ตัวแทนจาก 29 องค์กรด้านการประดิษฐ์ทั่วโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ พร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่สมเด็จพระเทพฯ ให้เป็นบุคคลพระองค์แรกที่ได้รับรางวัล “นักประดิษฐ์โลก ครั้งที่ 1" จากผลงานที่ทรงสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชในพระองค์ และทรงมีคุณูปการแผ่ไพศาลไปทั่วโลก
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.51 สำนักงานคณะกรรมแห่งชาติ (วช.) แถลงผลการตัดสิน “รางวัลนักประดิษฐ์โลก” หรือ “Global Inventor Awards” ครั้งที่ 1 ซึ่งมีผู้แทนจากองค์กรด้านการประดิษฐ์ทั่วโลกทั้ง 29 องค์กรว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์โลกคนแรกแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์โลก ครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.51 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวว่า ในที่ประชุมของผู้แทนจากองค์กรด้านการประดิษฐ์ทั่วโลกทั้ง 29 องค์กร มีมติเห็นชอบให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์โลกคนแรกแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จากผลงานเรื่องโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชในพระองค์ ซึ่งคณะกรรมการตัดสินมอบรางวัลโดยพิจารณาจากผลงานสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลก
“ทาง วช. ได้พิจารณาผลงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และได้เสนอผลงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลสำเร็จแล้วในที่ประชุม คณะกรรมการพิจารณาก็เห็นว่ารางวัลนักประดิษฐ์โลกน่าจะมอบให้แก่บุคคลที่สร้างนวัตกรรมที่เป็นคุณูปการแผ่กว้างและสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก ซึ่งก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายรางวัลนี้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ศ.ดร.อานนท์ กล่าว
เลขาธิการ วช. กล่าวต่อว่า โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งพระองค์มีพระประสงค์ที่จะอนุรักษ์พันธุ์พืชมากมายในโลกให้คงอยู่ จากที่ค่อยๆ สูญหายไปเนื่องจากการบุกรุก, ทำลาย, ความไม่ใส่ใจต่อธรรมชาติ หรือธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อโลกและประเทศไทย
พระองค์ทรงสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์พืชแก่เยาวชนโดยการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่ผนวกศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งด้านศิลปศาสตร์ ชีววิทยา พันธุศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการ การจัดการ และสังคมศาสตร์ ให้เป็นเครื่องมือสำหรับอนุรักษ์พันธุ์พืช
โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชนี้ถูกนำไปใช้ในโรงเรียนต้นแบบหลายแห่งที่มีสวนพฤกษศาสตร์อยู่ในโรงเรียน โดยครูเป็นผู้ปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์พืชให้กับนักเรียนผ่านศิลปะการวาดภาพพืชพรรณต่างๆ แต่งบทกลอนพรรณนาลักษณะของพันธุ์พืชนั้นๆ คำนวณการแพร่พันธุ์ในอนาคตของพืชที่ปลูกในวันนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของพืช จำนวนเมล็ดพันธุ์ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้ได้ต้นกล้ามากมาย ตลอดจนการตรวจสอบพันธุกรรมพืชเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาพันธุ์พืชต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.อานนท์ กล่าวต่อว่า ผลงานการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา นับเป็นการประดิษฐ์คิดค้นและสร้างนวัตกรรมในด้านการศึกษา การจัดการ อีกทั้งยังมีมิติของกาลเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ และปกป้องโลกให้สืบต่อไปในอนาคต
ทาง วช. จะทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังเพื่อเข้าเฝ้าฯ และกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องการถวายรางวัลนักประดิษฐ์โลกต่อไป
ทั้งนี้โครงการอนุรักษ์พันธ์พืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพิ่งได้รับการทูลเกล้าถวายรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม "สเปเชียลไพรซ์" (Special Prize) สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ เกาหลีใต้ (คิปา : KIPA) ไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา
ส่วนงานวันนักประดิษฐ์โลกครั้งต่อไปยังไม่สรุปแน่ชัดว่าจะจัดขึ้นที่ประเทศใด แต่นานาชาติที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้มีความพึงพอใจอย่างยิ่งและเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ศ.ดร.อานนท์ ก็บอกว่าได้รับไว้พิจารณาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีประชุมเพื่อหาข้อสรุปกันต่อไป