xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยโลก! เปลี่ยนขยะพิษจากคอมพ์ เป็นน้ำมันเติมรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอมพิวเตอร์เก่าๆ มากมายถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะกองโต ทั้งนี้ทีมวิจัยจากโรมาเนียได้คิดค้นวิธีแยกสารพิษออกจากแผงวงจรซึ่งจะทำให้รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอกนิกส์ได้ปลอดภัยขึ้น
ขณะที่ชีวิตก้าวกระโดดสู่ความทันสมัย ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ทุกวัน คอมพิวเตอร์เก่าๆ ทั่วโลกก็ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกขณะเช่นกัน แต่อย่างน้อยก็งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์โรมาเนียก็พอจะทำให้เรามีความหวังขึ้นมาได้ เมื่อพวกเขาสามารถเปลี่ยนขยะพิษจากคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นน้ำมันที่มีศักยภาพเติมรถยนต์ได้

ทั้งนี้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อันตรายกว่าขยะตามบ้านเรือนทั่วๆ ไปมาก เนื่องจากขยะไฮเทคเหล่านี้ประกอบขึ้นจากวัสดุมีพิษมากมาย อาทิ สารหนู ปรอท ตะกั่ว และสารหน่วงไฟ เป็นต้น

ทั้งนี้ตามรายงานของไลฟ์ไซน์ (Live Science) ระบุว่า เมื่อปี 2548 เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ก็ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 2.63 ล้านตัน แต่มีข่าวดีว่านักวิทยาศาสตร์ในโรมาเนียและตุรกี กำลังหาวิธีนำสารพิษออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพื่อให้นำไปรีไซเคิลได้อย่างปลอดภัย

คอร์เนเลีย วาซิเล (Cornelia Vasile) นักวิจัยจากสถาบันแห่งโรมาเนีย (Romanian Academy) และคณะได้เลือกแผงวงจรจากคอมพิวเตอร์ที่ถูกทิ้ง จากนั้นใช้การผสมตัวเร่งปฏิกิริยาพิเศษ อุณหภูมิสูงและการแยกทางเคมีเพื่อทำลายสารเติมแต่งเพื่อหน่วงไฟที่อยู่ในพลาสติกแผงวงจร

กระบวนการดังกล่าวสามารถแยกสารประกอบที่เป็นพิษออกมาได้เกือบทั้งหมดและได้ผลเป็นน้ำมันที่ปลอดภัยพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องอุปโภคในชีวิตประจำวันได้ โดยรายละเอียดของงานวิจัยจะรายงานในวารสารพลังงานและเชื้อเพลิง "เอเนอร์จี แอนด์ ฟิเอล" (Energy & Fuels) ฉบับที่ 21 พ.ค.นี้

"ถือเป็นงานที่มีประโยชน์" ความเห็นต่องานวิจัยของวิลเลียม ฮอลล์ (William Hall) วิศวกรเคมีจากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี (Coventry University) อังกฤษ ซึ่งไม่มีส่วนร่วมกับงานวิจัยของวาซิเล และระบุว่าการรีไซเคิลแผงวงจรจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลหะบางอย่างที่อยู่ในแผงวงจรเหล่านั้นจะเริ่มขาดแคลนมากขึ้น

ฮอลล์เสริมอีกว่าปัจจุบันการแยกชิ้ส่วนแผงวงจรสามารถทำได้ในโรงหลอม ซึ่งนวัตกรรมที่ทีมวาซิเลพัฒนาขึ้นมานั้นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความได้เปรียบโรงหลอมและมีความคุ้มค่าเชิงการค้า โดยประโยชน์ของเทคนิคใหม่นี้คือการนำโลหะที่อยู่ในแผงวงจรกลับมาคืน อีกทั้งยังสามารถนำสารเคมีอินทรีย์ที่มีค่ากลับมาใช้ใหม่ได้

"อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้คือการขยายขนาดกำลังการผลิต" ฮอลล์กล่าว.
ภาพจอคอมพิวเตอร์ที่ถูกเผาทำลาย (ภาพทั้งหมดจาก ago.mo.gov)
กำลังโหลดความคิดเห็น