จุงอังเดลี/เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์หนุ่มชาวเกาหลีใต้ผู้ใฝ่ฝันจะโด่งดังเหมือน "ฮวาง อูโซก" นักโคลนนิงร่วมชาติที่ตกแท่นจากฮีโร่เป็นจอมอื้อฉาว แต่ดันเดินเส้นทางเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน หลังหน่วยงานต้นสังกัดพบว่าเขาเองก็ลวงโลกไม่แพ้กัน เพราะดันไปกุ 2 งานวิจัยด้านสุขภาพตีพิมพ์ในวารสาร "ไซน์" และ "เนเจอร์" เมื่อปีกลาย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (The Korea Advanced Institute of Science and Technology : KAIST) เมืองแดจอน ประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ก.พ.51 ว่า "คิม แต-กุก" (Kim Tae-Kook) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของสถาบันได้ปั้นข้อมูลใน 2 งานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก 2 ฉบับคือ "ไซน์" (Science) และ "เนเจอร์" (Nature) ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา
งานวิจัยลวงโลกซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "ไซน์" เมื่อ ก.ค.48 คิมและนักวิจัยร่วมอีก 5 คนอ้างว่า พวกเขาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องตรวจระดับนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กเพื่อบ่งชี้โมเลกุลเป้าหมายภายในเซลล์ที่มีชีวิต (รายงานชื่อ : A Magnetic Nanoprobe Technology for Detecting Molecular Interactions in Live Cells)
ในครั้งนั้น เขายังให้สัมภาษณ์ "ไซน์ไทมส์ออฟโคเรีย" (Science Times of Korea) อย่างชื่นมื่นด้วยว่า เขาต้องการเป็น "ฮวาง" คนที่ 2 ของประเทศ
ส่วนงานวิจัยฉาวอีกชิ้นชื่อ "การรีโปรแกรมยืดอายุของเซลล์บนฐานของโมเลกุลขนาดเล็ก" ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ มิ.ย.49 ในวารสาร "เนเจอร์ เคมิคอล ไบโอโลจี" (Nature Chemical Biology) ซึ่งเป็นวารสารในเครือ "เนเจอร์" เขาและทีมวิจัยอ้างว่าได้ค้นพบโมเลกุลที่ยืดอายุของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รายงานชื่อ : Small Molecule-Based Reversible Reprogramming of Cellular Lifespan)
เชื่อกันว่า การค้นพบดังกล่าวถือเป็นการถางทางไปสู่การพัฒนายาที่สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้วกำจัดทิ้งได้ โดยไม่ทำอันตรายกับเซลล์ปกติอันจะมีผลต่ออายุขัยของเซลล์ แถมยังเป็นการยืดอายุมนุษย์ไปในตัว
ทั้งนี้ กรณีการปลอมแปลงข้อมูลดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับกรณีของ "ฮวาง อูโซก" (Hwang Woo-suk) นักชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ผู้มีชื่อเสียงหลังจากอ้างว่าประสบความสำเร็จในการสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนจากการโคลนมนุษย์ และตีพิมพ์ในวารสาร "ไซน์" เมื่อปี 2547 และ 2548 ทว่ากลับพบภายหลังว่า เขาแต่งข้อมูลจำนวนมากขึ้นเองหาใช่ผลสำเร็จจากห้องแล็บไม่
อย่างไรก็ตาม 2 ความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำให้ชีวิตยืนยาวงวดล่าสุดนี้ ถูกจับได้โดยการสอบสวนภายในโดยคาดว่าคิมได้แต่งข้อมูลขึ้นเอง ทำให้สถาบันสั่งพักงานที่คณะของเขาทันที พร้อมแจ้งเรื่องไปยังวารสาร "ไซน์" และ "เนเจอร์" ด้วย
"เราพบว่าคิมชักจูงพวกเราด้วยบรรดาภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ที่ถูกขยายใหญ่ขึ้นเพื่ออวดผลความสำเร็จ" ลี กุน-มิน (Lee Gyun-min) คณบดีแผนกชีววิทยาของสถาบันกล่าว โดยผลการสอบสวนได้รับการยืนยันจากนักวิจัยร่วมทีมคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อสอบถามคิมเกี่ยวกับการปลอมแปลงข้อมูลกลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ
สำหรับการสอบสวนดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีหลังจากนักวิจัยร่วมทีมของคิมแสดงความสงสัยต่อการวิจัย โดยหลังจากพยายามทดลองซ้ำเพื่อพิสูจน์ผลวิจัยกลับประสบความล้มเหลว กระนั้นทางสถาบันต้นสังกัดก็เชื่อมั่นว่านักวิจัยร่วมทีมไม่มีใครมีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้เลย เนื่องจากคิมเป็นผู้เดียวที่ทำการทดลอง แปลผล และรวบรวมภาพและข้อมูลเข้าด้วยกัน
ทว่าขณะนี้นักวิจัยที่โดนกล่าวหาไม่ได้อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในสหรัฐอเมริกา.