xs
xsm
sm
md
lg

จากน้ำสำรองสู่แคปซูลเสริมภูมิคุ้มกัน "พุงทะลาย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากน้ำสำรองที่หลายคนใช้เป็นสูตร "ทะลายพุง" ล้ออีกชื่อเรียกของพืชประจำถิ่น จ.จันทบุรี ล่าสุดนักวิจัย วว.พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแคปซูลเพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เอกชนแล้ว คาด 1,000-2,000 เม็ดแรกผลิตได้ใน 1-2 เดือน

ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเสริมอาหารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายจากพุงทะลายให้แก่ บริษัท ศรีสิงหรา จำกัด ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น ภายใต้ชื่อทางการค้า Scamulan โดยจะผลิตสู่ตลาดได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการขอการรับรองจาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ทางด้าน นางฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ผู้ทำวิจัยพัฒนาผลิภัณฑ์อาหารเสริมจากพุงทะลายระบุว่า ทางสถาบันได้ศึกษาสมุนไพรชนิดนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว เนื่องจากมีการส่งออกไปยังจีนเพื่อใช้เป็นยาแก้ร้อนในจำนวนมาก จึงได้ศึกษาว่าพุงทะลายมีสารประกอบอะไรบ้าง จนกระทั่งทางสถาบันได้เริ่มโครงการพัฒนาอาหารเสริมเพื่อบำรุงตับ ต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน จึงได้นำพุงทะลายไปร่วมศึกษาพืชในโครงการอาหารเสริมภูมิคุ้มกันและพบว่าออกฤทธิ์ดีที่สุด จากนั้นได้ใช้เวลา 5 ปีพัฒนาจนออกมาเป็นอาหารเสริมในรูปแคปซูล

"จากการศึกษาความปลอดภัยในแง่การเป็นพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรังและฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งอาหารเสริมจากพุงทะลายนี้มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทั้งนี้เหมาะกับผู้มีร่างกายปกติทั่วไปแต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์และผู้เป็นภูมิแพ้เพราะบุคคลในกรณีหลังนั้นมีภูมิที่ไวซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น" นางฉันทรากล่าว พร้อมระบุว่าหากรับประทานอาหารเสริมนี้ควรรับประทาน 7 วันแล้วเว้นไป 7 วันเนื่องจากในปริมาณดังกล่าวสมุนไพรมีฤทธิ์ต่อเนื่องไป 7 วัน

ด้วยฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันนี้จึงได้มีการต่อยอดโครงการอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) โดยวิจัยเพื่อหาผสมกับสมุนไพรชนิดนี้ อาทิ กะเพรา ขมิ้นชัน เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลาเนื่องจากต้องดูว่าการผสมกันของสมุนไพรจะเปลี่ยนรูปแบบการออกฤทธิ์หรือไม่ รวมทั้งการทดลองทางคลีนิกกับผู้ป่วยด้วย โดยมีระยะเวลาโครงการใหม่ 6 ปีซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2550

ส่วนพุงทะลายจะมีฤทธิ์ช่วยลดพุงหรือไม่นั้น นางฉันทนาให้ความเห็นว่าด้วยคุณสมบัติที่พองตัวเมื่อสัมผัสน้ำทำให้ผู้บริโภคอิ่มง่ายและรับประทานได้น้อยลง แต่จากการทดลองสอบในห้องปฏิบัติการยังไม่พบกลไกในการสลายไขมัน พร้อมเสริมข้อมูลว่าพุงทะลายมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ชาวจันทบุรีเรียกว่าลูกสำรอง ส่วนชาวอุบลราชธานีเรียกว่าหมากจอง เป็นต้น

ทางด้าน นางอรนารถ เชิดชูชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีสิงหรา จำกัด ซึ่งรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารเสริมจากพุงทะลายกล่าวว่า เดิมทางบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่พัฒนาขึ้นเองอยู่แล้ว อาทิ อาหารเสริมจากอบเชย ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงา เป็นต้น
 
"เหตุที่สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว. เพราะมารดาคือ ดร.วีณา เชิดชูชาติ ซึ่งเป็นอดีตนักวิจัยด้านพยาธิวิทยาของมหาวิทยาลัยมหิดลและเกษียณอายุราชการแล้ว มีความสนใจในพุงทะลาย อีกทั้งทาง วว.ได้คิดค้นวิจัยมาแล้ว ทำให้ง่ายในการต่อยอดเทคโนโลยีและไม่ต้องลงทุนวิจัย คาดว่า 1-2 เดือนนี้จะเตรียมเครื่องจักรได้เสร็จและผลิตอาหารเสริม 1,000-2,000 เม็ดแรกได้ โดยราคาเบื้องต้นน่าจะอยู่ที่เม็ดละ 7 บาท" นางอรนารถกล่าว

พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันทาง วว.ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระจากขมิ้นชันให้แก่สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารเสริมบำรุงตับจากขม้นชันและผักบุ้งให้แก่สมาคมฯ ด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น