xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยน้ำทะเลเปลี่ยนสี สาหร่ายเป็นพิษหายใจเข้าปอดเสี่ยงมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือเรดไทด์ (red tide) เกิดจากการที่แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งแพลงก์ตอนบางชนิดสร้างสารพิษได้ หากสูดหายใจเข้าไปก็จะก่ออันตรายต่อดีเอ็นเอในปอดได้ (ภาพจาก NOAA)
นักวิจัยโนอาชี้ น้ำทะเลเปลี่ยนสี มีสารก่อมะเร็ง สูดหายใจเอาไอทะเลเข้าปอด ระวังสารพิษจากสาหร่ายที่ปะปนอยู่ เข้าไปสะสมในร่างกาย และค่อยๆ ทำลายดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอด เท่ากับตายผ่อนส่งเหมือนสูบบุหรี่หรือสูดดมควันพิษ

องค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanic and Atmosphere Administration: NOAA) เผยผลการวิจัยละอองสารพิษ จากสาหร่ายในทะเล ขณะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีหรือเรดไทด์ (red tide) มีฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดหากสูดหายใจเข้าไป และอาจก่อให้เกิดมะเร็งลุกลามตามมาได้ ซึ่งไซน์เดลีระบุว่าผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม แอนไวรอนเมนทอล เฮลธ์ เพอส์เพคทิฟ (Environment Health Perspective)

จอห์น แรมส์เดล (John Ramsdell) หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลและอนามัยสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง (Center for Coastal Environmental Health and Biomolecular Research) โนอา ได้ศึกษาอันตรายของสารพิษจากเรดไทด์ (red tide toxin) ในหนูทดลอง ซึ่งเป็นสารพิษประเภทเบรวีท็อกซิน (brevetoxin) สร้างจากสาหร่ายชนิด คาเรเนีย เบรวิส (Karenia brevis)

จากการทดลอง นักวิจัยพบว่า เบรวีท็อกซินสามารถทำปฏิกิริยากับดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งตามมาในภายหลัง และยังอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในยีน ที่ยับยั้งการเกิดมะเร็งโดยธรรมชาติ

ทว่าเมื่อสารพิษเข้าสู่ปอดจะไม่ได้ออกฤทธิ์ในทันที แต่จะมีกระบวนการที่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารพิษดังกล่าวจากที่ไม่แสดงความเป็นพิษให้ออกฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอได้

ทั้งนี้ เรดไทด์ หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เกิดจากการที่สาหร่ายหรือแพลงก์ตอนพืชแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า แอลจีบลูม (algea bloom) ทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม

แพลงก์ตอนพืชบางชนิด สามารถสร้างสารพิษเบรวีท็อกซิน ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท มักสะสมอยู่ในหอยที่กินแพลงก์ตอนพืชพวกนี้เป็นอาหาร และเมื่อเราบริโภคหอยเหล่านั้นก็จะได้รับสารพิษเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับเมื่อเราสูดหายใจเอาสารพิษที่ปะปนอยู่ในละอองจากทะเลเข้าปอด ก็จะได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน

สารพิษเบรวีท็อกซินสามารถพบได้ในละออง จากน้ำทะเลขณะที่เกิดปรากฏการณ์เรดไทด์ และมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษดังกล่าวเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม การสูดหายใจรับเอาสารพิษเบรวีท็อกซินเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และการได้รับสารพิษจำพวกทำอันตรายต่อดีเอ็นเอ หรือสารก่อมะเร็งจากแหล่งอื่นๆ เช่น ควันบุหรี่ หรือมลพิษในอากาศ ก็อาจเป็นไปได้ว่าสารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายและมีผลทำลายดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อปอดร่วมกันได้

แรมส์เดลระบุด้วยว่า งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกายสามารถทำให้เบรวีท็อกซินสะสมในร่างกาย และก่ออันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงควรมีการจัดการและคาดการความเสี่ยงของประชาชนที่อาจได้รับสารพิษจากทะเลโดยการสูดหายใจเข้าไป ซึ่งโนอาก็ศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบและอันตรายจากสาหร่ายบลูม เพื่อคาดการณ์ได้ลักษณะของน้ำทะเลที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้คนชายฝั่ง และหาวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงให้น้อยลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น