xs
xsm
sm
md
lg

‘มั่น’ดันบรอดแบนด์ไร้สาย HSPA ผ่าทางตันก่อนทีโอที/กสทล่มสลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.ไอซีที ‘มั่น พัธโนทัย’โชว์แนวคิดแก้ปัญหาสัญญาร่วมการงาน,รายได้ทีโอที/กสทที่ตกต่ำ,การเกิดสุญญากาศไลเซนส์ 3G ทำให้ประเทศไม่พัฒนาด้านโทรคมและอินเทอร์เน็ต เดินหน้าผลักดันทีโอที/กสท จับค่ายมือถือดีแทค เอไอเอส ทรูมูฟ เป็นพันธมิตรให้บริการไวร์เลส บรอดแบนด์ HSPA พร้อมลุยอีก 2 นโยบายหลัก ปั้นซอฟต์แวร์คอนเทนต์ให้มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทและเร่งผลักดันกม.เกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมเปิดรายชื่อบอร์ดทีโอที/กสท

นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในชั่วโมงกาแฟหรือ Coffee Hour วานนี้ (17มี.ค.) จะสั่งการให้ผู้บริหารของบริษัท ทีโอทีกับบริษัท กสท เร่งประชุมและหารือร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้สัมปทานทั้งดีแทค เอไอเอส และทรูมูฟในการลงทุนพัฒนาบริการใหม่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย (wireless broadband) ด้วยคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่ในเทคโนโลยี HSPA ที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยีระบบGSM เดิม

‘การลงทุนไวร์เลส บรอดแบนด์ จะช่วยแก้ปัญหาให้ทั้งทีโอที กสท บริษัทมือถือทั้งหมดในระหว่างที่เกิดสุญญากาศเรื่องไลเซนส์มือถือ 3G’

ในด้านทีโอทีกับ กสท จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ดึงเอกชนที่มีศักยภาพด้านการให้บริการไม่ว่าจะเป็นดีแทค เอไอเอส ทรูมูฟ เข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หรือ Strategic Partner เพื่อไม่ให้ขัดต่อพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 เพราะไม่ได้เป็นการแก้สัญญาร่วมการงานหลัก โดยผู้บริหารและฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาโครงสร้างและรูปแบบการให้บริการร่วมกันอย่างรอบคอบโดยเชื่อว่าเอกชนก็พร้อมลงทุนเต็มที่เพราะต้นทุนการติดตั้งเพิ่มจาก GSM base station อยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อสถานีเท่านั้น   

‘ถ้าปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดอายุไป ทีโอทีกับกสท ก็จะไม่เหลืออะไร เพราะลูกค้าก็จะถูกโอนไปเป็นของเอกชนหมด ทางรอดของทั้ง 2 หน่วยงานคือต้องดึงเอกชนเป็นพันธมิตรเอาไว้’

นายมั่นกล่าวว่า ได้หารือและศึกษางานจากนักวิชาการที่ปรึกษาและอดีตข้าราชการในวงการโทรคมนาคม และคนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะเป็นนายสิทธิชัย โภไคยอุดม นายไกรสร พรสุธี นายดิเรก เจริญผล นายรอม หิรัญพฤกษ์ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ต่างมีความเห็นร่วมกันว่าวันนี้เกิดสุญญากาศในการพิจารณาคลื่นความถี่มานานแล้ว แต่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจการลงทุนต้องเดินหน้าทุกวันจึงไม่สมควรปล่อยให้สัมปทานบริษัทมือถือหมดลง โดยไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะรายได้หลักของทีโอทีและ กสท ลดต่ำลงต่อเนื่องและการพัฒนาบริการใหม่ก็ช้าจึงมีแนวโน้มที่ศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยจะแย่ลงไปด้วย

ทั้งนี้ นโยบายเรื่องพัฒนาบริการไวร์เลส บรอดแบนด์ถือเป็นหนึ่งในสาม ภารกิจเร่งด่วนที่รมว.มั่นต้องการสร้างให้เกิดโดยเร็ว โดยไวร์เลสบรอดแบนด์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเป็นอินฟราสตรักเจอร์หรือเป็นทางด่วนสายหลัก ที่จำเป็นต้องมีรถหรือคอนเทนต์หรือซอฟต์แวร์มาวิ่ง ภารกิจที่สองคือการปั้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตจนมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาทจากปัจจุบันธุรกิจด้านนี้ของไทยมีมูลค่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยน้อยมาก เพราะขาดอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งๆ ที่บุคลากรมีศักยภาพสูงซึ่งกระทรวงไอซีทีจะเข้าไปสนับสนุนเครื่องมือให้คนไทย และประสานงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องการจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรต่างๆ ด้วย

ส่วนภารกิจที่สามคือการเร่งรัดในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีมากว่าปีแล้ว โดยกระทรวงไอซีทีกับเนคเทคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ยังไม่เรียบร้อยดี เช่น เรื่อง E-signature law, E-contract law รวมไปถึงบทกำหนดโทษ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนและธุรกิจในยุค paperless

‘ผมจะเข้าไปประสานงานทั้งในส่วนเนคเทคและกทช.หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในเรื่องที่คั่งค้างอยู่ เพื่อให้เดินหน้าต่อได้แม้ในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน ก็ต้องหาทางออกที่ดีที่สุด’

สำหรับเทคโนโลยี HSDPA(Hi Speed Downlink Pocket Access) เป็นหนึ่งในพัฒนาการบนพื้นฐานระบบ GSM  (GSM, EDGE, WCDMA, HSDPA, HSUPA) นอกจากนี้กว่า 86% ของ Mobile Market Share ของโลกอยู่ใน GSM Family และปัจจุบัน  316 GSM-Family Networks ได้ถูกนำไปใช้ใน 147 ประเทศ ด้วยจำนวน 190 เน็ตเวิร์กโดยใน 83 ประเทศเป็นเทคโนโลยี  WCDMA ส่วน 154 เน็ตเวิร์ก ใน 71 ประเทศเป็น HSDPA

รายชื่อบอร์ดทีโอที กสท
สำหรับรายชื่อบอร์ดทีโอทีกับบอร์ดกสทอย่างไม่เป็นทางการประกอบด้วยรายชื่อบอร์ดทีโอที1. ธีรวุฒิ บุณยะโสภณ ประธานบอร์ดทีโอที อดีตอธิการบดีม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ 2. พล.ท.วิทวัส รัชตะทรัพย์ ผอ.ศูนย์พัฒนากิจการอวกาศ กลาโหม3. ระเฑียร ศรีมงคล ผู้ช่วยกก.ผจก.ใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวงไทย 4. วรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงไอซีที5. พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนะพร อดีตรองประธานบอร์ดทีโอที6. วิชัย ศรีขวัญ อธิบดีกรมการปกครอง 7. พล.ต.ชวลิต ไกรสมสาตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 8. ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ ผอ.สำนักพัฒนาขีดความสามารถ สภาพัฒน์ฯ 9. นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ กก.ผจก.บริษัทเอกชน10.เข็มชัย ชุติวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีล้มละลาย และ11.วิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ รองอธิบดีกรมศุลกากร

ส่วนรายชื่อบอร์ดกสท ประกอบด้วย1. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ด กสท2. เสกสรรค์ รอยลาภเจริญพร อดีตรองกจญ.3. นิธิศ มงคลพัฒนกุล อดีตอัยการพิเศษ4. พล.อ.ทนงศักดิ์ ตุวินันทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิบก.สส.5. พล.ต.ท.พงศ์พัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผบ.ตร.6. พรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอธิบดีอัยการแผนกคดีอาญา 7. ธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที 8. พิศาล จอโภชาอุดม กก.ผจญ.กสท9. อาคม เติมพิทยาไพศิษฐ์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ10. ผศ.ปรีชา อ่องอารี อธิการบดี ม.พระจอมเกล้า พระนครเหนือ และ11.จิตเกษม งามนิล อดีตรองอธิการบดี ม.เทคโนโลยีมหานคร

Company Related Links :
MICT
กำลังโหลดความคิดเห็น