xs
xsm
sm
md
lg

เจ้ากรมอุทกศาสตร์ยัน ส.ค.-ธ.ค.มีโอกาสเกิด Storm Surge แต่ไม่รุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ระบุ ช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.นี้ โอกาสเกิดพายุขนาดใหญ่พัดเข้าไทยไม่รุนแรง แต่ไม่ยืนยัน 100% เพราะมีปัจจัยหลายอย่างทั้งปรากฏการณ์ลานีญา ภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้อง ด้าน “อภิรักษ์” ไม่ประมาทเตรียมพร้อมรับมือ 3 น้ำ มาเจอกัน

เมื่อเวลา 13.30 น.ที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหารสำนักการะบายน้ำ (สนน.) ได้ร่วมประชุมหารือและเข้าฟังบรรยายสรุปโอกาสที่จะเกิดและเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นขนาดใหญ่จากอ่าวไทย พัดเข้า กทม.และสร้างความเสียหายต่อ กทม.โดยเฉพาะระบบการผลิตน้ำประปา ตามที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมีการคาดการณ์ว่า ลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค-ต.ค.นี้

ทั้งนี้ จากการบรรยายสรุปของ นาวาเอก ไชยวุฒิ นาวิกาญจนะ ผอ.กองอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาของสถานีน้ำ กองบัญชาการกองทัพเรือ พบว่า เดือน ส.ค.-พ.ย.ของทุกปีเป็นช่วงฤดูฝน มีน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าปกติ อันเนื่องมาจากพายุดีเปรสชันผ่านประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงทำให้มีฝนตกต่อเนื่องกันเกือบทุกภาค ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณมากเมื่อรวมกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนและน้ำทะเลที่ขึ้นสูง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมล้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2549 การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความลำบาก ขณะเดียวกันจากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลพบว่าในเดือน พ.ย.นี้จะมีน้ำทะเลสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 1.22 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนเดือน ส.ค.-ต.ค.และ ธ.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 1.19 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ผอ.กองอุตุฯ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะน้ำเอ่อล้นฝั่งและคลื่นซัดฝั่งเนื่องจากพายุ หรือ Storm Surge นั้น ซึ่งจะมีลักษณะลมแรงจากพายุ คลื่นสูง ระดับผิวหน้าน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้นจากปกติ หรือสูงกว่าเดิมประมาณ 10-15 เมตร ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าสู่อ่าวไทย ทั้งนี้ กรมฯ ได้วิเคราะห์โอกาสตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา 57 ปีที่แล้ว พบว่า ในเดือน ต.ค.มีพายุหมุนเกิดขึ้น 1 ลูก ในปี 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียต ส่วนเดือน พ.ย. เกิดขึ้น 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อน Ruth เมื่อปี 2513 ไต้ฝุ่น gay เมื่อปี 2532 สร้างความเสียหายรุนแรง พายุโซนร้อน Forrest เมื่อปี 2535 พายุ Linda เมื่อปี 2540 ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรง น้ำทะเลสูงกว่าปากแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 30-40 ซม.และ พายุ Muifa เมื่อปี 2549 ส่วนเดือน ธ.ค.เกิดขึ้น 1 ลูก คือ พายุไต้ฝุ่น Sally เมื่อปี 2515

ด้านพลเรือโทคงวัฒน์ นีละศรี เจ้ากรมอุทกศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิด Storm Surge ในช่วงปลายปีนี้ ตนมั่นใจว่า ไม่น่าจะมีความรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ 100% เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และยังมีสภาวะเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเป็นปัจจัยประกอบด้วย ทั้งปรากฏการณ์ลานีญา ภาวะโลกร้อน ดังนั้น อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ เห็นได้จากปัญหาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฝนตกนอกฤดูกาลเพิ่มมากขึ้น เราจึงต้องทำใจไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเตรียมการรับมือ เชื่อว่า สามารถพยากรณ์แจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดกรณีดังกล่าว เนื่องจากการเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ กว่าจะก่อตัวเป็นดีเปรสชั่น หรือพายุโซนร้อน จะต้องใช้เวลาก่อตัวประมาณ 4-6 วัน ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้าหลายวัน

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ คาดว่า ไม่น่าจะมีความรุนแรง แต่ยังไงก็ตามไม่ควรประมาท เพราะภัยทางธรรมชาติอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอด ทั้งนี้ กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม นอกจากนี้ยังได้ทำแบบจำลองพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบมากก็จะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ขณะเดียวกัน กทม.ได้เตรียมความพร้อมมาโดยตลอด แต่ก็ต้องหาทางป้องกันเหตุที่จะเกิดความรุนแรงในการที่ 3 น้ำ จะมาเจอกัน ได้แก่ น้ำทะเลหนุน น้ำเหนือหลาก และน้ำฝน อย่างไรก็ตาม ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยมี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)เป็นหน่วยงานหลักเพื่อประชุมเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือในช่วงฤดูฝน

จากนั้นเวลา 15.30 น.นายอภิรักษ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังสำนักงานการประปานครหลวง(กปน.) สำนักงานใหญ่ บางเขน และได้หารือกับ นายบัณฑูร ชื่นกุล รองผู้ว่าฯกปน.เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หากเกิดคลื่นขนาดใหญ่พัดเข้า กทม.โดย นายบัณฑูร กล่าวว่า จุดรับน้ำดิบของ กปน.มีสถานีจ่ายน้ำสำแล ต.บ้านกระแทง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ด้านตะวันออก ห่างจากปาวอ่าวไทยประมาณ 56 กิโลเมตร ซึ่งมั่นใจว่าน้ำทะเลจะมาไม่ถึงกทม.อย่างแน่นอน ส่วนด้านตะวันตก มีจุดรับน้ำที่ กปน.ขุดขึ้นใหม่ จากเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีระยะทาง 106 กิโลเมตร มายังโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ จ.นนทบุรี ซึ่งคลองมีระดับความสูง 25 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงไม่น่ากระทบมากนัก ทั้งนี้ กปน.ได้ทำเขื่อนแนวป้องกันสูง 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งหากเกิด Storm Surge น้ำไม่น่าจะเข้ามาถึงได้ นอกจากนี้ น้ำดิบที่ กปน.นำมาทำน้ำประปา ส่วนใหญ่ก็มาจากทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นน้ำจืด ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีน้ำเค็มปนเปื้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น