xs
xsm
sm
md
lg

"กระดาษสากันไฟ" ฝีมือนักวิจัย มช. เตรียมโกอินเตอร์เมืองนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ไปแอ่วเจียงใหม่คราวหน้าอย่าลืมซื้อโคมไฟกระดาษสากันไฟกลับมาเป็นของขวัญของฝากกันนะเจ้า" เพราะเดี๋ยวนี้เขาทำกระดาษสากันไฟกันได้แล้ว จากฝีมือการพัฒนาของนักวิจัย ม.เชียงใหม่ ที่หวังให้กระดาษสาฝีมือคนไทยได้เหินฟ้าไปโกอินเตอร์ในต่างแดน

กระดาษสาและผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาเป็นหนึ่งในสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของภาคเหนือที่นับวันจะมีตลาดกว้างขึ้นและการแข่งขันสูงขึ้น นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงคิดหาวิธีทำให้กระดาษสามีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นแต่คงเอกลักษณ์เดิมไว้ เพื่อการใช้งานที่หลากหลายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างกระดาษสากันไฟสำหรับโคมไฟกระดาษสา

ดร.วิมล นาคสาทา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า กระดาษสาเป็นกระดาษพื้นเมืองของภาคเหนือที่ผลิตด้วยมือและมีความสวยงามเฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำรายได้ให้กับชุมชนโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และนับวันจะมีการผลิตกระดาษสาในหลายท้องถิ่นมากขึ้น จึงอยากจะเพิ่มมูลค่าของกระดาษสาและให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น เลยเป็นที่มาของการพัฒนากระดาษสากันไฟ

"แนวคิดในการทำกระดาษสากันไฟจะต้องเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่รบกวนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของชุมชน และไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาคือหาสารที่มีคุณสมบัติกันไฟได้ และวิธีใส่สารนั้นลงไปในกระดาษ" ดร.วิมล กล่าว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยของ ดร.วิมล ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และใช้เวลา 5 ปี กว่าจะค้นหาสารกันไฟและพัฒนากระดาษสากันไฟได้สำเร็จและมีคุณภาพเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานได้ ซึ่งทีมวิจัยใช้แอมโมเนียมซัลเฟตเป็นสารกันไฟ และเติมลงไปในกระดาษสาผ่านขั้นตอนการตีเยื่อเพื่อทำกระดาษสา

กระดาษสาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียมซัลเฟตที่ความเข้มข้นร้อยละ 3 โดยมวลต่อปริมาตร จะมีลักษณะภายนอกเหมือนกับกระดาษสาทั่วไป มีความเหนียวและทนต่อแรงดึงได้เท่าๆ กัน แต่จะไม่เกิดการลุกไหม้เมื่อติดไฟเหมือนกระดาษสาทั่วไป โดยกระดาษสาทั่วไปจะติดไฟที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส แต่กระดาษสากันไฟจะติดไฟที่อุณหภูมิ 650 องศาเซลเซียส

หากกระดาษสากันไฟติดไฟ ไฟจะไหม้อยู่แค่บริเวณที่เปลวไฟไปถึง จะไม่ลุกลามต่อไปยังบริเวณอื่น แต่หากเป็นกระดาษสาทั่วไปเมื่อติดไฟแล้วไฟจะลุกลามเผาไหม้ไปทั่วแผ่นกระดาษ

ก่อนหน้านี้นักวิจัยทดลองใช้สารอื่นๆ เพื่อทำให้กระดาษสากันไฟได้มาแล้วหลายชนิด เช่น บอแร็กซ์, โซเดียมซิลิเกต ซึ่งช่วยกันไฟได้แต่ทำให้กระดาษแข็งกระด้าง กรอบ และเสียหายง่าย ต่างจากแอมโมเนียมซัลเฟตที่กันไฟได้ดีและไม่ทำให้สูญเสียคุณสมบัติอื่นๆ ของกระดาษสา

คุณสมบัติกันไฟของกระดาษสากันไฟ ดร.วิมล บอกว่าจะช่วยให้โคมไฟกระดาษสาของไทยส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถส่งออกได้เพราะขาดคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้สู้โคมไฟกระดาษสาจากประเทศอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ดี นักวิจัยจะยังศึกษาต่อถึงกลไกการกันไฟของสาแอมโมเนียมซัลเฟตที่เติมลงไปในกระดาษสา และจะพัฒนาต่อไปให้สามารถนำไปใช้ทำวอลล์เปเปอร์และกระดาษรองศีรษะผู้โดยสารบนเครื่องบิน

"อยากเห็นกระดาษสาฝีมือคนไทยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่สู่ต่างชาติบนเครื่องบินโดยสารของสายการบินไทย" ดร.วิมล กล่าว

สำหรับกระดาษสากันไฟขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรโดย สวทช. และเผยแพร่สู่กลุ่มผู้ผลิตกระดาษสา บ้านต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรกแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น