xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เบาใจ Storm Surge โอกาสแค่ 1% ห่วงใต้เสี่ยงเจอพายุ ต.ค.-ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอุตุฯ-กรมชล มั่นใจสถานการณ์น้ำไม่วิกฤต ขณะที่โอกาสเกิด Storm Surge เหลือแค่ 1% แต่ห่วงประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ฯ เสี่ยงเจอพายุช่วง ต.ค.-ธ.ค.นี้

วันนี้ (20 ส.ค.) ที่สำนักงาน กปร.มีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 2/2551 โดยมีนายจริย์ ตุลยานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร.เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นต้น ร่วมประชุม

นายพีระ วงสมุทร อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำทั่วประเทศในขณะนี้ ว่า ระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในสภาพที่สามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้าได้ทำการพร่องน้ำในเขื่อนต่างๆ ไว้รองรับช่วงหน้าน้ำ โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรองรับน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา สามารถรับปริมาณน้ำรวมกันได้อีก 9,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 66% เหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 34% ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลาง ส่วนปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง มีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดูแล ซึ่งจะศึกษาข้อมูลว่าส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคกลางหรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมการรับมือในช่วงฤดูฝน โดยประสานข้อมูลทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

ด้านนายสมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศในปี 2551 สูงกว่าปริมาณน้ำฝนในคาบ 30 ปี โดยเฉพาะในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และภาคใต้ มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปีที่แล้ว ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุกในพื้นที่ดังกล่าว แต่จะไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และเวียดนาม เป็นแนวกั้น ซึ่งอาจทำให้พายุลดระดับความรุนแรงเหลือเพียงดีเปรสชัน

ส่วนกรณีคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม ทางกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนพายุโซนร้อน และพายุไต้ผุ่น ความแรงมากกว่า 118 กิโลเมตรขึ้นไป ทั้งนี้ จากแบบจำลองคลื่นพายุซัดฝั่งหากเกิดขึ้นจะกินบริเวณไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ของ กทม.และอ่าวสมุทรปราการเป็นพื้นที่แคบ อีกทั้งจากสถิติพายุเข้าโดยตรงในพื้นที่ กทม.ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย โอกาสเกิดขึ้นเพียง 1% เท่านั้น และหากจะเกิดก็จะเกิดในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ในจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค.-ต้น ธ.ค.แต่ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีความรุนแรงถึงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน หรือพายุไต้ฝุ่น และเข้าทิศทางใด
 
อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ขอให้ตื่นตัวได้ ซึ่งหากมีพายุเกิดขึ้นจริง กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน เพราะพายุก่อตัวขึ้นบนพื้นโลก ระบบเตือนภัยสามารถตรวจจับได้แตกต่างจากการเกิดสึนามิที่ก่อตัวใต้พื้นดินไม่สามารถตรวจพบได้ก่อน ดังนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นเพราะประเทศไทยมีระบบเตือนภัยที่ดีที่สุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในส่วนของกทม. มีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ประกอบกับช่วงนี้ไม่มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้ กทม.ไม่ได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น