xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทร่วมทุน "ไทย-แคนนาดา" ทำปุ๋ยอินทรีย์ส่งโกอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทย-แคนาดา จับมือร่วมธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อช่วยลดใช้เคมีการเกษตร ใช้เปลือกกุ้งปูที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย เป็นวัตถุดิบหลัก ผสมผสานเทคโนโลยีการเร่งปฏิกิริยาจากแคนาดา ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต พร้อมป้องกันโรคและแมลงในตัว เตรียมรุกตลาดเกษตรอินทรีย์ในเอเชียนำร่อง

บริษัท ไทย-แคนาดา เรียล ออร์แกนิค โปรดักส์ จำกัด ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายใต้ชื่อ "แคนโกร" (Can-Grow) ที่ผลิตจากเปลือกกุ้งเปลือกปู ใช้สำหรับการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่า และมีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ตั้งเป้าผลิตส่งออกตลาดเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคเอเชีย

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เผยว่า บริษัท ไทย-แคนาดา เรียล ออร์แกนิค โปรดักส์ จำกัด (Thai-Canadian Real Organic ProductS.,Ltd. : THAI-CROP) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท เอกยงวงศ์ จำกัด ของประเทศไทย กับบริษัท แคนาดา เรียล ออร์แกนิค โปรดักส์ จำกัด (Canadian Real Organic ProductS Inc.) ในประเทศแคนาดา ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. และสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา ซึ่งได้นำผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีมาพบกันเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน และนับเป็นบริษัทแรกที่เกิดจากโครงการดังกล่าว โดยไทยถือหุ้น 80% ส่วนแคนาดาถือหุ้น 20%

"การที่ต่างชาติมาร่วมลงทุนด้วยเป็นการเสี่ยงร่วมกันและได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสทางด้านธุรกิจและการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นนั้นก็มีส่วนช่วยให้เกิดการทำเกษตรกรรมแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปนเปื้อนของสารเคมีในดินและน้ำ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

น.ส.สุรีพร เอมโอฐ นักวิทยาศาสตร์ของ THAI-CROP ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยแคนโกรว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของแคนาดาโดยใช้เปลือกกุ้งและเปลือกปูเป็นวัตถุดิบหลักในอัตราส่วนอย่างละ 45% ผสมกับไคตินเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Chitin) 10%

เมื่อใส่ปุ๋ยแคนโกรให้พืช ไคตินเร่งปฏิกิริยาที่อยู่ในปุ๋ยจะไปกระตุ้นให้จุลินทรีย์ในดินสร้างเอนไซม์ไคติเนส (Chitinase) เพื่อย่อยสลายไคตินที่อยู่ในเปลือกกุ้งเปลือกปูและปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองต่างๆ ให้แก่พืช โดยเฉพาะธาตุแคลเซียมที่มีอยู่มากในเปลือกกุ้งและปู

"ปุ๋ยแคนโกรยังช่วยกำจัดเชื้อรา แมลงศัตรูพืช และไส้เดือนฝอยได้ เนื่องจากเอนไซม์ไคติเนสที่แบคทีเรียสร้างขึ้นสามารถย่อยผนังเซลล์ของเชื้อรา เปลือกแมลง และเปลือกไข่ของแมลง ที่ส่วนใหญ่มีไคตินเป็นองค์ประกอบ ปุ๋ยแคนโกรจึงช่วยป้องกันพืชไม่ให้เป็นโรคจากเชื้อราได้ ซึ่งเชื้อราเป็นสาเหตุของโรคพืชถึง 80% และป้องกันพืชจากการถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชและไส้เดือนฝอย" น.ส.สุรีพร แจง

นักวิจัยของ THAI-CROP เผยอีกว่า จากการทดลองปลูกสตอเบอร์รีโดยใช้ปุ๋ยแคนโกรเปรียบเทียบกับปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี พบว่าผลผลิตของทั้ง 2 แปลงไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อตรวจสอบคุณภาพผลผลิตโดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร (LCFA) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าสตอเบอร์รีที่ได้รับปุ๋ยแคนโกรมีปริมาณวิตามินซีและแคลเซียมสูงกว่าประมาณ 18-20% เช่นเดียวกับผลผลิตอื่นๆ ที่ได้ทดสอบแล้ว เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน กระเจี๊ยบเขียว พริก และผักสลัด เป็นต้น และยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นผลจากปริมาณวิตามินซีที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปุ๋ยแคนโกรสามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด โดยปุ๋ยแคนโกรมีราคาขายประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งอาจแพงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่มีจำหน่ายทั่วไปประมาณ 40 บาท แต่นักวิจัยเผยว่าอัตราการใส่ปุ๋ยแคนโกรจะมีความถี่น้อยกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปที่ต้องใส่บ่อยครั้งมากกว่า อีกทั้งแคนโกรยังช่วยป้องกันโรคและแมลงได้มากกว่า จึงให้ผลผลิตที่คุ้มค่ามากกว่า แต่อย่างไรก็ดีปุ๋ยแคนโกรไม่สามารถป้องกันหนอนหรือแมลงที่ไม่มีองค์ประกอบของไคตินได้

ด้านนายวุฒิพงศ์ วนากุล กรรมการผู้จัดการ THAI-CROP เผยว่า เดิมทีบริษัทเอกยงวงศ์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับเกษตรอินทรีย์ เช่น กากเมล็ดชาสำหรับกำจัดหอยเชอรีในนาข้าว และปลูกพืชผักส่งออกอยู่แล้ว จึงสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรแบบอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากปุ๋ยแคนโกร ซึ่งผลิตเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบผง สำหรับใช้ในดิน, แบบสเปรย์ สำหรับฉีดพ่นส่วนของพืชที่อยู่เหนือดิน และแบบแท่ง สำหรับปักในดิน

"เป้าหมายของปุ๋ยแคนโกรคือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ซึ่งยังมีอยู่ไม่มากนัก จึงยังไม่ได้คาดหวังผลิตส่งออกเป็นจำนวนมากๆ โดยขณะนี้โรงงานสามารถผลิตได้ประมาณ 15 ตันต่อวัน และจะเริ่มผลิตขายและส่งออกในประเทศใกล้เคียงก่อน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย" นายวุฒิพงศ์ เผย ซึ่งแคนโกรได้รับการรับรองคุณภาพมาแล้วจากหลายสถาบันทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา จีน และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ THAI-CROP ยังอยู่ระหว่างการพัฒนากล่องบรรจุผลผลิตทางการเกษตรและน้ำยาล้างผักที่ช่วยยืดอายุผลผลิต โดยตั้งเป้านำมาใช้ร่วมกับปุ๋ยแคนโกรเพื่อยืดอายุผลผลิตให้ได้นานพอที่จะสามารถขนส่งทางเรือได้แทนการขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งได้หลายเท่าตัว.




กำลังโหลดความคิดเห็น