สภาวิจัยแห่งชาติลั่นกลองเปิดงานวันนักประดิษฐ์โลกและวันนักประดิษฐ์ไทยอย่างเอิกเกริก เลขาธิการสภาวิจัยเผยคณะกรรมการนานาชาติกำลังระดมสมองร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพิเศษแด่พระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสการจัดงานครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมเชิญประชาชนทั่วไปร่วมชมนิทรรศการ และการสัมมนาวิชาการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
วันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีถือเป็นวันนักประดิษฐ์ของเราคนไทยทุกคน เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย จากผลงาน "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" ที่รู้จักกันดีในนาม "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นในพระองค์ที่มีการจดสิทธิบัตรไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 เป็นการออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2537 ได้มีมติกำหนดให้มีการจัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นเป็นประจำทุกปีจนดำเนินมาถึงการจัดงานครั้งที่ 12 ในปีนี้
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ประธานสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (ไอเฟีย) ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเฟียคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup)และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสเดียวกัน ผอ.สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ เกาหลีใต้ (คิปา : KIPA)ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่พระองค์ โดยทั้ง 2 องค์กรทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลให้แด่ผลงาน "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ผลงานเรื่อง "ทฤษฎีใหม่" และผลงานเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แม่งานการจัดงานนักประดิษฐ์ของทุกปี เผยว่า นานาชาติยังพิจารณาให้มีการจัดงานวันนักประดิษฐ์โลกขึ้นในวันเดียวกันของทุกปีตามประเทศไทยซึ่งเป็นชาติแรกที่มีการจัดงานวันนักประดิษฐ์ของตัวเองขึ้นในเวลาดังกล่าวด้วย และนานาชาติยังได้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ
การจัดงานในปีแรกจึงให้เกียรติประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานและการประกวดสุดยอดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นครั้งแรก โดยรางวัลดังกล่าวเทียบได้กับรางวัลโนเบลในเชิงสิ่งประดิษฐ์ทีเดียว
ขณะที่การจัดการประกวดในปีถัดๆ ไปจะเวียนไปจัดยังชาติสมาชิกอื่นๆ ของไอเฟียจากทั้งหมด 84 ประเทศ กล่าวได้ว่าเป็นเกียรติสูงสุดและเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยมี 155 ผลงานจาก 29 องค์กรวิจัยและการประดิษฐ์ใน 27 ชาติสมาชิกไอเฟียมีความพร้อมส่งผลงานเข้าประกวดในปีนี้ ซึ่งจะมีการประกาศผลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในวันที่ 5 ก.พ.51
"ที่สำคัญ เวลานี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินานาชาติยังมีการประชุมร่วมกันเพื่อที่จะทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพิเศษแด่องค์ในหลวงของเราด้วย”
“ผมยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด แต่จะมีแน่นอน นอกจากนั้นในวันที่ 4 ก.พ.ผมและคณะกรรมการท่านอื่นๆ ยังจะหารือกันเพื่อวางหลักเกณฑ์การตัดสินรางวัลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์โลก รวมถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อมารองรับรางวัลนี้ ซึ่ง วช.เสนอชื่อรางวัลว่าโกลบอล อินเวนเตอร์ อวอร์ด (Global Inventor Award) แต่ก็ยังไม่สรุปว่าจะใช้ชื่อใดกันแน่ แต่คาดว่าเที่ยงๆ ของวันที่ 4 ก.พ.ก็น่าจะทราบผลได้แล้ว" เลขาธิการ วช.กล่าว
นอกจากนี้ การจัดงานวันนักประดิษฐ์โลกนี้ยังเป็นโอกาสเดียวกับที่อีก 7 ชาติที่มีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นที่เด่นชัด อาทิ จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้นำผลงานสิ่งประดืษฐ์ภายในประเทศของตนมาตัดสินสุดยอดรางวัลประดิษฐ์คิดค้นประจำชาติด้วย
ในส่วนของไทยซึ่งปกติจะจัดงานวันนักประดิษฐ์อยู่แล้วจะมีการมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2550 -2551 แก่นักวิจัยและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ก.พ.51 ณ ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการในเวลา 17.00 น.ของวันเดียวกัน
สำหรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภทนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในรอบปี 2550 มอบให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานดีเด่น และมีจริยธรรม เป็นที่ยอมรับ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักวิจัยรุ่นหลัง มี 6 รายจาก 6 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาปรัชญา สาขานิติศาสตร์ และสาขาการศึกษา
รศ.ดร.ธวัชชัย ตัณฑุลานิ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2550 จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติครั้งนี้ อันจะถือเป็นแรงกระตุ้นให้สร้างสรรค์งานวิจัยต่อไป โดยเฉพาะการนำงานวิจัยเครื่องอิเล็กโทรดที่มีความเลือกจำเพาะต่อซิลเวอร์ไอออนไปขยายต่อในงานวิจัยสาขาอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปะจำปี 2550 จากศิริราชพยาบาล ก็ได้รับคำแนะนำว่าน่าจะใช้องค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นไปใช้กับการตรวจหาโพแทสเซียมในกล้ามเนื้อที่มีความเกี่ยวพันกับสมดุลของกระแสประสาทในร่างกาย ซึ่งคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณน้อยกว่าคนภาคอื่นๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน การประกาศผลรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2550 ยังมอบรางวัลให้แก่ผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2550 จำนวน 13 รางวัล อาทิ งานวิจัย "การจำลองเชิงคณิตศาสตร์ของการไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดสู่หัวใจที่ผ่าตัดบายพาส" โดย รศ.ดร.เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 งานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับยอดเยี่ยมในการประกาศผลรางวัลครั้งนี้
ส่วนรางวัลวิทยานิพนธ์ประจำปี 2550 มอบให้แก่ผลงานจำนวน 26 ชิ้น และรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2551 มอบให้แก่เจ้าของผลงาน 25 ผลงานใน 4 สาขา คือ ด้านพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม
นายวัชระ เกาะแก้ว เจ้าของรางวัลชมเชยผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้จะได้รางวัลชมเชย แต่ก็ภาคภูมิใจเพราะเป็นรางวัลที่ตัดสินมาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการพิจารณามาอย่างดีแล้ว
ที่ผ่านมา ตัวนายวัชระเองก็มีความมุ่งมั่นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เรื่อยมา และหวังจะได้รางวัลนี้มาโดยตลอด จนมาประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเครื่องตรวจสอบการรั่วของคลื่นไมโครเวฟแบบพกพา ราคาเครื่องละ 500 บาท ซึ่งเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการตรวจวัดการรั่วไหลของคลื่นไมโครเวฟจากเตาไมโครเวฟตามครัวเรือนได้อย่างสะดวก ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง อาการหน้ามืดวิงเวียน การเกิดโรคต้อกระจก ภาวะเป็นหมันชั่วคราวในผู้ชาย และอาการแท้งบุตรจากการสะสมคลื่นไมโครเวฟในเพศหญิง
"ภายในงาน ตั้งแต่วันที่ 2-5 ก.พ.51 เรายังจะมีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยร่วมกว่า 600 ชิ้น รวมไปถึงผลงานที่นานาชาติได้นำเข้าร่วมจัดแสดงอีกอย่างน้อย 155 ชิ้นงาน ซึ่งผลงานของคนไทยที่เด่นๆ เช่น ลูกบอลดับเพลิงที่เคยได้รับรางวัลระดับโลกและมีบริษัทรับไปผลิตจำหน่ายแล้ว ส่วนอีกชิ้นคือแผ่นกรองอากาศชีวภาพฝีมือนักประดิษฐ์ไทย ซึ่งดักจับเชื้อก่อโรคต่างๆ ได้ ตอนนี้มีวางจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ" รศ.ดร.อานนท์ เสริม
ขณะที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ปาฐกถาในโอกาสการมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2550 ว่า การจะผลักดันงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นไปสู่จุดที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอภายใต้งบประมาณชาติที่มีอยู่จำกัดต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไข 3 ประการ
ประการแรกคือ การผลักดันจากรัฐบาลและรัฐสภา โดยความร่วมมือของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ ประการที่สอง ระบบการบริหารจัดการการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ และประการที่สาม ตัวงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เอง ซึ่งผู้พัฒนาต้องมีการบริหารจัดการสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นอย่างดี
สำหรับการจัดงานวันนักประดิษฐ์ 2551 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 -5 ก.พ.2551 ณ ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยภายในงานยังมีการสัมมนาวิชาการหลายหัวข้อ อาทิ เรื่อง "แนวทางการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เชืงพาณิชย์" ตลอดจนการฝึกอบรมอาชีพ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย