในการต้มน้อยลง" พญ.ประภา ยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่องทำน้ำเย็น ปรับแรงดันหม้อแปลงไฟฟ้าและย้ายโหลดหม้อแปลง ใช้เครื่องปรับอากาศชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงแทนชุดเดิม เปลี่ยนหลอดอินแคนเดสเซนต์เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ ใช้โคมชนิดประสิทธิภาพการสะท้อนแสงสูงและลดจำนวนหลอดไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งได้นายบัณฑิต งามวัฒนะศิลป์ เป็นวิศวกรกรที่ปรึกษาของโครงการมาหลายปีแล้ว
จากการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานมานานกว่า 4 ปีครึ่ง ประธานโครงการบอกว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้ไม่น้อย โดยในปี 2549 ลดต้นทุนของโรงพยาบาลได้ 4.4 ล้านบาท ส่วนในปี 2550 ลดได้ 8.36 ล้านบาท หรือหากคำนวณค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อผู้ป่วยที่มีรับบริการ จากเดิมหากผู้ป่วย 1 คน นอนโรงพยาบาล 1 คืน จะมีค่าใช้จ่าย 100 บาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 80 บาทเท่านั้น
พญ.ประภา บอกอีกว่า การได้รับรางวัลไม่ได้หมายความว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว แต่เราจะต้องทำต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด และตั้งใจว่าจะทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศสามารถประหยัดพลังงานและลดต้นทุนของโรงพยาบาลได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลหาดใหญ่ และในไม่ช้านี้ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ก็จะจัดโครงการอบรมสัมมนาในเรื่องดังกล่าวให้กับตัวแทนของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นการนำร่อง.