ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย : นักกีฏวิทยา ม.เกษตรระบุไม่พบตัวเรือดมาหลายสิบปี แต่ที่พบมากขึ้นอาจติดมาจากต่างด้าวที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านและฝรั่งนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงบนโบกี้รถไฟเท่านั้นแต่ตามโรงแรมหรูก็พบได้เพราะติดมาฝรั่งที่ไม่ชอบอาบน้ำ
กรณีพบตัวเรือดบนโบกี้รถไฟจำนวนมาก จนก่อให้เกิดความรำคาญและเป็นทุกข์กับผู้โดยสารนั้น ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) ได้สอบถามไปยัง รศ.ดร.สาวิตรี มาไลยพันธุ์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงถึงสาเหตุที่มีการพบตัวเรือดจำนวนมากนี้เป็นเพราะเหตุใด?
“หลายสิบปีมานี้ มีการพบตัวเรือดในบ้านเราน้อยมากๆ อาจพบได้บ้างในคุก แต่ที่ตอนนี้มีการพบมากอีกครั้ง อาจจะติดมาจากชาวต่างชาติที่อยู่รอบบ้านเราซึ่งเป็นผู้อพยพเข้ามาจำนวนมาก อีกพวกหนึ่งคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างพวกฝรั่งที่ไม่ค่อยชอบอาบน้ำ ซึ่งปกติก็พบได้อยู่แล้วในประเทศเขา หรือบนรถทัวร์ปรับอากาศที่มีฝรั่งมาใช้บริการก็พบได้มาก จนหัวหน้าภาควิชาเคยมาพูดแซวว่ามีแหล่งรับเลี้ยงตัวเรือดมั้ยจะเอามาให้ และก็ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงแรมหรูราคาแพงก็พบได้เช่นกัน แสดงว่าไม่ใช่มาจากคนระดับล่างที่ไม่มีเงินเท่านั้น แต่อาจติดมากับนักท่องเที่ยวที่มีสตางค์มากได้เช่นกัน” รศ.ดร.สาวิตรีกล่าว
ส่วนสายพันธุ์ที่พบนั้นปัจจุบันมีปนกันไปหมดทั้งสายพันธุ์ของไทยและต่างชาติคละกันอย่างละครึ่ง ถ้าเป็นพันธุ์ในแถบเอเชียนักกีฏวิทยากล่าวว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแมลงชนิดนี้ชอบอยู่ตามที่นอนหรือบ้านที่ไม่ค่อยทำความสะอาด โดยจะอยู่ตามตะเข็บมุมที่นอนกันเป็นครอก เมื่อคนนอนหรือนั่งบนที่นอนสักครู่ ความร้อนจากตัวคนจะแผ่ออกไป ตัวเรือดจะรับรู้ได้และออกมาดูดเลือดกิน ส่วนอันตรายนั้นไม่นำให้เกิดโรคร้ายเทื่อเทียบกับเหาที่อยู่ตามตัวคน (ไม่ใช่เหาบนหัวคน) หรือตามตะเข็บเสื้อผ้าซึ่งน่ากลัวกว่าเรือด
รศ.ดร.สาวิตรีให้ข้อมูลว่าตัวเรือด เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว วงจรชีวิตไม่ยาวนัก โดยจะออกไข่แล้วเป็นตัวอ่อน จากนั้นก็เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย การป้องกันเรือดทำได้ลำบากแต่อาจสังเกตจากกลิ่น บริเวณที่มีตัวเรือดอยู่จะมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว และตัวเรือดจะชอบอยู่ตามตะเข็บที่นอนที่เป็นจุดปุ่มๆ ซึ่งจะเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน จะเห็นได้เป็นจุดขาวๆ ด่างๆ การนำพวกที่นอน หมอน ผ้าห่มไปตากแดดจะพอช่วยบรรเทาได้ และการหมั่นทำความสะอาดที่พักอาศัยก็จะช่วยได้และไม่เป็นที่สะสมของแหล่งเชื้อโรค ส่วนกรณีที่เกิดบนโบกี้รถไฟนั้นแนะนำให้ใช้ผ้าใบคลุมโบกี้และปิดให้มิดชิด จากนั้นรมควันด้วยสารเคมีโดยเฉพาะหรือจะนำเข้าโรงอบควันอย่างที่ใช้อบธัญพืชก็ได้
______________________________________________
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เป็นหน่วยงานในสังกัดส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) มีหน้าที่ประสานงานระหว่างนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นข่าวร้อนที่มีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 1460, 1461 มือถือ 08 1651 1634, 08 1304 5131 โทรสาร 0 2564 7140 e-mail : thaismc@nstda.or.th