xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น "โลกร้อน" กระทบแหล่งอาหารของชะนีที่เขาใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ไม่ได้ศึกษาโดยตรงแต่นักวิจัยพฤติกรรมชะนีที่เขาใหญ่หวั่น "โลกร้อน" กระทบแหล่งอาหารลิงใหญ่ พร้อมระบุพบ "ไก่ฟ้าพญาลอ" ที่ควรอยู่ในที่ต่ำในระดับเขาที่สูงขึ้น ด้านนักวิจัยเมืองคอนพบการแตกยอดที่เร็วขึ้นของ "ประ" ไม้ประจำถิ่นแห่ง "เขานัน" พร้อมระบุหวั่นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำให้ป่าเมฆหดหายหรือย้ายถิ่น

การประชุมประจำปี 2551 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ NAC 2008 ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีบรรยายหัวข้อ "เมื่อโลกร้อนขึ้น จะเกิดอะไรกับความหลากหลายทางชีวภาพ" โดย ศ.วอร์เรน บรอคเกลแมน (Prof.Warren Brockelman) นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งศึกษาชะนีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศน่าจะส่งผลต่ออาหารของชะนีมากกว่าต่อชะนีโดยตรง

ทั่วโลกมีชะนีทั้งหมด 12 ชนิด สำหรับประเทศไทยมีชะนีทั้งหมด 4 ชนิดคือ ชะนีมงกุฎ ชะนีมือขาว ชะนีมือดำและชะนีไซแอมแมง (siamang) ซึ่ง 2 ชนิดแรกพบที่เขาใหญ่ ส่วนอีก 2 ชนิดหลังพบทางภาคใต้ ทั้งนี้ ศ.บรอคเกลแมนศึกษาชะนีซึ่งจัดเป็นเอพ (Ape) หรือลิงใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับมนุษย์มากกว่าลิงไพรเมท โดยเขาได้ศึกษาชะนีมือขาวบริเวณที่เรียกว่า "มอสิงโต" ของเขาใหญ่มาเป็นเวลากว่า 20 ปี

ธรรมชาติของชะนีจะอยู่กันเป็นครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ-แม่ (adult) และลูกโดยแบ่งเป็นลูกชะนีที่ยังเล็ก (Juvenile) และลูกชะนีที่โตเต็มวัย (sub-adult) ซึ่งจะออกไปสร้างครอบครัวใหม่เมื่อหาคู่ได้แล้ว ครอบครัวของชะนีจะอยู่เป็นอาณาเขตประมาณ 150 ไร่โดยที่อาจมีการเหลื่อมล้ำพื้นที่หากินกันบ้าง ซึ่งต่างจะแสดงความเป็นเจ้าถิ่น

ด้าน น.ส.อนุตรา ณ ถลาง นักวิจัยไบโอเทค ซึ่งศึกษานิเวศวิทยาในพื้นที่เดียวกับ ศ.บรอคเกลแมนร่วม 10 ปี เผยว่า ไม่ได้ศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยตรง แต่จากการติดตามความหลากหลายทางชีวภาพมากว่า 10 ปีพบว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องศึกษาให้แน่ใจโดยการทำแบบจำลองว่าเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่ พร้อมกล่าวว่าพื้นที่ป่าของไทยนั้นเป็นพื้นที่ไม่ต่อเนื่องและถุกล้อมด้วยเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม โดยอุณหภูมิรอบๆ เขาใหญ่ที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อป่าที่มีอยู่หย่อมเดียวด้วย

"ถ้ามีข้อมูลระยะยาว 10-20 ปีจะเห็นแนวโน้มและพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไปจนถึงการวางแผนว่าจะทำอย่างไร" น.ส.อนุตรากล่าว พร้อมทั้งเผยถึงการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตพบในเขาใหญ่ว่า ปกติบริเวณมอสิงโตซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตรจะพบไก่ฟ้าหลังขาว และบริเวณที่ต่ำกว่าจะเป็นที่อยู่ของไก้ฟ้าพญาลอ แต่ระยะหลังมานี้พบไก่ฟ้าพญาลอขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ที่มอสิงโต ขณะที่ไก่ฟ้าหลังขาวย้ายถิ่นขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงขึ้นและมีให้เห็นน้อยลง

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี อาจารย์สำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวัลยลักษณ์ และนักวิจัยในโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) ซึ่งได้ศึกษาสถานการณ์ของป่าเมฆ (Cloud Forest) ในอุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช เผยถึงความกังวลที่ป่าเมฆอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากป่าเมฆทางใต้นั้นเกิดจากลมได้พัดความชื้นจากทะเลเข้าสู่ป่าแล้วกลั่นตัวเป็นเมฆ หากความชื้น อุณหภูมิและลมเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อป่าเมฆได้

โดยปริมาณเมฆอาจลดลงและส่งผลให้ป่าเมฆลดลงด้วย ซึ่งที่ ผศ.ดร.มัลลิกากังวลคือพื้นที่ป่าอาจหดตัวแล้วเหลืออยู่เฉพาะบนยอดเขา สิ่งมีชีวิตก็จะอพยพขึ้นสู่ที่สูงขึ้น และหากพื้นที่สุดท้ายหมดไปก็ไม่เหลือพื้นที่ให้อาศัยอีก ทั้งนี้หากเป็นสิ่งมีชีวิตทีมีปีกก็ไมน่าวิตกนักเพราะสามารถย้ายถิ่นฐานได้ แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อยู่ติดที่อาจลำบาก

นอกจากนี้ ผศ.ดร.มัลลิกายังศึกษาป่าประ (Parah Forest) ซึ่งเป็นป่าที่มีชีพลักษณ์ (phenology) โดยมีลักษณะที่แตกยอด ออกดอกผลและใบร่วงพร้อมๆ กัน ซึ่งนับมาเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และจากการศึกษาเขานันเป็นเวลาปีกว่าพบการเปลี่ยนแปลงของการแตกยอดประ โดยเมื่อปี 2550 ประแตกยอดวันที่ 13 ก.พ.และเว้น 1 วันก่อนจะออกดอกในวันที่ 15 ก.พ. แต่ในปี 2551 นั้นประแตกยอดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ทั้งนี้กำลังทำข้อมูลของปีนี้อยู่

"ป่าประมีเฉพาะในไทย อินโดนีเซียและมาเลย์เซีย สำหรับที่เขานันเป็นป่าประใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นที่ประมาณ 4,000-6,000 ไร่แต่ยังไม่ตัวเลขที่แน่นอน ต้นประจะให้เมล็ดที่มีรสชาติคล้ายอัลมอนด์และมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ชาวบ้านนิยมเก็บมาขาย" ผศ.ดร.มัลลิกา โดยเธอยังศึกษาเพื่อเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวัฎจักรเปลี่ยนแปลงเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น