xs
xsm
sm
md
lg

ทำได้แล้ว! สเต็มเซลล์มนุษย์แบบไม่ทำลายตัวอ่อน หลีกปัญหา "จริยธรรม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเชื่อมั่นในศักยภาพของสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในการเจริญไปเป็นเซลล์ต่างๆ และหวังใช้รักษาโรคในอนาคต แต่ก็มีกระแสโจมตีอย่างมากว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรม เพราะต้องทำลายตัวอ่อน ทำให้เดี๋ยวนี้นักวิจัยพยายามหาวิธีสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้โดยไม่ทำลายตัวอ่อน (ภาพจากแฟ้ม)
ก่อนนี้กว่าจะได้สเต็มเซลล์ตัวอ่อน นักวิจัยต้องทำลายตัวอ่อนไปไม่น้อย แต่เดี๋ยวนี้มีหลายวิธี ที่ทำให้ได้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าทำผิดจริยธรรม ล่าสุดนักวิจัยเบลเยียมสร้างสเต็มเซลล์ได้จากตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ ซึ่งอายุน้อยสุดเท่าที่เคยทำมาโดยไม่ต้องฆ่าตัวอ่อนทิ้ง และยังอาจเบิกทางใหม่ในการคัดเลือกตัวอ่อนก่อนฝังกลับเข้ามดลูกอีกด้วย

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิสระแห่งบรัสเซล (Vrije Universiteit Brussel: VUB) กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประสบความสำเร็จในการสร้างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ได้โดยไม่ทำลายตัวอ่อน ซึ่งเปิดเผยในระหว่างการประชุมประจำปี ยูโรเปียน โซไซตี ออฟ ฮิวแมน รีโปรดักชัน แอนด์ เอมบริโอโลจี (European Society of Human Reproduction and Embryology) ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 51 ที่กรุงบาเซโลนา ประเทศสเปน

ทั้งนี้ ไซน์เดลีรายงานว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในนอนาคต ได้โดยที่ไม่ต้องทำลายตัวอ่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในเรื่องจริยธรรม

ดร.ไฮล์ดี แวน เดอ เวลด์ (Dr. Hilde Van de Velde) หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ สามารถเก็บเอาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ในระยะ 8 เซลล์ได้แล้ว ซึ่งต้องนำมาเซลล์มาเพาะเลี้ยงต่อพร้อมกับสร้างเซลล์ไลน์ของสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนนี้ต่อไป แต่ล่าสุดทีมวิจัยของเขาก็สามารถสร้างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์ได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรก

นักวิจัยสร้างตัวอ่อนด้วยกระบวนการแบบเดียวกับที่ใช้ทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งได้รับบริจาคไข่และอสุจิ มาจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่มาเข้ารับการรักษากรณีมีบุตรยากที่ศูนย์ไอวีเอฟ (IVF Center) ของทางมหาวิทยาลัย

จากนั้นทีมวิจัยคัดเลือกตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ ที่ดีที่สุดจำนวน 3 ตัวอ่อน นำมาแยกแต่ละเซลล์ออกจากกันได้เป็น 12 เซลล์ แล้วเพาะเลี้ยงเซลล์ของตัวอ่อนแต่ละเซลล์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนตามปกติ จนกระทั่งสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนทั้ง 12 เซลล์ เจริญเป็นตัวอ่อนระยะมอรูลา (morula) ซึ่งในจำนวนตัวอ่อนทั้ง 12 ตัวอ่อนนี้ มี 1 ตัวอ่อนที่สามารถเป็นเซลล์ไลน์ที่เสถียรในการเก็บเอาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนได้

"ขณะนี้เรากำลังพยายามทำให้ได้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนครบทั้ง 4 เซลล์ไลน์ที่มาจากตัวอ่อนเดียวกันในตอนแรก เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพของสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่ได้จาก 4 เซลล์ไลน์ที่มาจาก 1 ตัวอ่อน" หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

งานวิจัยนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธินอกมดลูก เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก่อนที่จะนำกลับเข้าไปฝังในมดลูก หรือพีจีดี (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) ซึ่งเฮลธ์เดย์นิวส์รายงานว่าในปัจจุบันแพทย์จะตรวจโดยดึงเอาเซลล์ 1-2 เซลล์ จากตัวอ่อนในระยะ 8 เซลล์ ออกมาวินิจฉัย

ทว่าจากความสำเร็จในการสร้างเสต็มเซลล์จากตัวอ่อนในระยะ 4 เซลล์ ดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่า ต่อไปแพทย์จะสามารถดึงเอาเซลล์ 1 เซลล์ ออกมาจากตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ มาวินิจฉัยได้ โดยที่ 3 เซลล์ที่เหลือยังสามารถเจริญเป็นตัวอ่อนในระยะต่อไป และนำกลับไปฝังในมดลูกได้ตามปกติ

หากการวินิจฉัยพันธุกรรมในตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ มีศักยภาพมากกว่า นักวิทยาศาสตร์คงต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทาง การทำพีจีดีเพื่อวิเคราะห์พันธุกรรมตัวอ่อน  รวมถึงการคัดเลือกตัวอ่อน ที่มีลักษณะเนื้อเยื่อของเม็ดเลือดขาว (human leukocyte antigen (HLA) typing) ที่เข้ากันกับของพี่ที่อาจป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อว่าจะได้ใช้สเต็มเซลล์จากน้องรักษาโรคให้แก่พี่ได้

อย่างไรก็ตาม เป็นครั้งแรกของการประชุมวิชาการนี้ ที่เปิดระบบออนไลน์ให้บุคคลทั่วโลก สามารถตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เพื่อประเมินความคิดเห็นของสาธารณชนต่อเรื่องดังกล่าวประกอบการศึกษาวิจัย

ทั้งนี้ มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อข้อความที่ว่า "ฉันเชื่อว่าการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ในงานวิจัยเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม" และ "ฉันเชื่อว่าการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในทางการแพทย์ เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม" ทั้งสิ้น 573 คน ซึ่งมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว คิดเป็น 78.3% แบ่งเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 47.1% และไม่เห็นด้วย 31.2% ส่วนที่เหลือคือเห็นด้วย และไม่แสดงความเห็น.
กำลังโหลดความคิดเห็น