xs
xsm
sm
md
lg

ดำดิ่งสู่ "25 ความคิดพลิกโลก" ผลงานนักเขียน "อิกโนเบล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณคิดว่าความคิดแบบไหนกันที่กำลังเปลี่ยนโลก? ทฤษฎีที่ว่าคนเราห่างกันแค่ 6 องศาเข้าท่าแค่ไหนในสายตาคุณ? "ทฤษฎีเกม" ที่เริ่มต้นจากการหาวิธีเอาชนะกัน กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญของวงการเศรษฐศาสตร์ "ปัญญาประดิษฐ์" จะทำให้คอมพิวเตอร์โต้ตอบจนคุณเชื่อว่าเครื่องจักรไฮเทคนี้คิดเองได้หรือไม่?

โรเบิร์ต แมทธิวส์ (Robert Matthews) นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์และเจ้าของรางวัล "อิกโนเบล" (Ig Nobel Prize) จากการศึกษาเหตุผลว่าทำไมขนมปังปิ้งจึงมักตกโดยเอาด้านทาเนยลงนั้น ได้นำเสนอเรื่องราวความคิดวิทยาศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกผ่านหนังสือ 25 บิกไอเดียส์ : เดอะ ไซน์ แดตส์ เชนจิง อาวเออร์ เวิรล์ด (25 Big Ideas: The Science That's Changing Our World)

ได้รับการแปลในชื่อภาษาไทยว่า "25 ความคิดพลิกโลก" โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล หรือรู้จักกันในนามปากกา "ชัยคุปต์"

หนังสือของแมทธิวส์กล่าวถึงความรู้อย่างปรากฏการณ์โลกเล็ก (Small World Effect) ปรากฏการณ์ที่เราและคนแปลกหน้าต่างมีคนรู้จักหรือเพื่อนร่วมงานเดียวกัน กลายเป็นความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงกันในโลกเล็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย

การศึกษาปรากฏการณ์นี้เริ่มมาจากศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ชั้นสูงอันซับซ้อน แต่กลับเป็นประโยชน์มากต่อศาสตร์ทางสังคม ทั้งนี้มีการทดลองที่เผยว่า ทั้งการบอกต่อข่าวลือให้ทุกคนทราบหรือส่งต่อสิ่งของไปยังเป้าหมายผ่านคนรู้จักนั้นทำได้เพียง 6 ครั้งเท่านั้น และยังกลายเป็นบทละคร "6 องศาของการแยกห่างจากกัน" (Six Degree of Sparation) ของจอห์น กัวรี (John Guare) นักเขียนบทละครเวทีด้วย

"ทฤษฎีเกม" (Game Theory) เป็นอีกความรู้ที่แมทธิวส์นำเสนอเป็นหนึ่งในความคิดพลิกโลก ซึ่งเริ่มต้นจากความพยายามหาวิธีเอาชนะในเกมไพ่ แล้วถูกประยุกต์ใช้ในสงครามระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตที่ในขณะนั้นกำลังก่อตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่คิวบา โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องรับบทหนักในการตัดสินใจครั้งนั้นซึ่งเปรียบเหมือนเกมๆ หนึ่ง จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในวงการเศรษฐศาสตร์

รวมทั้งความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence:AI) ที่เริ่มเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นแค่ก็ยังห่างไกลจากเอไอในจินตนาการของอาเธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke) ที่ถ่ายทอดลงนิยายไซไฟ "จอมจักรวาล" (2001: A Space Odyssey) ซึ่งความพยายามทำให้คอมพิวเตอร์คิดเองได้ยังคงเป็นความท้าทายของมนุษย์

เนื้อหาของหนังสือยังกล่าวถึงฟิสิกส์ของความจริงที่กล่าวถึงสัมพัทธภาพพิเศษของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ความพยายามของนักฟิสิกส์ที่จะรวมแรงพื้นฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ผู้ปราดเปรื่องในยุคนี้ พนันว่านักฟิสิกส์จะรวมแรงทั้งหมดได้ก่อนศตวรรษที่ 21 จากนั้นฟิสิกส์ก็จะตาย เพราะไม่เหลือโจทย์ท้าทายให้นักฟิสิกส์ค้นคว้าต่อ แต่เขาต้องเสียพนันเพราะยังไม่มีใครทำได้

ทั้งนี้แมทธิวส์ได้จัดหมวดหมู่ศาสตร์ต่างๆ ออกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเราและคนอื่นๆ เรื่องของโลก ชีวิต การเจ็บป่วยและสุขภาพ คณิตศาสตร์ที่มีความหมาย ฟิสิกส์ของควมจริง เรื่องของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาทิ การสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีคำนายว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถโต้ตอบกับเราได้เป็นเวลาถึง 5 นาทีและหลอกมนุษย์ได้ 30% ว่ากำลังคุยอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น

และสุดท้ายคือเรื่องจักรวาลที่ปิดท้ายด้วยหลักแอนโทรปิก (Anthropic Principle) ที่พยายามอธิบายถึงการมีอยู่ของโลกในจักรวาล แต่ทั้งหมดทั้งมวลของการจรดปลายปากกาบอกเล่าความคิดอันส่งผลกระทบต่อโลก ก็เพียงเพื่อสรุปว่า "จักรวาลคือความมหัศจรรย์"

ภายในความคิดแบบ "บิกไอเดีย" ทั้ง 25 นั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าเขาประทับใจในแนวคิดเกี่ยวกับการส่งถ่ายมวลสาร (teleportion) มากที่สุด ซึ่งความรู้เกี่ยวกับ "ควอนตัมเอนแทงเกิลเมนต์" (Quantum Entanglement) หรือการพัวพันเชิงควอนตัม จะเปิดโอกาสความเป็นไปได้ในการประยุกต์เรื่องนี้ได้

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการตีความหมายวิทยาศาสตร์ผิดแล้วส่งกระเทือนต่อสังคม อย่างการตีความทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน (Charl Darwin) ที่ระบุว่าผู้แข็งแรงจึงอยู่รอด เช่น บางชาติปฏิรูปการศึกษาโดยสั่งห้ามผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำโดยเฉพาะคนผิวดำมีครอบครัว หรือกรณีที่ฮิตเลอร์สั่งกำจัดชาวยิว เป็นต้น

"เรื่องราวในหนังสือมีคำแปลกๆ อย่าง "แอนโทรปิก" ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พยายามอธิบายการมีอยู่ของโลกในจักรวาล พยายามตอบคำถามว่าทำไมจักรวาลจึงเป็นอย่างที่มันเป็น ซึ่งหนังสือวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ มักจะจบลงด้วยบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางคนว่าเป็นทฤษฎีมั่ว ทั้งนี้สิ่งที่เราเห็นบางทีไม่ใช่ของจริงและสิ่งที่เป็นจริงอาจเป็นสิ่งที่เราไม่เห็น

สำหรับทั้ง 25 เรื่องนั้นแต่ละบทจบในตัวเอง จะอ่านบทไหนก่อนก็ได้ตามความสนใจ" รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวถึงหนังสือแปลเล่มล่าสุดของเขา ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วี วิชช์ (We Wish) และมีจำหน่ายที่บูธสำนักพิมพ์ อี.ไอ.สแควร์ พับลิชชิ่ง โซน Plaenary H12 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-7 เม.ย.51

กำลังโหลดความคิดเห็น