"วุฒิพงศ์" เยี่ยม สนช. พร้อมแนะให้ดึงผู้เชี่ยวชาญกระทรวงอุตฯ ร่วมสร้างนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม เน้นส่งเสริมพลังงานทดแทน นวัตกรรมที่ประเทศไทยขาดแคลน หวังช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมปลัด และคณะที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังนโยบายและการทำงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 5 มี.ค.51 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางพัฒนาและส่งเสริมต่อไป โดยมีนายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. และคณะเป็นผู้นำเสนอผลการดำเนินการของ สนช.
นายศุภชัย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ สนช. และการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า พันธกิจหลักที่สำคัญของ สนช. คือ มุ่งส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ และต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ ตลอดจนให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านต่างๆ
ตัวอย่างผลงานเด่นภายใต้การสนับสนุนของ สนช. ที่ผ่านมา เช่น ชุดตรวจนับเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ เสื้อซิลเวอร์นาโน แป้งฝุ่นจากแป้งข้าวเจ้า ระบบเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเพื่อการส่งออก และการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นายศุภชัย กล่าวอีกว่า การลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมยังประสบปัญหาเรื่องเงินทุนอยู่ไม่น้อย ซึ่งในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เองมักมีโครงการดีๆ มากมายแต่ขาดเงินทุน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีเงินทุนสนับสนุนก็ขาดแคลนโครงการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของประเทศ และขณะนี้ สนช. อยู่ระหว่างการผลักดันแผนแม่แบบนวัตกรรม เช่น การจัดตั้งอินโนเวชัน พาร์ค (Innovation Park) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา การจัดตั้งกองทุนร่วมเสี่ยง (Innovation Venture Fund) เป็นต้น
หลังจากนั้น นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เป็นการดีที่ สนช. มีโครงการนวัตกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน ที่ในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากถึง 2 ใน 3 ส่วน ซึ่งทำให้ไทยเราเสียดุลการค้าไม่น้อย หากมีนวัตกรรมที่ช่วยผลิตพลังงานทดแทนจะมีส่วนช่วยประเทศในจุดนี้มาก
ส่วนนวัตกรรมอื่นๆ ที่สามารถช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ก็ควรส่งเสริมไปพร้อมกัน โดยในตอนแรกควรเน้นนวัตกรรมที่ประเทศขาดแคลนหรือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้
“อันดับแรกควรจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ที่มีนวัตกรรมอยู่ในมือสามารถผลิตเป็นสินค้าออกมาได้ อย่างที่สองคือหาผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ด้านการตลาด สำหรับเป็นทีมที่ปรึกษา เพราะผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมอาจมองภาพในอุตสาหกรรมไม่ออกว่าเป็นอย่างไร หรืออาจจะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ มีผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงอุตฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำตั้งแต่เขียนโครงการขอรับการสนับสนุน” นายวุฒิพงศ์ เสนอแนะและบอกต่อว่าจะนำเรื่องนี้ไปคุยกับรองนายกรัฐมนตรีว่าจะหาทุนมาสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างไรบ้าง