xs
xsm
sm
md
lg

22 ปีระเบิดที่ "เชอร์โนบิล" บาดแผลยังไม่จางหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธารา บัวคำศรี และภาพถ่ายแสดงภาพผู้เคราะห์จากเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล
กรีนพีซจัดนิทรรศการภาพถ่ายเคลื่อนที่ "ประกาศนียบัตร 000358" แสดงร่องรอยจากโศกนาฏกรรมต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากระเบิด "เชอร์โนบิล" เมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา เผยให้ภาพผู้เคราะห์ร้ายอันเป็นผลพวงที่ได้รับจากรังสีที่รั่วไหล แม้เด็กที่เกิดหลังเหตุการณ์ยังต้องทุกข์ทรมานจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและหลายคนต้องเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งนานาชนิด

อเล็กซานดรา โปรโกเซนโก (Aleksandra Prokopenko) เด็กหญิงวัย 9 ขวบจากเมืองโกเบล ประเทศเบลารุสต้องทุกข์ทรมานกับโรคหัวบาตรหรือโรคไฮโดรซีฟาลัส (Hydrocephalus) ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำคั่งในโพรงสมอง พ่อของเธอต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลเนื่องจากเป็นคนเดียวในบ้านที่พยุงเธอให้นั่งกินข้าวได้

ที่เมืองเดียวกัน เอนยา เปเซนโค (Annya Pesenko) วัย 18 ต้องเจ็บป่วยจากการเป็นโรคเนื้องอกในสมองถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเธออายุได้เพียง 4 ขวบและอีกครั้งเมื่อเธออายุ 15 ปี แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นผู้ป่วยอันเนื่องจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 เพราะพ่อของเธอมาจากเมืองที่มีการปนเปื้อนทางรังสีอันเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวในปริมาณสูง

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความทุกข์ใจอันเนื่องจากความผิดปกติทางกาย อาทิ แรมซิส ไฟซูลลิส (Ramzis Faizullis) วัย 16 จากเมืองกัวร์มาโนโว รัสเซีย ที่หัวโตผิดปกติเนื่องจากโรคหัวบาตร ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเพื่อนผู้ชายชอบเรียกชื่อเขาแบบแย่ๆ ขณะที่เพื่อนผู้หญิงก็กลัวกลัวและไม่อยากออกเดทกับเขา ซึ่งเขาหวังว่าในอนาคตเขาจะไม่มีลูกที่เป็นแบบเขา

หลักฐานมีชีวิตที่แสดงถึงอันตรายจากอุบัติเหตุเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการถ่ายทอดผ่านเลนส์โดยช่างภาพชื่อโรเบิร์ต นอร์ธ (Robert Knoth) และ อองตัวเน็ธ เดอ ยอง (Antoinette de Jong) นักข่าวที่ร่วมกันเดินทางเพื่อไปบันทึกภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับผลพวงจากหายนะเชอร์โนบิลที่ประเทศคาซัคสถาน ยูเครน เบลารุส ยูราลและไซบีเรีย แล้วถ่ายทอดลงสมุดภาพชื่อ "ประกาศนียบัตรหมายเลข 000358" (Certificate no.000358) ซึ่งเป็นหมายเลขผู้ป่วยของเอนยา

พร้อมกันนี้เนื่องในวันครบรอบ 22 ปีของเหตุการณ์เชอร์โนบิล ทางกลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ชื่อเดียวกันนี้กับสมุดภาพดังกล่าวและได้ภาพบางส่วนออกมาจัดแสดง ซึ่งได้ประเดิมแสดงภาพดังกล่าวให้แก่สื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.51 นี้ ณ อาคารมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย และจะตระเวณจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าวไปทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต

นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่านิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงภาพที่รำลึกถึงเหตุการณ์หายนะของเชอร์โนบิลและเตือนสติรวมถึงเปิดประเด็นถึงการถกเถียงก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยว่าจะเป็นอย่างนี้หรือไม่

แม้จะไม่มีเหตุการณ์ระเบิดร้ายแรงอย่าง แต่ที่ผ่านมาในการดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายๆ แห่งก็ยังประสบกับอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี บางแห่งต้องปิดโรงไฟฟ้าซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

"22 ปีที่ผานมาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ยังมีความผิดพลาดเหมือนเดิม ยังไม่มีความปลอดภัย แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเราเชื่อมั่นในความสามารถแต่บางก็ยังควบคุมการรั่วไหลองรงัสีไม่ได้ เมื่อปี 2542 ที่ผ่านมามีคนงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตายไป 2 คน หรืออย่างสวีเดนที่มีอุบัติเหตุจนต้องปิดโรงงานซึ่งส่งผลต่อการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปหลายเดือน"

"บางอุบัติเหตุรัฐบาลก็จงใจปกปิด สำหรับเมืองไทยแล้วคอรัปชันคือปัญหาใหญ่ในการสรางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราสร้างถนนก็กินกันไปเท่าไหร่ใช้ได้ไม่กี่วันก็พัง แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเน้นที่ความปลอดภัยสูงสุด" นายธารากล่าว

พร้อมระบุว่าการเสนอนิวเคลียร์เป็นทางออกทางด้านพลังงานนั้นเป็น "มายาคติ" เพราะบ้านเราไม่ได้ขาดแคลนพลังงานและน้ำมันก็ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิตไฟฟ้า เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จริงๆ คือก๊าซธรรมชาติและถ่านหินบางส่วน การแก้ปัญหานั้นต้องปฏิรูปโครงสร้างพลังงานให้เกิดการกระจายศูนย์

ขณะเดียวกันการวางแผนพลังงานแบบพยากรณ์โดยผูกติดกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นการประมาณการเติบโตที่สูงกว่าความเป็นจริง ประเทศที่พัฒนาแล้วจะวางแผนพลังงานโดยมองถึงความยั่งยืน การจ้างงานในท้องถิ่น และพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน

"หากมีการตั้งโรงงานสักแห่งขึ้นใหม่โรงงานนั้นต้องเสนอรายงานว่าจะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าไหร่และจะวางแผนว่าจะหาพลังงานมาจากไหน แต่บ้านเราห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ 3 แห่งใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด"

"การปฏิรูปพลังงานในอนาคตผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบว่าจะนำพลังงานมาจากไหน ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้บริโภค เหมือนกรณีความต้องใช้ไฟฟ้าของโรงงานถุงเหล็กบางแห่งซึ่งปัจจุบันยังสร้างไม่ได้แต่ใส่ความต้องการใช้พลังงานลงไปในแผน"

นอกจากนี้ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซยังให้ข้อมูลถึงผลพวงจากเหตุการณ์เชอร์โนบิลอีกว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 9,000 คน แต่หลักฐานล่าสุดจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย (The Russian Academy of Sciences) ระบุว่ามีผู้คนประมาณ 5-8 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอย่างหนักและรอความตายจากการปนเปื้อนดังกล่าว

ทั้งนี้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดกว่า 2 ทศวรรษก่อนนั้นไม่มีความแน่นอนเนื่องจากขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้สำรวจ แต่ระเบียบวิจัยในปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินได้ทั้งหมดว่ามีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ.
แรมซิส ไฟซูลลิน ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวบาตรทำให้เพื่อนๆ เรียกเขาด้วยชื่อแย่ๆ ส่วนผู้หญิงก็กลัวและไม่กล้าที่จะออกเดทกับเขา (บันทึกจากภาพนิทรรศการ)
อเล็กซานดรา โปรโกเซนโก ผู้ทุกข์ทรมานจากโรคหัวบาตรอยู่ภายใต้อ้อมกอดพ่อ (บันทึกจากสมุดภาพ)
(ซ้าย) นาตาชา โปโปวา (Natasha Popova) อายุ 12 ขวบ มีศีรษะที่เล็กกว่าปกติ และ (ขวา) วาดิม กูเลชอฟ (Vadim Kuleshov) อายุ 8 ปีมีร่างกายไม่ปกติ ทั้งสองอาศัยอยู่ในเวสโนวา เบลารุส (บันทึกจากสมุดภาพ)
วาสิลี ลิสโกเวตส์ (Vasily Lyskovets) วัย 14 จากเบลารุสเป็นโรคกระดูก (บันทึกจากสมุดภาพ)
สมุดภาพ ประกาศนียบัตรหมายเลข 000358
กำลังโหลดความคิดเห็น