xs
xsm
sm
md
lg

ชิเซโด้-ไบโอเทคจดสิทธิบัตรใช้พืชไทย 6 ชนิดในเครื่องสำอาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมผู้บริหารของไบโอเทคและบริษัท ชิเซโด้ จำกัด ถ่ายภาพร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวการยื่นจดสิทธิบัตรงานวิจัยร่วมของทั้ง 2 องค์กร ในการค้นหาสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์สำหรับใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง (ภาพจาก ไบโอเทค)
ไบโอเทคร่วมกับบริษัทเครื่องสำอางชื่อดังของญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรการใช้ประโยชน์จากพืช 6 ชนิด ในการนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง หลังร่วมวิจัยพบสารสกัดที่มีฤทธิ์ทำให้หน้าขาว เรียบเนียน ไร้ริ้วรอย ผอ.ไบโอเทคยันสิทธิบัตรนี้ไม่กีดกันชุมชนท้องถิ่น หากใช้ประโยชน์จากพืชชนิดเดียวกัน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลนีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัท ชิเซโด้ จำกัด วิจัยค้นหาสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ซึ่งพบแล้วในพืช 6 ชนิด พร้อมกับยื่นจดสิทธิบัตรการนำไปใช้ประโยชน์ และสูตรตำรับในการผลิตเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งได้จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2551 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งมีสื่อมวลชนรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าร่วมงาน

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่าไบโอเทคและชิเซโด้ได้ร่วมกันตั้งแต่ปี 2547 ในการทำวิจัยค้นหาสารสกัดจากพืชเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง โดยมีผลวิจัยรองรับ รวมทั้งศึกษาความเป็นพิษต่อผู้ใช้ด้วย เริ่มแรกของโครงการวิจัยได้มีการรวบรวมข้อมูลพืชที่มีการตีพิมพ์แล้วทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จากนั้นคัดเลือกพืชที่จะนำมาศึกษา โดยเน้นพืชที่ยังไม่ค่อยมีงานวิจัยหรือไม่เคยมีการตีพิมพ์มาก่อน เพื่อให้เป็นงานวิจัยใหม่ที่สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้

"คณะนักวิจัยปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD), พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) อย่างเคร่งครัด ในการนำพืชต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องสำอางที่ใช้กับผิวหนังภายนอก และต้องการให้เป็นตัวอย่างการทำงานวิจัยร่วมกัน และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเปิดเผย" ดร.กัญญวิมว์ กล่าว

ด้านนายเคน คุซาคาริ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มพัฒนาส่วนผสมในเครื่องสำอาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผิว บริษัท ชิเซโด้ จำกัด เปิดเผยว่า นักวิจัยพบสารสกัดจากพืชที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จากพืชทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้ต้นหรือข่าต้น (Cinnamomum ilicioides), ชำมะเลียง (Lepisanthes fruticosa), กันเกรา (Fagraea fragrans), ประดู่บ้าน (Pterocarpus indicus), กระชายป่า (Boesenbergia regalis) และกฤษณา (Aquilaria crassna) ซึ่งส่วนใหญ่มีฤทธิ์ให้ความขาว ชะลอวัย และช่วยให้ผิวเรียบเนียน

พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลการวิจัยบางประเภท เช่น ผลของสารสกัดที่มีฤทธิ์ให้ความขาว นักวิจัยได้ทำการทดสอบโดยเติมสารสกัดยับยั้งการสร้างเม็ดสีจากพืชลงในอาหารเพาะเลี้ยงเซลล์ และเพราะเลี้ยงเซลล์สร้างเม็ดสี พบว่าสีของเซลล์ที่เลี้ยงในอาหารที่มีสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีจะไม่เป็นสีคล้ำเหมือนกับเซลล์ที่ไม่ได้รับสารยับยั้งการสร้างเม็ดสี

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะนำสารสกัดมาใช้เป็นส่วนผสมและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้เมื่อไหร่ เนื่องจากยังต้องค้นหาสารที่ออกฤทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในสารสกัดจากพืช พัฒนาวิธีการสกัดสารให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด การทดสอบความคงตัวและความเสถียร พัฒนาสูตรตำรับในการผลิตเป็นเครื่องสำอาง ตลอดจนทดสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษของผลิตในคน

ดร.กัญญวิมว์ ยืนยันว่า การยื่นจดสิทธิบัตรในครั้งนี้จะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมระดับชุมชนของไทยที่มีการใช้ประโยชน์จากพื้ชทั้ง 6 ชนิด ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งไบโอเทคและชิเซโด้ได้ทำข้อตกลงว่าสิทธิบัตรนี้จะไม่ปิดกั้นและกีดกันการใช้พืชดังกล่าวโดยชุมชนท้องถิ่นของไทย ซึ่งได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น และนับเป็นการยื่นขอจดสิทธิบัตรร่วมกับเอกชนจากต่างชาติเป็นครั้งแรกของไบโอเทค ส่วนผลประโยชน์ที่เกิดจากสิทธิบัตรร่วมนี้ทาง สวทช. และชิเซโด้จะได้รับผลประโยชน์กันคนละครึ่ง

"สิ่งสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการทำวิจัยร่วมกันในโครงการนี้คือได้เรียนรู้การทำงานจากภาคเอกชน ซึ่งทำงานพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมีเป้าหมายอย่างชัดเจน ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และก่อให้เกิดการลงทุนวิจัยของต่างชาติในประเทศไทย" ดร.กัญญวิมว์ กล่าว ซึ่งขณะนี้บริษัทชิเซโด้ได้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยชิเซโด้ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยแล้วในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเมื่อปี 2549

ดร.ธนิต ชังถาวร ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเทคโนโลยีชีวภาพของไบโอเทค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การขอยื่นจดสิทธิบัตรในครั้งนี้เป็นการจดสิทธิบัตรประเภทของการใช้ประโยชน์จากสารสกัดจากพืช และสูตรตำหรับในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรอื่นจะไม่สามารถนำสารสกัดจากพืชชนิดเดียวกัน ไปใช้ประโยชน์อย่างเดียวในเชิงการค้าได้อีก เว้นแต่เป็นอุตสาหกรรมระดับชุมชนท้องถิ่น, โอท็อป และเอสเอ็มอี (SMEs) หรือนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นที่ไม่เหมือนในสิทธิบัตร ส่วนตัวสารสกัดจากพืชนั้นไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นสารที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร (ซ้าย) และดร.ธนิต ชังถาวร
ทีมผู้บริหารของบริษัท ชิเซโด้ จำกัด ที่มาร่วมแถลงข่าวการยื่นจดสิทธิบัตรงานวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทคและชิเซโด้ ซึ่งจดสิทธิบัตรการใช้ประโยชน์สารสกัดจากพืช 6 ชนิด เพื่อเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง
นายเคน คุซาคาริ
ตะไคร้ต้นหรือข่าต้น ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นใบเดี่ยว มีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไบโอเทคและชิเซโด้วิจัยร่วมกันพบว่าสารสกัดจากตะไคร้ต้นมีฤทธิ์ให้ความขาว ชะลอวัย และช่วยให้ผิวเรียบเนียน (ภาพจากไบโอเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น