เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาชี้สัญญาณการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว โลกเตรียมกวาดล้างผู้รังแกธรรมชาติ ระบุกิเลสตัณหาเป็นตัวผลักดันทุนนิยม มนุษย์หวังแต่จะกอบโกย โดยไม่เคารพธรรมชาติ แนะผู้บริหารประเทศตั้งสติ ใช้ปัญญาขับเคลื่อนประเทศ ด้วยทุนที่เหมาะสม พร้อมระบุเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธรรมะ แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เศรษฐพอเพียงรับมือโลกร้อน" ระหว่างงานสัมมนาวิชาการ "ภาวะโลกร้อนในบริบทของสังคมไทย" ในวาระครบรอบ 15 ปีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.51 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมฟังด้วย
"โลกกำลังถูกครอบงำ ด้วยลัทธิการบริโภคนิยม ทำให้มนุษย์บริโภคกันอย่างไม่ยั้งคิด" ดร.สุเมธ เอ่ยประโยคแรก และกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันนี้ประชากรโลกมีมากกว่า 6,000 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าต่อก่อนมากมายมหาศาล ขณะที่โลกไม่ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีแต่จะถูกกัดกร่อนให้เล็กลง ส่วนทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกใช้ไปจนลดน้อยลงอยู่เรื่อยๆ
"ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน คนสมัยก่อนนั้นให้ความเคารพต่อดิน น้ำ ลม ไฟ และธรรมชาติกันอย่างมากมาย แต่พอถึงสมัยนี้ เรากลับไม่เคารพธรรมชาติกันเลย มองเห็นแต่สิ่งที่จะกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัวได้เท่านั้น" ดร.สุเมธ กล่าว
"สมัยก่อนมองดูต้นไม้ก็จะนึกถึงว่าต้นไม้ให้ออกซิเจนแก่เราได้หายใจ เดี๋ยวนี้มองดูต้นไม้ก็คิดคำนวณกันว่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ แล้วอย่างนี้ต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไรเล่า"
ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้ธรรมชาติเสียสมดุล และทำให้เกิดภัยพิบัติตามมามากมาย ดร.สุเมธ ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ อาจไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจที่มีการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ที่จริงแล้วทุกชีวิตผูกโยงถึงกัน เพราะเจ้าพระยา สายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนกรุงเทพฯ และภาคกลาง มาจากปิง วัง ยม น่าน ของภาคเหนือ ถ้าภาคเหนือตาย กรุงเทพฯ ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นคนกรุงเทพฯ ก็ต้องช่วยภาคเหนืออันเป็นต้นตอของชีวิต
"ถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ ที่จริงแล้วเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงถูกพูดถึงอย่างมาก จนบางครั้งเกิดการสับสน แต่ถ้ามองให้ประจักษ์ลึกซึ้งจะพบว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นธรรมะที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ปัญหาการเมือง" ดร.สุเมธ แจง
นอกจากนี้ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนายังกล่าวขยายความต่อว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ทว่าบทเรียนอันแสนเจ็บปวดจากช่วงเวลานั้นเมื่อผ่านมานานกว่า 10 ปี พวกเราส่วนใหญ่เริ่มลืมเลือนกันแล้ว แต่กลับจะแสวงหาการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อมีการเจริญเติบโต ก็ยิ่งมีความต้องการมาก ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากขึ้น เท่ากับทำลายโลกไปพร้อมๆ กัน
"ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเข้าใจด้วย ปัจจุบันอัตราการบริโภคของมนุษย์อยู่ที่ 3:1 คือเอาจากธรรมชาติไป 3 ส่วน แต่คืนกลับให้เพียง 1 ส่วน นั่นก็เพราะเราไม่เคยทำอะไรที่อิงกับธรรมะและธรรมชาติกันเลย การก่อสร้างในสมัยใหม่เรามักทำอะไรที่มันเกินตัว ไม่พึ่งพาธรรมชาติ" ดร.สุเมธ กล่าว
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแก้ปัญหาโดยมองรอบด้าน แล้วใช้ปัญญาไปจับให้มันเกิดการสู้กัน อย่างเช่น การบำบัดน้ำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำที่มีอยู่ในบริเวณนั้น ก็แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องลงทุนหลายพันล้านสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย" ดร.สุเมธ กล่าวและแนะนำต่อไปว่าให้พวกเรารู้จักใช้ธรรมะ ธรรมชาติ ช่วยแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนายังกล่าวอีกว่า นักบริหารประเทศของไทยเองก็ยังอยากทำให้ไทยเป็นแบบเดียวกับประเทศอื่น เห็นเขาเป็นเสือตัวใหม่ ก็อยากให้ไทยเป็นบ้าง อยากจะให้ไทยเป็นเสือตัวที่ 5 (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) แต่ทำไมถึงไม่ตั้งสติและใช้เหตุผลประเมินว่าเราจะเป็นได้หรือไม่ หรือว่าเราควรจะเป็นอะไรดี เป็นปลา เป็นนก หรือเป็นควาย ให้เหมะสมกับลักษณะและทุนของเราที่มีอยู่ ถ้ามัวมองว่าทุนเป็นแต่เงินเพียงอย่างเดียวก็อาจพังพินาศได้
"เสรีนิยม ทุนนิยม ใช้กิเลสตัณหาเป็นตัวผลักดัน ยิ่งผลิตมาก จะได้บริโภคกันมากๆ ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ยิ่งดี จะได้ใช้แล้วทิ้งไปเลย แล้วก็หาซื้อใหม่ อย่างนี้เป็นต้น" ดร.สุเมธ กล่าวเปรียบเทียบพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นและบอกต่อว่าประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมามีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 5 ครั้ง และก็เป็นไปได้ว่าอาจมีครั้งที่ 6 เกิดขึ้น ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนมาบ้างแล้ว
ถ้าโลกรับไม่ไหวเมื่อใดเขาก็จะจัดการสลัดเราออกไปเมื่อนั้นถ้าหากว่าเรายังไม่เลิกรังแกเขาดังนั้นเราแลต้องใช้ปัญญานำทาง ะเอาชนะกิเลสตัณหาให้ได้ ปรับเปลี่ยนให้อัตราการบริโภคลดลงเหลือ 1:1 หนึ่งให้ได้ และถ้าทำได้อย่างนี้ทุกคนก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อโลก
ดร.สุเมธ กล่าวย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ทำตามศักยภาพของทุนที่เรามีอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ทำด้วยกิเลสตัณหา ต้องอยู่กับโลกได้ และตามโลกให้ทัน รับรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และต้องซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกธรรมลายย่อยยับนั้น ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากความทุจริตของคนเรานั่นเอง
"ตอนนี้อยู่ที่เราแล้วว่าจะทำหรือไม่ จะทำเมื่อไหร่ ส่วนทำอย่างไรนั้นพวกเรารู้กันอยู่แล้ว หากเรารักษาบ้าน รักษาประเทศของเราไว้ได้ เราก็รักษาโลกได้ ผลสุดท้ายก็รักษาชีวิตของเราไว้ได้นั่นเอง" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าวทิ้งท้าย.