"ดีแทค ทรูมูฟ" ตีปีก “มั่น” หนุน กสท เร่งแปรสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาเช่า เพื่อประคองรายได้หลัก ให้เร่งดำเนินการก่อน กทช. ออกใบอนุญาตใหม่ ลั่นเคลียร์ปัญหาขายไทยโมบาย จบใน 3 เดือน ด้านทรูมูฟยอมถอนฟ้องจาก กทช. เพราะ กสท ยอมต่อรองยืดอายุสัญญาสัมปทาน
นายมั่น พันธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีสนับสนุนให้บริษัท กสท โทรคมนาคม เร่งดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาเช่า กับบริษัท ทรูมูฟ ที่เหลืออายุสัญญาอยู่เพียง 5 ปี และสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2556 กับ บริษัท โทลเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัญญาในอีก 10 ข้างหน้า
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัท เป็นคู่สัญญาที่ดีของกสทมาโดยตลอด และเป็นการรักษารายได้จากค่าสัมปทานที่มีสัดส่วน 55 % ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ กสท โดยเรื่องดังกล่าวควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะหากอนาคตเกิดมีการให้ใบอนุญาตใหม่จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็จะส่งผลเสียต่อ กสท เพราะเอกชนทั้ง 2 รายจะทิ้งสัมปทานเดิมไปขอใบอนุญาตใหม่
“ผมยินดีให้การสนับสนุนการแปรสัญญาสัมปทานหรือการต่ออายุสัมปทานของ ทรูมูฟ และดีแทค และต้องการให้ดำเนินการโดยเร็วเพราะเอกชนต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้สำหรับการวางแผนธุรกิจและการกู้เงินเพื่อลงทุน อีกทั้งเป็นการรักษารายได้ของ กสท และพันธมิตรร่วมค้าที่เข้มแข็งเอาไว้ โดยการดำเนินการดังกล่าวผมได้ให้นโยบายยึดประโยชน์ของรัฐ กสท และเอกชน หรือ 3 WIN เป็นหลัก”
ส่วนเรื่องการอัพเกรดคลื่นความถี่ 850 MHz เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ กสท ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรเดิมของกสท ก็ยินดีร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นเนื่องจาก เป็นผลดีต่อ กสท ในระยะยาว ที่ผ่านมาคลื่นดังกล่าวถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ทั้งที่ไม่มีการใช้งาน
นายมั่นกล่าวถึงกรณีที่เข้าเยี่ยมเพื่อขอข้อมูลแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารระดับสูงของ กสท เมื่อวันที่ 7 ก.พ.51 ที่ผ่านมาว่า มีปัญหา 3 เรื่อง ที่กสท เสนอมาล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งสิ้น ซึ่งประกอบด้วยเรื่องการซื้อขายหุ้น กิจการร่วมค้า ไทย-โมบาย ที่บอร์ด กสท ชุดที่ผ่านมา ได้ยืนยันราคาขายที่ 2,400 ล้านบาทของมติบอร์ดเมื่อปี 2547 และเรื่องคาดว่าจะสามารถเร่งดำเนินการหาข้อสรุปเรื่องนี้ภายใน 3 เดือน
ส่วนเรื่องข้อพิพาท กับบริษัท หัวเหว่ย กรณีส่งมอบสถานีฐาน ซีดีเอ็มเอ 51 จังหวัดล่าช้า ขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล ที่ผ่านมาตนได้หารือกับเอกอัครราชฑูตจีนให้ เจรจากับหัวเหว่ยให้เขียนข้อเสนอที่ต้องการส่งมาถึงตน และหลังจากนั้นตนจะนำข้อเสนอที่ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อจบปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยเรื่องนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างประเทศ สำหรับเรื่องการต่อสัญญาดีแทคและทรูมูฟนั้นตนพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่
นายมั่นกล่าวอีกว่า ตนจะแต่งตั้งบอร์ดร่วม ระหว่าง กสท และทีโอที หลังจากที่แต่ตั้งบอร์ดทีโอทีแล้วเสร็จแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างกันเพื่อแก้ปัญหาของทีโอทีได้ง่ายขึ้นและมั่นใจว่าบอร์ดร่วมในสมัยตนจะทำงานร่วมกันได้ดีไม่เหมือนบอร์ดร่วมในรัฐบาลที่ผ่านๆมา นอจากนี้ ยังมีแผนนัดหารือกับประธานบอร์ดทีโอที และ กสท พร้อมด้วยผู้บริหารเบอร์หนึ่งของทั้ง 2 บริษัท ทุก ๆ 2 สัปดาห์ และจะนัดประชุมผู้บริหารกระทรวงฯทุกพุธของสัปดาห์
แหล่งข่าวจากกทช.กล่าวว่า ทรูมูฟ ได้ทำหนังสือแจ้งกทช. เพื่อขอถอนเรื่องการขอเข้าใช้คลื่นความถี่แทนที่เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แทนที่กสท ในช่วงคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิตรซ์ และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่กสทได้รับจัดสรรมาตั้งแต่ในอดีต และได้นำช่วงคลื่นความถี่ดังกล่าว มาให้ดีแทคเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแทนกสทภายใต้สัญญาร่วมการงาน
สาเหตุที่ทรูมูฟขอถอนเรื่องจากกทช. เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอขอเช่าใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ทรูมูฟโอนให้ หรือข้อเสนอต่อสัญญาสัมปทานออกไปให้เท่ากับดีแทค จากเดิมสัญญาสัมปทานทรูมูฟจะสิ้นสุดในปี 2556 ขณะที่สัญญาสัมปทานดีแทคสิ้นสุดปี 2561 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขัน
นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า สัญญาสัมปทานของ ทรูมูฟ และดีแทคกำลังใกล้จะหมดสัญญา โดยขณะนี้กสท กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนทั้ง 2 รายปรับสัญญาสัมปทานเดิมเป็นสัญญาเช่าแทน โดยกสท จะรับเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการโครงข่ายเองทั้งหมด และจะดำเนินการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชน และ กสท โดยอัตราค่าเช่าโครงข่ายรวมไปถึงอายุสัญญาเช่าของทั้ง 2 บริษัท จะต้องเท่าเทียมกัน โดยการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อเป็นการรักษารายได้จากสัมปทานซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ ทีโอที เอาไว้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะบรรลุจุดประสงค์หรือไม่จำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
นายบูรณ์ ทรัพย์สาร ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีแนวโน้มประสบผลสำเร็จสูง เพราะสัญญาเดิมของเอกชนใกล้หมด ประกอบกับเอกชนไม่ต้องการลงทุนในใบอนุญาตใหม่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ ทรูมูฟที่อายุสัญญาเหลือเพียง 5 ปี และมีเงินลงทุนอย่างจำกัด ทั้งสัมปทานเดิมเอกชนไม่มีสิทธิในโครงข่ายเมื่อหมดสัมปทานโครงข่ายเดิมก็ต้องตกเป็นของกสท ประกอบกับการลงทุนครั้งใหม่กับกสท ยังช่วยให้เอกชนลงทุนระบบ 3 จีได้เร็วกว่าการของใบอนุญาตจาก กทช.
Company Related Links :
MICT