หลายคนคงแอบบ่นในใจทุกครั้งที่ฝนตกในวันทำงาน โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเดินทางไป-กลับ ต้องเผชิญอุปสรรคและปัญหารถติดจนน่าหงุดหงิดใจ ทั้งนี้ "ไลฟ์ไซน์" ได้นำเสนองานวิจัยที่ศึกษาในสหรัฐฯ พบว่าฝนตกในช่วงกลางสัปดาห์มากกว่าสุดสัปดาห์ ทั้งนี้เพราะมลภาวะอากาศที่เกิดจากการจราจรและกิจกรรมรายวัน
การศึกษาดังกล่าวนำโดยธอมัส เบลล์ (Thomas Bell ) นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศของศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) พร้อมคณะ ซึ่งพิจารณาข้อมูลที่ดาวเทียมปฏิบัติการคาดการณ์ฝนตกในเขตร้อน (Tropical Rainfall Measuring Mission ) ของนาซารวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2541-2548 ซึ่งจะได้เปรียบข้อมูลที่รวบรวมจากเกจวัดบนพื้นดินที่มีความแปรปรวนมากกว่า
ทีมวิจัยพบว่าฝนตกเฉลี่ยระหว่างวันอังคารและพฤหัสบดีมากกว่าช่วงวันเสาร์ถึงวันจันทร์ โดยวันที่อากาศแจ่มใสที่สุดของสัปดาห์คือวันเสาร์ ส่วนวันที่ฝนตกมากที่สุดคือช่วงบ่ายวันอังคาร ซึ่งมีปริมาณฝนมากกว่าปริมาณเฉลี่ยเกือบ 2 เท่า
อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มของฝนตกกับข้อมูลภาวะทางอากาศที่บันทึกโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) ซึ่งทีมวิจัยได้ศึกษาเจาะจงเฉพาะอนุภาคเล็กๆ ที่ล่องลอยในอากาศและสัมพันธ์กับมลภาวะ แล้วพบว่าระหว่างปี 2541-2548 นั้นมลภาวะทางอากาศมีแนวโน้มสูงสุดในช่วงกลางสัปดาห์
"หากทั้ง 2 ปัจจัยเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันก็หมายความว่าจะเป็นด้วยสาเหตุอื่นไม่ได้ แต่ทราบกันดีว่าอนุภาคเล็กๆ มีผลกระทบต่อการกระทำของเมฆอย่างมาก และสิ่งที่ประจักษ์ชัดนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นในการเชื่อมโยงระหว่างมลภาวะและฝนตกหนัก" เบลล์กล่าว
เรียกได้ว่าอนุภาคเล็กๆ จากมลภาวะในอากาศเป็น "หัวเชื้อ" (Seeding) ที่ทำให้เมฆโตขึ้น ขณะที่น้ำและน้ำแข็งเกาะติดกับอนุภาค หยดน้ำก็ก่อตัวเพิ่มขึ้น แต่นักวิจัยบางคนก็คิดว่าการเพิ่มขึ้นของมลภาวะนั้นขัดขวางการเกิดฝนโดยทำให้น้ำรอบๆ อนุภาคกระจายออกซึ่งป้องกันการเติบโตของเมฆไม่ให้มากพอที่จะกลายเป็นฝน อย่างไรก็ดีมีการศึกษาอื่นบ่งชี้ว่าบางปัจจัยสามารถเอาชนะผลกระทบจากการกระเจิงนี้ได้ โดยทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ นั้นบางเงื่อนไขที่ทำให้เกิดพายุนั้นก็สำคัญกว่าผลการปะทะเนื่องจากการกระเจิง
เบลล์เผยว่างานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช-แอทโมสเฟียร์ส (Geophysical Research-Atmospheres) ฉบับวันที่ 31 ม.ค.51 ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ถึงผลกระทบของมลภาวะต่อสภาพอากาศ ซึ่งวันหนึ่งอาจช่วยในการปรับปรุงการพยากรณ์ฝนตกได้แม่นยำขึ้น