xs
xsm
sm
md
lg

ม.กรุงเทพ "กรีนแคมปัส" แห่งแรกขับเคลื่อนด้วยไบโอดีเซล 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับจากนี้นักศึกษา ม.กรุงเทพ วิทยาเขตรังสิตจะภาคภูมิใจกับรถรับส่งภายในมหาวิทยาลัยมากกว่าสถาบันไหนๆ เพราะพลังขับเคลื่อนของเครื่องยนต์คือ “เชื้อเพลิงไบโอดีเซล 100%” ที่ได้จากน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งนอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปัญหาน้ำมันเหลือทิ้งในระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังช่วยตัดทอนการใช้น้ำมันซ้ำไป-ซ้ำมาได้อีกด้วย

ภายใต้โครงการไบโอดีเซลชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ ในทุ่งหลวงรังสิตตอนบนของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ช่วยเติมเต็มโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต โดยการให้ยืมเครื่องยนต์ผลิตไบโอดีเซล 100% หรือบี 100 เป็นเวลา 6 เดือนเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซลสำหรับรถรับส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยที่ให้บริการฟรีจำนวน 10 คันและรถยนต์การเกษตรอีก 5 คัน

เครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ต้นแบบจากความร่วมมือของเอ็มเทคและกรมอู่ทหารเรือซึ่งมีกำลังผลิตครั้งละ 100 ลิตร นับว่าเพียงพอต่อการใช้น้ำมันของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท รวมถึงการกำจัดน้ำมันใช้แล้วที่กลายเป็นปัญหาในระบบกำจัดน้ำเสีย

"ในแต่ละวันมีน้ำมันเหลือทิ้งทั้งจากครัวเรือนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและร้านค้าตามโรงอาหารประมาณ 100 ลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งเข้าไปในระบบบำบัดน้ำเสียทำให้เป็นปัญหาแต่อีกส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน" นายคงเด่น คำแดง หัวหน้าแผนกก่อสร้างและบูรณะสวนรังสิต ม.กรุงเทพ ซึ่งดูแลฝ่ายภูมิทัศน์และผลิตไบโอดีเซลกล่าว

ทั้งนี้ เขาระบุว่าได้ทดลองใช้เครื่องผลิตไบโอดีเซลได้ 2-3 วันแล้ว และยังไม่พบปัญหาใดๆ กับเครื่องยนต์ ซึ่งหลังจากผ่านไป 6 เดือนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้วันละ 2,800 บาท ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะสั่งซื้อเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากเอ็มเทค

มหาวิทยาลัยได้รับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากร้านค้าและครัวเรือนภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงในราคาอ้างอิงจากบางจากคือลิตรละ 16 บาท โดยน้ำมันใช้จะถูกรวบรวมมาพักไว้ในถังเก็บเพื่อตกตะกอนและแยกเศษอาหารออก ซึ่งในน้ำมันใช้แล้ว 100 ลิตรที่รับซื้อมานั้นนำไปผลิตไบโอดีเซลได้ 90-95% และได้กลีเซอรีลประมาณ 5%

นายคงเด่นกล่าวว่าจะนำไปใช้เป็นยาฆ่าแมลงแทนสารเคลือบใบที่มหาวิทยาลัยต้องสั่งซื้อ นอกจากนี้น้ำเสียจากกระบวนการผลิตจะนำไปรดน้ำต้นไม้หลังจากทิ้งไว้ 2-3 วันเพื่อให้เมทานอลระเหย

นอกจากพลังงานจากน้ำมันใช้แล้ว นายคงเด่นเผยว่า ม.กรุงเทพยังมีสวนปาล์มซึ่งเดิมปลูกไว้เพื่อความสวยงามของภูมิทัศน์และไม่ต้องดูแลมากนักเป็นอีกแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอดีเซล และยังมีโครงการอื่นๆ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวคือการคัดแยกขยะและลดการใช้สารเคมีในการทำสวน โดย 90% ของสารเคมีสำหรับดูแลสวนต่างๆ มาจากสมุนไพร

ผศ.ดร.บุญรอด วุฒิศาสตร์กุล รองอธิการบดี ม.กรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต กล่าวว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญของการบริโภคอย่างพอเพียง โดยลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อช่วยลดสาเหตุภาวะโลกร้อน และภายใต้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีของเอ็มเทคจึงได้นำน้ำมันพืชและสัตว์ที่ใช้แล้วจากร้านค้าในมหาวิทยาลัยและชุมชนใกล้เคียงมาใช้ผลิตไบโอดีเซล

อีกทั้งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์และเอ็มเทคจะได้ร่วมกันศึกษาและติดตามการดำเนินงานของโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวซึ่งเป็นแห่งแรกของไทย เพื่อพิสูจน์ว่าไบโอดีเซลไม่มีผลด้านลบต่อเครื่องยนต์ รวมทั้งช่วยตัดทอนการนำน้ำมันใช้แล้วไปบริโภคซ้ำ

ส่วนประสิทภาพของการใช้ไบโอดีเซล 100% กับเครื่องยนต์นั้น นาวาเอกสมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญเอ็มเทค ผู้พัฒนาเครื่องยนต์ผลิตไบโอดีเซลต้นแบบ กล่าวว่าทางเอ็มเทคได้ทดลองใช้บี 100 กับรถตู้เครื่อยนต์คอมมอนเรล 1 คันมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

อีกทั้งทางกรมอู่ทหารเรือได้ใช้บี 100 กับรถของข้าราชการและรถหลวงเป็นเวลา 7 ปี และยังได้ทดลองใช้กับเรือพระที่นั่งแล้วซึ่งต่อไปจะทดลองใช้กับเรือรบด้วย ทั้งนี้เครื่องยนต์ต้นแบบมีกำลังการผลิตทั้งวัน 400 ลิตรซึ่งจะได้พัฒนาให้มีกำลังการผลิตมากขึ้นเป็น 1,000-2,000 ลิตรต่อวันด้วย.




กำลังโหลดความคิดเห็น