หากคุณมีโลกส่วนตัวสูง...ปรี๊ด...และนิยมชื่นชมสิ่งรอบตัวเพียงลำพังแล้ว "พิพิธภัณฑ์อัจฉริยะ" อาจเป็นคำตอบหนึ่งที่ตอบสนองคุณได้ ด้วยรูปแบบการนำเสนอข้อมูลแบบไม่ต้องมีไกด์ เพียงแค่มีอุปกรณ์สมองกลฝังตัวที่พร้อมให้ข้อมูลในทุกก้าวที่คุณเดิน เท่านี้อิสระที่จะท่องพิพิธภัณฑ์ในทุกมุมที่สนใจก็เป็นของคุณ
"พิพิธภัณฑ์อัจฉริยะ" คือชื่อเรียกระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ทีพัฒนาขึ้นด้วยระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ซึ่งเป็นระบบที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีฝังอยู่โดยใช่เทคโนโลยีการเขียนซอฟต์แวร์ฝังในไมโครชิป โดยระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นี้มีอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งระบบรับสัญญาณจะเก็บข้อมูลต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ลงในหน่วยความจำ เมื่อผ่านตัวส่งสัญญาณซึ่งระบุเป็นเพียงหมายเลขจะคล้ายเป็นการเปิดข้อมูลของหมายเลขนั้นๆ ในเครื่องรับสัญญาณ โดยสามารถแสดงข้อมูลเป็นตัวหนังสือและเสียงได้ใน 3 ภาษาคือไทย อังกฤษและญี่ปุ่นซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ นอกจากนี้ยังมีการทำงาน 2 โหมดคือ Preview mode ซึ่งจะให้ข้อมูลแบบย่อๆ และ Tour mode ที่บรรยายข้อมูลอย่างละเอียด
ระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นตัวแบบที่ผู้เข้าอบรมทั้ง 14 คน ในโครงการ "การพัฒนาบุคลากรทางด้านระบบสมองกลฝังตัว" (Embedded Systems Training Alliance for Thai Engineers: ESTATE) ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ซึ่ง น.ส.นิธิมา เหล่าบุญเจริญ ผู้ฝึกอบรมอธิบายว่าในการทำงานครั้งนี้มีการทำงาน 3 ขั้นตอนคือการออกแบบด้านเอกสาร ซึ่งเป็นการรับข้อมูลความต้องการของลูกค้า จากนั้นก็เข้าสู่การออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ซึ่ง 2 ขั้นตอนหลังนั้นเป็นการออกแบบภายในที่ลูกค้าไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว
ส่วนเหตุผลที่เลือกพัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นั้น นายฉัตรชัย วัชรปัญญาวงศ์ ผู้เข้าฝึกอบรมอีกคนแจงว่า เนื่องจากเป็นโจทย์จากอาจารย์ผู้ฝึกอบรมทั้งชาวไทยและญี่ปุ่น และระบบดังกล่าวเริ่มมีใช้แล้วในต่างประเทศแต่อยู่ในรูปการกดหมายเลขฝากรายละเอียดของสินค้า ทั้งนี้จากเทคโนโลยีแบบไร้สาย (wireless) ที่ก้าวหน้าขึ้นจึงมองลงไปว่าจะออกแบบอุปกรณ์ช่วยให้คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีคนคอยอธิบาย ซึ่งอุปกรณ์รับจะมีหน่วยความจำแบบแฟลชเมโมรี (flash memory) และเมื่อเครื่องรับสัญญาณผ่านเครื่องส่งสัญญาณที่เรียกว่า "แลนด์มาร์ก" (landmark) ซึ่งส่งข้อมูลเป็นตัวเลข 1,2,3... แล้วเครื่องรับจะนำข้อมูลของหมายเลขนั้นๆ ออกมา
แนวทางการพัฒนาต่อไปของระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นี้ นายฉัตรชัยเผยว่าอยากพัฒนาให้ระบบสามารถใช้งานให้เกิดผลได้จริงๆ และรูปแบบการใช้งานที่ต้องให้ผู้ใช้บริการถือเครื่องรับซึ่งบรรจุข้อมูลติดตัวไปด้วยนั้น ต่อไปจะพัฒนาไปเป็นการเก็บข้อมูลลงเซิร์ฟเวอร์แล้วอาศัยเทคโนโลยีแบบไร้สายส่งข้อมูล รวมทั้งพัฒนาการนำเสนอข้อมูลในรูปของภาพประกอบเสียงด้วย พร้อมกันนี้เขาได้กล่าวถึงกระบวนการทำงานที่ได้จากการอบรมว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นเอกสาร ซึ่งทำให้ประหยัดเวลาในการพัฒนาโดยใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนและยังสามารถนำแบบไปว่าจ้างให้ผู้อื่นผลิตให้ แล้วนำเวลาที่เหลือมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นต่อไปได้
ผู้เข้าอบรมซึ่งพัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 2 ในโครงการ ESTATE โดยภายในเดือน ม.ค.นี้ทั้งหมดจะเดินทางไปฝึกงานทางด้านวิศวกรรมที่บริษัทเอกชนหลายแห่งในญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี และสำหรับเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวนั้นเป็นเทคโนโลยีที่พบได้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น และไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้จำนวนมาก