ผู้ปลูกพริกหวานรายใหญ่ จ.ลำพูนนำระบบให้น้ำให้ปุ๋ยอัจฉริยะลงแปลงปลูกไฮโดรโปรนิค พร้อมจับมือสำนักนวัตกรรมฯ ส่งนักวิจัยล้านนาพัฒนาระบบขึ้นเอง คาดปลายปีจะได้ต้นแบบราคาประหยัด ถูกลงเกือบครึ่ง เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรรายอื่นนำไปใช้เพิ่มผลิตภาพในแปลงเกษตร
"ยุคดิจิตอล" ไม่ว่าอะไรๆ ก็มีเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ดีขึ้นผิดหูผิดตาไปซะหมด ยิ่งนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร (Agritronic) มาเสริมการผลิตพืชผลการเกษตรในประเทศกสิกรรมอย่างไทยแล้วก็น่าสนับสนุนยิ่ง
นายอภิพันธ์ ภู่ภักดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บ.ล้านนาโอเรียนตัลไฮโดรโปรนิค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตพริกหวานรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่บริษัทได้เปลี่ยนวิธีปลูกพริกหวานไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปรนิคซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลัก มาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้น้ำ ผสมสูตรปุ๋ย และแจกจ่ายไปตามโรงเรือนตาข่ายแล้ว ก็พบว่าช่วยลดต้นทุนด้านกำลังคนได้ถึง 10% แรงงานที่เหลือจึงไปทำงานอื่นๆ ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ บ.ล้านนาโอเรียนตัลไฮโดรโปรนิค จำกัด ได้เริ่มกิจการปลูกพริกหวานแบบดั้งเดิมในเขต อ.แม่ทา จ.ลำพูน มาตั้งแต่ปี 27 เริ่มนำการปลูกพริกหวานด้วยระบบไฮโดรโปรนิคมาตั้งแต่ปี 41 ก่อนขยับขยายไปสู่การนำเข้าระบบให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติจากประเทศอิสราเอลมาใช้เมื่อปี 47 นำร่องในพื้นที่ปลูกประมาณ 10,000 ตร.ม.จากพื้นที่ปลูกรวม 40,000 ตร.ม.
ระบบดังกล่าวสามารถตั้งโปรแกรมให้น้ำและปุ๋ยได้ตามต้องการ ซึ่งพริกหวานแต่ละวัยจนถึงอายุ 8 เดือนจะต้องการสารอาหารไม่เท่ากัน โดยเครื่องสามารถทำได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ ทำให้ทราบค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างคงที่ในแต่ละเดือน
อุปกรณ์ที่ว่า 1 เครื่องสามารถออกแบบเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกพริกหวานได้ 100,000 ตร.ม. อย่างไรก็ดี แม้จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตพริกหวานดีขึ้นจากผลผลิต 10 กก./ตร.ม.ไปเป็น 12 กก./ตร.ม. แต่ยังมีราคาขั้นต่ำสุด 400,000 บาท/เครื่อง จึงยากที่จะขยับขยายให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกหวานในเครือข่ายราว 50 รายใช้ตามได้ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาระบบดังกล่าวตามแบบวิศวกรรมย้อนรอยขึ้นโดยฝีมือคนไทย
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงเข้าสนับสนุนด้านวิชาการจำนวน 370,000 บาท จากมูลค่าการลงทุน 620,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 ปี ระหว่าง ธ.ค.50 -ธ.ค.51
ในการสนับสนุนดังกล่าวมี ดร.ธนจักร วาวแวว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ เป็นผู้พัฒนาระบบที่ประกอบด้วยชุดควบคุมสั่งการทำงานของปั้มน้ำ ผสมปุ๋ย ใช้เซ็นเซอร์วัดส่วนผสมของปุ๋ย และมีเครื่องบันทึกการให้น้ำและปุ๋ยตลอดเวลา คาดว่าจะได้ต้นแบบที่มีราคา 300,000 บาทใน พ.ย.51
นายอภิพันธ์ ชี้ว่า นอกจากทางบริษัทและเกษตรกรเครือข่ายจะได้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถนำระบบนี้ไปใช้กับแปลงปลูกพืชผักอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย