ผละจากวงสัมมนาในห้องแอร์ ที่พูดถึงพิษภัยของ "โลกร้อน" กันมากมายหลายวาระ เปลี่ยนบรรยากาศสู่ชายฝั่งทะเล อันเป็นแหล่งอ้างถึงผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน ทั้งแนวชายหาดที่กำลังหายไป ปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยลง รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น ชาวประมงท้องถิ่นรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ก่อนคำว่า "โลกร้อน" จะไปถึงหูพวกเขาเสียอีก
องค์กรนานาชาติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ประเทศไทย (WWF Thailand) และศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศึกษาวิจัยผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจ และชุมชนชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ซึ่งใช้จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบ ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.51 และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอนาคตต่อทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจ และชุมชนชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่" เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมีตัวแทนชาวบ้านและกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบมาร่วมประชุมกันมากมาย
คาดการณ์อนาคตกระบี่อีก 25 ปีข้างหน้าฝนตกน้อย-ขาดแคลนน้ำ
จากการศึกษาสภาพภูมิอากาศของจังหวัดกระบี่ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.อานานท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ฯ เพื่อคำนวณสภาพการณ์ในอนาคตอีก 10 และ 25 ปีข้างหน้า โดยใช้แบบจำลองโปรแกรมพรีซิส (PRECIS) พบว่าจังหวัดกระบี่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำจืด เนื่องจากจำนวนวันที่ฝนตกน้อยลงทั่วทั้งจังหวัด ปริมาณน้ำฝนก็ลดน้อยลง
ดร.อานนท์ เผยข้อมูลว่าปัจจุบันในจังหวัดกระบี่มีปริมาณน้ำฝนบริเวณชายฝั่งประมาณ 1,500-2,000 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนพื้นที่ตอนในแผ่นดินมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 3,000 มิลลิเมตรต่อปี แต่ในอนาคตอีก 10 และ 25 ปี ข้างหน้า ปริมาณน้ำฝนรวมทุกพื้นที่ของจังหวัดกระบี่จะลดลง 10-20% ส่วนจำนวนวันฝนตกจะลดลงเล็กน้อยสำหรับพื้นที่ชายฝั่ง แต่สำหรับพื้นที่ตอนในแผ่นดินจะลดลง 20-30 วัน หรืออีกนัยหนึ่งคือฤดูฝนจะสิ้นสุดเร็วขึ้น 1-3 สัปดาห์
ส่วนจำนวนการเกิดพายุก็ลดลงเช่นกัน โดยช่วง 60 ปีที่ผ่านมาพายุดีเปรสชันลดลงจาก 11 ลูกต่อ 30 ปี เหลือ 3 ลูกต่อ 30 ปี พายุโซนร้อนและไต้ฝุ่น ลดลง 4 ลูก เหลือ 1 ลูกต่อ 30 ปี อีกทั้งคาดอีกว่าในอนาคต พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อนและไต้ฝุ่น จะลดน้อยลงเหลือเพียง 1 และน้อยกว่า 0.5 ลูกต่อ 30 ปี
ทั้งนี้ จากปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งจังหวัดกระบี่สูงขึ้นราว 10 เซนติเมตรในอีก 25 ปีข้างหน้า จึงทำให้น้ำเค็มรุกล้ำชายฝั่งมากขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลง จะส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นขาดแคลนน้ำจืด ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตหากไม่เร่งหาทางป้องกันและแก้ไข
นายคอลิน แมคควิสตัน ผอ.ส่วนงานอนุรักษ์ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ประเทศไทย เผยว่าที่เลือกจังหวัดกระบี่เป็นตัวอย่างในการศึกษาวิจัยเพราะว่าเป็นเมืองที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งยังมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกไกลโดยเฉพาะอย่างหลังสุด เพราะในอนาคตฤดูฝนจะสั้นลง ทำให้ฤดูท่องเที่ยวยาวนานขึ้น
แต่ข้อเสียของปัญหาดังกล่าวคือ ปริมาณน้ำจืดลดลง ดังนั้นจึงต้องแก้เรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทว่าปัญหาของชาวบ้านส่วนมากในตอนนี้ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงต้องใช้เวลาสำหรับให้ชุมชนทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าวด้วย
หลังจากนั้นผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าประชุมส่วนหนึ่ง ทำให้ทราบว่าชาวบ้านจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่
นายสมศักดิ์ คงรอด ชาวสวนยางพาราจากบ้านท่าคลอง ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ บอกเล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า ตัวเขารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะรู้จักภาวะโลกร้อนเมื่อไม่นานมานี้เองจากการติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์
"ตอนเด็กๆ ตื่นเช้าขึ้นมาชาวบ้านมักนั่งผิงไฟให้อบอุ่น เพราะอากาศค่อนข้างเย็น แต่เมื่อโตขึ้น อายุมากขึ้น รู้สึกว่าเราห่างจากกองไฟมากขึ้น เพราะอากาศร้อนขึ้นมากในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนจากเดิมที่เคยเย็นสบายตั้งแต่หัวค่ำ พอมาเดี๋ยวนี้กว่าจะเย็นก็ต้องรอจนถึงดึกมาก หรือเกือบถึงเช้า ป่าไม้ต้นน้ำที่เคยมีก็ลดน้อยลง" นายสมศักดิ์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขารู้สึกได้ ก่อนที่จะรู้จักคำว่า "โลกร้อน" เสียอีก
เร่งปลูกปาล์มทำป่าไม้หดหาย
"เมื่อป่าไม้ลดลง ความชุ่มชื้นก็หดหาย ฝนตกน้อย เมื่อน้ำน้อยลงก็ส่งผลต่อการเกษตร และการเพาะพันธุ์กล้าไม้ต่างๆ น้ำน้อย ต้นกล้าก็โตช้า ให้ผลผลิตช้าตามไปด้วย" นายสมศักดิ์เล่าให้ฟัง ในฐานะตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรและพื้นที่ป่าเขา
เขายังบอกอีกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ทั้งปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ เกษตรกรจะเลือกช่องทางที่ทำรายได้ มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลระยะยาว เมื่อปาล์มน้ำมันกลายเป็นพืชพลังงานที่กำลังมาแรง เกษตรกรก็ระดมปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าหลายแห่งถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นสวนปาล์ม
สมศักดิ์บอกอีกว่า เมื่อป่าลดลง น้ำจืดที่ไหลลงทะเลก็ไหลแรงมากขึ้น โอกาสเกิดการชะล้างของหน้าดินก็เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการรุกล้ำของน้ำทะเลริมชายฝั่ง ส่งผลให้ป่าโกงกางเสียหายในหลายพื้นที่ ซึ่งจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยป่าโกงกางเป็นที่อยู่หรือแหล่งเพาะพันธุ์
"ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะข้อมูลยังน้อย สื่อหรือนักวิชาการที่เข้าถึงชาวบ้านก็ยังมีไม่มาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชน ทั้งเรื่องของภาวะโลกร้อน และการปลูกป่าเศรษฐกิจร่วมกับป่าไม้ยืนต้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้นักศึกษาหรือนักวิชาการ เข้ามาลงพื้นที่ทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น ชาวบ้านจะได้รับข้อมูลมากขึ้น ส่วนนักวิชาการก็จะได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง" นายสมศักดิ์บ่งบอกสิ่งที่เขาคาดหวัง
"เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีหน่วยงานราชการในจังหวัดจัดงานรณรงค์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและให้ความรู้แก่ชาวบ้านอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีหน่วยงานไหนดำเนินการอย่างจริงจัง หรือมีนโยบายแก้ปัญหาที่ชัดเจน เหมือนกับดูโฆษณาหวือหวาคั่นรายการละครน้ำเน่าเท่านั้นเอง" นายสมศักดิ์กล่าว
โลกร้อน น้ำเปลี่ยนสี อุณหภูมิไม่คงที่ สิ่งมีชีวิตในทะเลเสื่อมโทรม
ขณะที่ข้อมูลจากนายอาหลี ชาญน้ำ ประธานเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่ ที่บอกเล่ากับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในฐานะตัวแทนของกลุ่มชุมชนชายฝั่งจ.กระบี่ก็ไม่ต่างจากนายสมศักดิ์เท่าใดนัก อาหลีเล่าว่า ชุมชนชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ประสบกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว ทว่าไม่รู้ว่าเพราะอะไร และช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสี อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น ซึ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างแน่นอน
"น้ำทะเลเปลี่ยนสี อุณหภูมิคงที่ แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ตั้งแต่ปะการังเสื่อมโทรม สัตว์น้ำขาดแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ผลที่ตามมาคือมีจำนวนลดลง ชาวประมงก็จับปลาได้น้อยลง ทั้งยังต้องเจอกับปัญหาน้ำมันแพงอีก" นายอาหลีเล่าและบอกว่าตอนนี้ชาวบ้านเริ่มรู้กันแล้วว่าปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัวที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
"ตอนนี้พวกชาวบ้านก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติกันมากขึ้น โดยรวมกลุ่มกัน จัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งพัฒนามาจากโครงการชาร์ม (CHARM Project) ที่เกิดจาการรวมตัวในระดับชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ก็จะมีหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารให้ชาวชุมชน และจัดประชุมร่วมกันวิเคราห์ปัญหาและวางแนวทางแก้ไขเป็นประจำทุกเดือนในชุมชนชายฝั่งบริเวณต่างๆ ของจังหวัดกระบี่" นายอาหลีกล่าวถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนชายฝั่ง
ทัศนียภาพหดหาย นักท่องเที่ยวหมดความพึงใจ
ด้านนายอมฤต ศิริพรจุฑากุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เผยว่าการเติบโตของชุมชนและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ และเมื่อมีปัญหาภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ก็ยิ่งเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
"ทรัพยากรใต้ทะเลถือเป็นจุดขายด้านท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบกับปะการังใต้ทะเลแน่นอน เมื่อปะการังเสื่อมโทรมก็กระทบกับสัตว์น้ำและอาหารทะเล และจากการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเยือนจังหวัดกระบี่ พบว่าความพึงพอใจลดลง จากในปี 2549 ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.4% แต่ในปี 2550 ลดลงเหลือเพียง 4.7% เท่านั้น" นายอมฤต เล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในด้านการท่องเที่ยว
นายอมฤตยังบอกต่อไปอีกว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจปัญหาโลกร้อนและปฏิบัติมานานกว่าเรา ในขณะที่เรายังไม่รักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเมืองเรา เมื่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวลดลง ก็ต้องหาตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อยู่เสมอ เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมไม่อยากกลับมาอีกแล้ว
แต่หากเรารักษานักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมเอาไว้ได้ ก็จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาเองจากคำบอกเล่าของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำแผนการตลาด ซึ่งขณะนี้กลุ่มหลักที่เข้ามาเที่ยวจังหวัดกระบี่ส่วนใหญ่มาจากสแกนดิเนเวีย กลุ่มนี้เป็นพวกที่รักษ์สิ่งแวดล้อมและเคารพสถานที่มาก
อย่างไรก็ดี นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่เผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ปีที่ผ่านมาจึงเริ่มศึกษาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมกับเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้กับสมาชิกในสมาคม, ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ตลอดจนหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะชาวบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ได้แยกส่วนกันอย่างที่เข้าใจกันมาแต่เดิม หากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ก็ย่อมส่งผลถึงชาวบ้านด้วยเช่นกัน
"ขณะนี้ทางสมาคมได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย ที่แต่ก่อนจะบำบัดน้ำเสียแล้วปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล แต่เดี๋ยวนี้สมาคมก็มีนโยบายให้บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่ไม่ต้องมีน้ำเสียส่วนใดถูกปล่อยลงสู่ทะเลเลย ซึ่งก็มีบางส่วนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่ส่วนใหญ่ก็ยังเพิกเฉยอยู่ แต่ทางสมาคมก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเขาไม่ได้ทำผิดกฏหมาย จึงอยากให้ทางจังหวัดมียุทธศาสตร์ที่แน่นอนในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว" นายอมฤตสรุป.