xs
xsm
sm
md
lg

ความสงบ-น้ำสะอาด-ครีมกันแดดออยฟรี รับมือ "แก๊สน้ำตา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบรรยากาศ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.51 ซึ่งปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. และมีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมการสลายชุมนุมเป็นระยะ
ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดความไม่สงบ "แก๊สน้ำตา" อาจถือเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐ จะหยิบฉวยมาสลายกลุ่มคน ซึ่งวิธีรับมือกับแก๊สน้ำตานั้น ใช้แค่เพียง "ความสงบ" และ "น้ำสะอาด" ก็จะสามารถฝ่าฟันไปได้ ที่สำคัญในยามร่วมชุมนุม อ.หมอ มอ. แนะนำสาวๆ หากทาครีมกันแดดมาชุนนุม ให้แบบออยฟรี เพราะน้ำมันจะนำแก๊สน้ำตาเข้าสู่ใบหน้าได้ง่ายกว่า

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ให้ความรู้ 

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 ที่ผ่านมา และปัจจุบันยังคงปักหลักอยู่ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ก็ได้มีข่าวต่อเนื่องเรื่อยมาว่า มีการเตรียมการสลายการชุมนุม โดยวิธีการหลักที่สำคัญคือ "แก๊สน้ำตา" และ "การฉีดน้ำ"

ในการฉีดน้ำโดยใช้รถดับเพลิงนั้น ผลลัพธ์ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้ที่เป็นเป้าหมายในการสลาย ก็คือ "เปียก" ขณะที่อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ "แก๊สน้ำตา" ซึ่งจะผลให้ระคายเคือง แสบหน้าตา และระบบทางเดินหายใจ โดยระหว่างการชุมนุมได้มีการให้ข้อมูลและเตรียมรับมือตลอด

ทั้งนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สงขลา อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 30 พ.ค.51 พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับ "แก๊สน้ำตา"

นพ.เกรียงศักดิ์ ได้ให้ความรู้ผู้ชุมนุม ถึงการรับมือกับแก๊สน้ำตาว่า แก๊สน้ำตาไม่ถือเป็นอุปกรณ์ที่เน้นทำร้ายผู้คน แต่จะทำให้เกิดความสับสน เมื่อคนวิ่งหนีอลหม่าน จะทำให้ผู้คนชนกัน ซึ่งเป็นอันตรายกว่าฤทธิ์ของตัวแก๊สน้ำตาเอง ที่เป็นเพียงอนุภาคของกรดเล็กๆ เท่านั้น

"ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ อย่าตื่นตระหนก เพราะเมื่อตื่นตระหนก เลือดจะไหลเวียนไปยังผิวหนังมากขึ้น เมื่อผิวหนังสัมผัสกับแก๊สน้ำตาจะทำให้รู้สึกแสบ จึงควรอยู่อย่างสงบ"

"เมื่อมีการยิงแก๊สน้ำตาไปยังจุดใด ให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงนำถุงดำครอบ และมัดปากถุงเอาไว้ ไม่ควรปากลับไปเพราะอาจปาโดนพวกเดียวกันเอง อีกทั้งกระป๋องแก๊สน้ำตาจะค่อนข้างร้อน หากไม่ใช้ผู้มีความชำนาญอาจเป็นอันตรายได้"

"ข้อหนึ่งที่อยากแนะนำคือ อย่าตื่นตระหนกอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าตื่นตระหนก เวลาถูกแก๊สน้ำตา จะยิ่งเจ็บยิ่งแสบ หากเข้าตาห้ามขยี้เด็ดขาด ถ้าขยี้มันจะยิ่งเจ็บยิ่งแสบ ขอให้ใช้น้ำขวดที่มี ยิ่งถ้ายังไม่ได้กิน ให้รีบเอามาล้าง อย่าขยี้ยิ่งขยี้ยิ่งเจ็บ"

"หากเป็นผู้หญิงที่ทาครีมกันแดด ขออย่าให้ใช้ครีมที่มีน้ำมัน เพราะน้ำมันจะทำให้แก๊สน้ำตา ซึมเข้าไปในผิวหนังเรามากขึ้น ขอให้ใช้ครีมกันแดดแบบที่ใช้ละลายในน้ำ จะช่วยได้ดีกว่า
" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว โดยแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดแบบธรรมดา ดีกว่าชนิดกันน้ำ (waterproof) รวมทั้งใช้แบบออยฟรี (oil-free) จะช่วยให้ฤทธิ์ของก๊าสน้ำตารุนแรงน้อยกว่าแบบมีน้ำมัน

อีกทั้งระหว่างที่มีการใช้แก๊สน้ำตา หากผู้ที่ไม่ได้รับอันตรายจากแก๊สดังกล่าว นพ.เกรียงศักดิ์ แนะนำเพิ่มเติมว่า ควรเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาด้วย โดยการหาน้ำสะอาด เช่น น้ำดื่มชนิดขวดไปชำระล้าง บริเวณที่สำคัญที่สุดคือดวงตา

ทั้งนี้ จะต้องฉีดล้างเร็วๆ
ไม่ให้แก๊สน้ำลายละลายไปกับน้ำ ซึ่งจะทำให้เป็นกรดมากขึ้น เมื่อล้างแล้วก็จะทำให้สบายขึ้น หากเข้าจมูกก็สั่งทิ้งออกไป และหากเข้าปากก็ต้องรีบบ้วนทิ้งทันที

"หากทำได้อย่างนี้ แก๊สน้ำตาอย่างเก่งที่สุด มันจะมีฤทธิ์ไม่เกิน 45 นาที แค่ประมาณ 15 นาที" อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สรุป

นอกจากนี้ ผู้จัดการวิทยศาสตร์ได้ค้นข้อมูลจากเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งเสนอไว้ว่า แก๊สน้ำตา (tear gas) เป็นชื่อสามัญ ที่ใช้เรียกสารเคมีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

คำว่าแก๊สน้ำตา หมายถึง สารเคมีที่ใช้พ่นออกไปแล้วจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามน้ำตาไหล ปวดแสบ ตา จมูก น้ำมูกไหล แสบที่ผิวหนัง

ในการสลายกลุ่มผู้ชุมชนุม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มักใช้ภาชนะบรรจุแก๊สน้ำตา ที่อยู่ในรูปกระป๋อง กระบอกปีน หรือลูกระเบิดขนาดเล็ก มีทั้งแบบแก๊สและแบบผง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้พกพาง่าย แก๊สน้ำตาแบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ ได้แก่

1.คลอโรอะซิโทฟีโนน (Chloroacetophenone : CN) เป็นสารเคมีที่เป็นอนินทรีย์ ไม่ได้ผลิตจากสิ่งมีชีวิต มีอันตรายและผลข้างเคียงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ถูกใช้ครั้งแรกโดยสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว

2.ทู-คลอโรเบนเซลแมนโลโนไนไตรล ( 2  Chlorobenzalmalononltrile : CS) แก๊สชนิดนี้เป็นสารอนินทรีย์ ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเช่นกัน

3.ไดเบนโซซาซีพีน (Dibenzoxazepine : CR) ประเทศอังกฤษเป็นผู้ผลิต ใช้เพื่อปราบจราจล ปัจจุบันยังมีการใช้งานอยู่

และ 4.โอเลโอเรซิน แคปซิคัม สเปรย์ (Oleoresin capsicum spray : OC) หรือที่เรียกว่าสเปรย์พริกไทย เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ มีส่วนประกอบหลักคือสารแคปไซซิน (capsaicin) ที่มีอยู่ในพืชจำพวกพริก และพริกไทย ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการใช้สารสังเคราะห์แทน

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเตรียมพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมชุมนุม ควรจะต้องพกขวดน้ำติดตัว เพราะสามารถใช้ทั้งดื่ม หรือล้างแผล และชะล้างสารเคมีต่างๆ ได้ รวมทั้งผ้าขนหนูสะอาด เพื่อซับน้ำ รวมทั้งสติที่ระหว่างเกิดการปาหรือยิงแก๊สน้ำตา.
เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาฉีดสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อ 3 ปีก่อน (ภาพจาก www.britannica.com)






เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลัง รอบบริเวณที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม เมื่อวันที่ 30 พ.ค.51
เจ้าหน้าที่ล้อมยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงในสหรัฐฯ (ภาพจาก www.enquirer.com)
แก๊สน้ำตาในรูปของลูกระเบิดย่อมๆ (ภาพจาก www.inert-ord.net)
แก๊สน้ำตาชนิด ทู-คลอโรเบนเซลแมนโลโนไนไตรล ในรูปกระป๋อง ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว (ภาพจาก www.big-ordnance.com)
แก๊สน้ำตาแบบสเปรย์พริกไทย (ภาพจาก www.concordlock.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น