ม.กรุงเทพต่อยอดมหาวิทยาลัยเขียว ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบไบโอดีเซลที่ร่วมมือกับเอ็มเทค โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ สวทช. อธิการบดีระบุไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งเข้าการไฟฟ้า ส่วนน้ำร้อนใช้ผลิตไบโอดีเซล หลังใช้ประหยัดค่าน้ำมันของมหาวิทยาลัยได้เดือนละ 30,000 บาท
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพีวีที (Photovoltaic Thermal: PV/T) ที่พัฒนาโดยสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องจักรผลิตไบโอดีเซลชุมชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งติดตั้งเพื่อทดลองและนำร่องใช้งานเมื่อเดือน ม.ค.51 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่าง สวทช.และมหาวิทยาลัยกรุงเทพเมื่อวันที่ 14 พ.ค.51 โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี
นายทิพย์จักร นวลบุญเรือง นักวิจัยสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งร่วมพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนหรือพีวีทีนี้ เผยว่าระบบดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 700 วัตต์ และมีระบบหมุนเวียนน้ำภายใต้แผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ซึ่งผลิตน้ำร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสได้วันละ 800 ลิตร
น้ำร้อนที่ได้นี้จะนำไปทดแทนน้ำร้อนที่ใช้ในกระบวนผลิตไบโอดีเซลในสัดส่วน 1:1 คือผลิตไบโอดีเซล 200 ลิตรต้องใช้น้ำร้อน 200 ลิตรเพื่อชะล้างน้ำมันในกระบวนการผลิต การทดแทนนี้จะช่วยลดพลังงานในการผลิตน้ำร้อนลงได้
"หลังจากติดตั้งแล้วก็จะเก็บข้อมูลแล้วขยายผลเพื่อออกแบบเครื่องให้ดีขึ้นตลอดระยะเวลาความร่วมมือจากนั้นจึงจะนำไปใช้กับโครงการไบโอดีเซลชุมชน แต่ระยะต่อไปจะพัฒนาให้เป็นระบบเดียวกับเครื่องจักรผลิตไบโอดีเซลเลย" นายทิพย์จักรกล่าว
อีกทั้งเขายังระบุว่าใช้เวลาวิจัยและพัฒนาระบบพีวีทีเป็นเวลา 4 ปี โดยมีผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิบัตรผลงานแล้ว 6 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี กองพันทหารสารวัตรที่ 11 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและรัฐสภา ส่วนมหาวิทยาลัยกรุงเทพคือผู้รับอนุญาตใช้สิทธิรายที่ 7
ทางด้าน ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยพัฒนาการเรียนทางด้านเทคโนโลยีแก่นักศึกษา นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดพลังงานภายในมหาวิทยาลัยได้
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการติดตั้งเครื่องผลิตไบโอดีเซลเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งจากความร่วมมือครั้งก่อนเห็นภาพรวมว่า สามารถประหยัดพลังงานภายในมหาวิทยาลัยจากการเติมไบโอดีเซลให้กับรถโดยสารของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งคำนวณคร่าวๆ สามารถประหยัดค่าน้ำมันไปได้เดือนละประมาณ 30,000 บาท
"สำหรับความร่วมมือครั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะต่อเข้ากับสายส่งของการไฟฟ้า ส่วนน้ำร้อนก็จะนำไปใช้กับกระบวนการผลิตไบโอดีเซล ทั้งนี้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นเพียงโครงการเล็กซึ่งเราจะประเมินก่อนว่าสเกลขนาดนี้สามารถประหยัดไปได้เท่าไหร่ จากนั้นจึงจะขยายระบบให้ใหญ่ขึ้น" ดร.มัทนากล่าว
อีกทั้ง ดร.มัทนายังเผยอีกว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพสามารถผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้วได้วันละ 200 ลิตร โดยน้ำมันที่ใช้แล้วนั้น รับซื้อจากโรงอาหารของมหาวิทยาลัยและอาคารบ้านพัก เพื่อตัดตอนการนำน้ำมันใช้แล้วกลับไปใช้ซ้ำ.