"ภาณุพงศ์ พรมพันธ์ใจ" นักเรียนวัย 16 คว้าแชมป์ "รูบิก" รุ่นประชาชนทั่วไป เวทีประลองสมองเอไอเอส ทำเวลาได้ 19.44 วินาที
นายภาณุพงศ์ พรมพันธ์ใจ วัย 16 นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศบดินทรเดชา คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน "รูบิก" (Rubik) รุ่นอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ในกิจกรรม Brain Contest ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งจัดขึ้น ณ AIS Future World สยามพารากอน วันที่ 23 ก.พ.นี้ ซึ่งเขาทำเวลาได้ 19.44 วินาที
ส่วนผู้ชนะเลิศอันดับ 2-3 ได้แก่ นายศราวุฒ ศรีกรวิชญ์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ทำเวลาได้ 21.88 วินาที และนายสุชาติ ไชยกาศ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศบดินทรเดชา ทำเวลาได้ 22.19 วินาที ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันรูบิกระดับมัธยมศึกษาซึ่งผู้ชนะสามารถทำเวลาได้ 13.47 วินาที
สำหรับการแข่งขันรูบิกระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไปนี้เปิดโอกาสให้เข้าแข่งขันได้โดยไม่จำกัดอายุและการศึกษา ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 47 คน โดยผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยสุดคือ 10 ปีและสูงสุดคือ 36 ปี และกว่า 50% ของจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
นายภาณุพงศ์เปิดเผยหลังคว้าแชมป์มาได้ว่าไม่คิดว่าจะทำได้เพราะทุกคนมีความสามารถสูสีกัน ทั้งนี้เขาไม่ลงแข่งในระดับมัธยมศึกษาเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ว่างและต้องเตรียมสอบ แต่หากลงแข่งคงได้แค่อันดับ 4-5 เท่านั้น ทั้งนี้เขาเริ่มเล่นรูบิกมาได้ 6 เดือน โดยมีสถิติเฉลี่ย 23 วินาที และเวลาดีที่สุดคือ 13 วินาที ส่วนเป้าหมายในการเล่นของเขาตั้งไว้ที่ 15 วินาที
ในการแข่งขันรุบิกระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไปนี้มีผู้หญิงเข้าแข่งขันเพียง 3-4 คน โดย นางสาวกฤตยา อุไรเวโรจนากร นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนท์ กล่าวว่าสนใจเล่นรูบิกเพราะมีการออกร้านขายรูบิกในงานสัปดาห์หนังสือที่โรงเรียน จึงเกิดความสนใจและเริ่มเล่นตึ้งแต่ ส.ค.ปีที่ผ่านมา โดยเคยทำเวลาได้ดีที่สุด 22 วินาที ทั้งนี้ตั้งเป้าไว้ที่เวลาประมาณ 10 วินาที
รูปแบบการเรียงสลับเปลี่ยนที่แตกต่างกนทั้งหมดของรูบิกคือ (8!x38 - 1)x(12!x212 -1)/2 = 43,252,003,274,489,856,000 รูปแบบ แต่ในการแข่งขันต้องตั้งโจทย์ (scramble) ให้ผู้แข่งขันทุกคนได้รับโจทย์เช่นเดียวกัน ซึ่ง ด.ช.วัชริศ ศรีสวัสดิ์ และนายกันต์ ศิริมาตย์ กรรมการส่วนหนึ่งในการตั้งโจทย์ระบุว่า ตามมาตรฐานจะตั้งโจทย์หรือทำให้รูบิกมั่วด้วยการบิด 25 ครั้ง โดยอาศัยการคำนวณของคอมพิวเตอร์
"การตั้งโจทย์ก็เพื่อความยุติธรรมโดยการบิดให้รูบิกมั่วเหมือนกัน โดยแต่ละคนก็จะมีวิธีแก้ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ 25 ครั้งถือเป็นมาตรฐานเพราะเกินกว่านี้ก็ไม่ได้มีผลทำให้ยากขึ้นหรือน้อยกว่านี้ก็จะทำให้ง่ายเกินไป" นายกันต์กล่าว ทั้งนี้ในการแข่งขันกรรมการจะใช้กระดาษปิดรูบิกไว้และเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันได้ดู 10 วินาทีก่อนเริ่มการแก้
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Brain Challenge ซึ่งเอไอเอสจัดระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ โดย นางนิธิวดี ทรัพย์พูลเพชร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดโมบายไลฟ์ เอไอเอส กล่าวว่ากิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้เห็นว่าการเล่นเกมไม่ได้มีมุมเดียว และไม่ได้ทำลายสมองหรือทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าเลือกกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองซึ่งการแข่งรูบิกก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ นางนิธิวดี กล่าวว่า AIS Future World ที่สยามพารากอนนี้เป็นแห่งเดียวที่จัดกรรมลักษณะนี้ขึ้น และจะพยายามจัดให้กิจกรรมลักษณะนี้ต่อไป นอกจากการแข่งขันรูบิกแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแข่งขันต่อจิ๊กซอว์ การแข่งขันเกมอูโน่ กิจกรรมทดสอบไอคิว (IQ) เป็นต้น โดยกิจกรรมจะจัดถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้