ลีซา- ยุววิจัยดาราศาสตร์ลีซาบุกแดนปลาดิบ โชว์ศักยภาพ 5 ผลงานวิจัยเด็กไทย ฝ่ายจัดงานญี่ปุ่นทึ่งเด็กไทยทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ด้าน ผอ.ลีซาเผยเป็นการเบิกทางสู่ความสัมพันธ์ด้านงานวิจัยดาราศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนเยาวชนในโครงการชมเปราะ เด็กญี่ปุ่นทำการบ้านมาอย่างดี พร้อมเป็นแรงผลักดันยุววิจัยไทย
คณะยุววิจัยดาราศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยในเวทีประชุม "จูเนียร์ เซคชัน อิน เดอะ แอสโตรโนมิคอล โซไซตี" ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของนักเรียนญี่ปุ่นจากทั่วประเทศกว่า 50 ชิ้นงาน อาทิ การตรวจวัดความถี่ฝนดาวตกเจมินิดส์ด้วยคลื่นวิทยุ, การหาขนาดดาวเคราะห์น้อย, และจุดดับบนดวงอาทิตย์ เป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการ เวทีแลกเปลี่ยนชมรมดาราศาสตร์ รวมถึงการล้อมวงคุยแนะนำความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องด้วย
ดร.มาโกโต โยชิกาวา สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่างานประชุมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลายได้มีเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ฝึกกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับนักดาราศาสตร์คือ การทำงานวิจัย การเขียนรายงาน และการนำเสนอผลงานสู่สาธารณชน
ดร.มาโกโต กล่าวว่า ในปีนี้ยังนับเป็นโอกาสพิเศษที่ได้เชิญยุววิจัยดาราศาสตร์จากประเทศไทยเข้าร่วมแสดงผลงานเนื่องจากเห็นว่าเด็กไทยมีการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับสูง ใช้ข้อมูลวิจัยเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์โลก ทำให้มีผลงานวิจัยที่ค่อนข้างลึกกว่าเด็กญี่ปุ่น การร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้จึงนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่จะเป็นแรงผลักดันให้เด็กญี่ปุ่นหันมาทำงานวิจัยเชิงลึกมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล เทคนิคการทำงานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ซึ่งกันและกัน
ด้าน น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผอ.ลีซา กล่าวว่า ในงานการประชุมครั้งนี้ โครงการลีซาได้ส่งตัวแทนยุววิจัยด้านดาราศาสตร์เข้าร่วมจำนวน 12 คน มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การค้นหาดาวแปรแสงคาบยาวในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ 2.การหาระยะห่างของเมฆแมกเจลแลนเล็กโดยใช้ดาวแปรแสงแบบเซฟิอิด 3.การศึกษาประชากรกระจุกดาวเปิด 4.การศึกษาความสว่างของการระเบิดของดาวแปรแสงแบบประทุในกาแลกซีทางช้างเผือกและเอ็ม 31 และ 5.การสังเกตการระเบิดของดาวหางโฮมห์สในปี 2550 โดยภายในงานจะมีการตีพิมพ์รายงานวิจัยของนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นด้วย
"ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กไทยได้เห็นความหลากหลายของงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและนักเรียนญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วย" น.อ.ฐากูร กล่าว
ส่วนนายรวีวัฒน์ ถวัลย์เถลิงฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม หนึ่งในตัวแทนยุววิจัยไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านดาราศาสตร์และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ซึ่งในการนำเสนอผลงานครั้งนี้ เพื่อนๆ นักเรียนญี่ปุ่นต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ยังทำให้ยุววิจัยดาราศาสตร์ของไทยได้เห็นงานวิจัยดาราศาสตร์ในด้านที่หลากหลายมากขึ้น แม้ว่ายุววิจัยญี่ปุ่นจะยังไม่มีการทำวิจัยเชิงลึกเหมือนของไทย แต่ก็พบว่ามีหลายชิ้นงานที่น่าสนใจมาก อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจประชากรโลกเพื่อจะย้ายไปดาวอังคาร, การวางแผนสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวยูโรปา, หรือโครงการการสร้างที่พักในอวกาศ ซึ่งทุกผลงานล้วนมีการหาข้อมูลและมีการวางแผนการทำวิจัยเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความกล้าคิดและการใช้จินตนาการของเยาวชนญี่ปุ่น
"สิ่งเหล่านี้ทำให้เข้าใจว่าทำไมประเทศญี่นปุ่นจึงสามารถคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาได้ การได้มาเสนองานที่ญี่ปุ่นทำให้กลุ่มยุววิจัยในโครงการเกิดแรงผลักดันที่จะเรียนรู้และทำวิจัยดาราศาสตร์ในโจทย์ใหม่ๆ และคิดนอกกรอบให้มากขึ้นต่อไป" ยุววิจัยดาราศาสตร์ไทยทิ้งท้าย