xs
xsm
sm
md
lg

เสนอไทยเปลี่ยนบทลดที่เพาะปลูก เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนบ้านทำแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ
สนช.เสนอแนวคิด อีก 15 ปีลูกหลานต้องไม่ทำเกษตรเอง แต่ให้เพื่อนบ้านทำแทน ชี้ทางลดพื้นที่เพาะปลูก เปลี่ยนบทบาทป็นผู้แก้ปัญหาเกษตรให้เพื่อนบ้าน เน้นบริหารจัดการ ระบุสินค้าเกษตร 6 ชนิดที่เป็นจุดแข็ง ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ ยาง กุ้งและอ้อย

ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก เข้าสัมภาษณ์กลุ่มย่อย ในหัวข้อ "นวัตกรรมที่ส่งผลในเชิงพาณิชย์" ณ อาคารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันที่ 14 ก.ค.51 โดยได้เสนอแนวคิดในการนำนวัตกรรม มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางสภาพสังคมและการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม

ทั้งนี้ ดร.ศุภชัยกล่าวว่า นวัตกรรมทางด้านการเกษตร เป็นจุดแข็งของไทย แต่การจะเดินตามอย่างสหรัฐฯ โดยขยายพื้นที่ในการเพิ่มผลผลิตนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเราเป็นประเทศเล็ก

"สิ่งที่ทำได้คือการบริหารจัดการ ให้สามารถขายสินค้าเกษตรปริมาณน้อยๆ
แต่ได้ราคาสูง แทนที่จะทำเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งขายผลผลิตปริมาณมาก แต่ได้ราคาต่ำก็เปลี่ยนขายปริมาณน้อยๆ แต่ได้ราคาดีขึ้น" ดร.ศุภชัยกล่าว

เขายังเสนอว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าไ ทยควรลดการผลิตสินค้าเกษตรลง แล้วเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำปรึกษา ในการแก้ปัญหาทางการเกษตร แก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาแทน

ทั้งนี้ ผอ.สนช.เห็นว่าผลผลิตที่เป็นจุดแข็งของไทยคือ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ ตามมาด้วยยางพารา กุ้งและอ้อย ซึ่งแทนที่เราจะผลิตเองก็ให้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ผลิตแล้วเราก็รับหน้าที่บริหารจัดการ

"เราไม่ควรเอาจุดอ่อน ในเรื่องพื้นที่การเพาะปลูก ไปแข่งกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย แต่เราต้องแข่งด้านการบริการจัดการ เกษตรบ้านเราแข่งทำเกษตรแบบสหรัฐฯ ไม่ได้ ด้วยความเป็นการเกษตรแบบ 3 ไร่ 5 ไร่ 10 ไร่ แต่สหรัฐฯ ทำได้เป็นหมื่นไร่ คนๆ เดียวบริหารจัดการพื้นที่ได้เป็นหมื่นๆ ไร่ แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้"

ตามแนวคิดของ ดร.ศุภชัยมองว่า ประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยอธิบายแนวทางานทำงานของ สนช.ซึ่งวางเป็นระยะ 15 ปีว่าในช่วง 5 ปีแรกสำนักงานเน้นผลักดันและสนับสนุนโครงการมากๆ จากนั้นอีก 5 ปีต่อไปคือการสร้างระบบ

จากนั้น 5 ปีสุดท้าย คือลดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการตอบโจทย์การเกษตรให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านหรือ Agri-solution provider

"การดำเนินงานที่ผ่านมา 4 ปี เราได้สนับสนุนโครงการไป 300-400 นวัตกรรม ตอนนี้เรามองเห็นแล้วว่าอะไรคือจุดแข็งของเรา ณ วันนี้เรามีความพร้อมเรื่องการเกษตร โครงสร้างการศึกษา (การเกษตร) เรามีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ"

"ต่อไปในอนาคตเกษตรกรที่ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลังต้องให้ลูกหลานเรียนด้านการเกษตรแบบสูง เป็นการจัดการธุรกิจเกษตรมากขึ้น และไม่ต้องปลูกเองแต่ให้เพื่อนบ้านทำแทน" ดร.ศุภชัยเสนอความเห็น

พร้อมกันนี้ผู้อำนวยการ สนช. ยังระบุด้วยว่าแนวคิดที่นวัตกรรมต้องอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลักนั้นเป็นแนวคิดเก่า สิ่งสำคัญของนวัตกรรมคือการบริหารจัดการ พร้อมทั้งยกตัวอย่างธุรกิจกาแฟ "สตาร์บัคส์" (Starbucks) ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งนั้นก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรมาก.

กำลังโหลดความคิดเห็น