xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ผู้ดีทำได้อีกแล้วสร้างตัวอ่อนมนุษย์ คนเดียวมี 1 พ่อ 2 แม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี/เอเอฟพี/เอพี - งานวิจัยในตัวอ่อนวินาทีนี้คงไม่มีใครล้ำหน้าไปกว่านักวิทยาศาสตร์เมืองผู้ดี ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไฟเขียวให้สร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์ได้ มาล่าสุดนักวิจัยเปิดเผยผลสำเร็จที่สามารถสร้างตัวอ่อนให้ได้รับดีเอ็นเอมาจาก 3 บุคคล หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีพ่อแม่ 3 คน หวังพัฒนาวิธีนี้ไปสู่การป้องกันการถ่ายทอดพันธุกรรมที่ผิดปกติจากแม่สู่ลูก

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ประเทศอังกฤษ นำเสนอผลการวิจัยสร้างตัวอ่อนที่ได้รับพันธุกรรมมาจาก 3 บุคคล ในการประชุมวิชาการเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท (Neuromuscular Diseases) ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 1-2 ก.พ.51 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยหวังว่าจะพัฒนาไปสู่การทำให้ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มียีนบกพร่องที่ได้รับถ่ายทอดมาจากมารดา มิได้มีเจตนาที่จะสร้างมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมแต่อย่างใด

แพทริก ชินเนอรี (Patrick Chinnery) ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมของระบบประสาท หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า พวกเขาสร้างตัวอ่อนให้มีดีเอ็นเอของบุคคล 3 คน ซึ่งแต่เดิมตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจะมีเพียงดีเอ็นเอที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่เท่านั้น

นักวิจัยทดลองใช้ตัวอ่อนที่เหลือจากการทำเด็กหลอดแก้วจำนวน 10 ตัวอ่อน อายุ 5 วัน ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่อยู่ในไข่ของมารดาที่มียีนในไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ผิดปกติ นำตัวอ่อนไปใส่ในเซลล์ไข่ที่ได้รับบริจาคมาจากหญิงผู้อื่น ซึ่งได้นำเอานิวเคลียสออกไปแล้ว และมีดีเอ็นเอในไมโตรคอนเดรียที่สมบูรณ์ดี

วิธีนี้จะทำให้ตัวอ่อนมีดีเอ็นเอของพ่อและแม่ที่แท้จริงอยู่ในนิวเคลียส และมีดีเอ็นเอของบุคคลที่ 3 อยู่ในส่วนของไมโตคอนเดรีย หรือมีไมโตคอนเดรียที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบุคคลที่ 3 นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียที่ได้รับมาจากหญิงอื่นที่ไม่ใช่แม่ ไม่ได้มีผลต่อบุคลิกลักษณะของทารกที่จะเกิดมาแต่อย่างใด และนักวิจัยยังกล่าวต่อว่าอาจจะไม่ถูกต้องเท่าใดนักหากจะเรียกว่าตัวอ่อนนี้มีพ่อแม่ 3 คน เพราะดีเอ็นเอที่ควบคุมลักษณะเกือบทั้งหมดของร่างกายบรรจุอยู่ในนิวเคลียส ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่โดยตรง

ดังนั้นเด็กที่จะเกิดมาก็จะได้รับถ่ายทอดลักษณะต่างๆ มาจากพ่อและแม่แท้ๆ เท่านั้น แต่จะไม่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของดีเอ็นเอในไมโตคอนเครียในกรณีที่ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียของแม่แท้ๆ ผิดปกติ เนื่องจากได้ย้ายตัวอ่อนไปฝากไว้ในเซลล์ไข่ที่มีดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียปกติดีไว้แล้ว

หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองนักวิจัยได้ทำลายตัวอ่อนที่นำมาทดลองไปหมดแล้วภายใน 6 วัน ซึ่งชินเนอรีกล่าวว่า ในตอนแรกที่เริ่มงานวิจัยหลายฝ่ายก็มีความกังวลว่านี่จะเป็นหนทางไปสู่การสร้างมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมหรือเปล่า

ทว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานวิจัยก็เพื่อหาวิธีที่จะแก้ปัญหาเด็กที่เกิดมาแล้วป่วยอันเนื่องมาจากความผิดปกติของดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียที่ได้รับมาจากแม่ เช่น ความผิดปกติต่างๆ ในระบบประสาท ซึ่งก็พบว่าวิธีนี้อาจจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต ซึ่งงานวิจัยลักษณะเดียวกันนี้ก็เคยมีนักวิจัยญี่ปุ่นทดลองทำในหนูแล้ว ซึ่งก็ได้ลูกหนูเกิดใหม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงอย่างที่คาดไว้

ทั้งนี้ ไมโตคอนเดรียเป็นส่วนที่มีชีวิต (ออร์แกเนล) ชนิดหนึ่งที่อยู่ในเซลล์ มีดีเอ็นเอเป็นของตัวเอง และมีหน้าที่หลักในการสร้างพลังงานให้กับเซลล์ ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรีย ทำให้กลไกการสร้างพลังงานบกพร่อง และเป็นสาเหตุของโรคและอาการผิดปกติต่างๆ มากกว่า 40 ชนิด เช่น หูหนวก ตาบอด โรคลมชัก ตับวาย เส้นเลือดในสมองตีบ กล้ามเนื้อเสื่อม และสมองพิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น