เมื่อ 2 ปีก่อนดิฉันโชคดี มีโอกาสได้ไปเยือน “โลซานน์” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนที่มีความหลังมากมาย เกี่ยวกับ “ราชสกุลมหิดล”
นอกจากจะเป็นตำหนักวิลลาวัฒนา และอพาร์ทเม็นต์ที่ถนนทิสโซต์ที่ได้ไปสัมผัสแล้ว
บริเวณ “มหาวิทยาลัยโลซานน์” เก่าก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่ดิฉันได้เยี่ยมชม ตามคำแนะนำของไกด์กิตติมศักดิ์ในครั้งนั้น ที่ปัจจุบันมีอาชีพเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์
มหาวิทยาลัยโลซานน์ในปัจจุบันอยู่บริเวณนอกเมือง แต่ตึกอาคารเก่าแก่ที่อยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ เกือบใจกลางเมือง ที่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ราชการนั้น ไกด์พิเศษบอกอย่างภาคภูมิใจว่า อาคารแห่งนี้เคยใช้เป็น “ตึกเคมี” อันเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงศึกษา ในระดับปริญญาตรี
ด้วยความสัตย์จริง...นั่นเป็นครั้งแรกที่ดิฉันทราบว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
เพราะตั้งแต่จำความได้ ภาพข่าวในพระราชสำนักที่เราคุ้นเคยและอยู่ในความทรงจำมากที่สุด คือการที่พระองค์เสด็จฯ ตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดาร พร้อมกับทรงนำแพทย์อาสารักษาผู้เจ็บป่วย ภายใต้ชื่อ “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ พอ.สว. จนกระทั่งกลายเป็นมูลนิธิ พอ.สว.
รวมไปถึงพระกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมก็มีให้ประจักษ์ผ่านข่าวในพระราชสำนัก ที่พสกนิกรตัวน้อยอย่างดิฉันสามารถติดตามข่าวคราวของพระราชวงศ์ได้อย่างใกล้ชิด
ดิฉันกลับมาทำการบ้านอีกครั้งหลังการไปเยือนโลซานน์ครั้งนั้น ทำให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ผู้เป็นพระเชษฐาภคินีของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นอย่างยิ่ง
“แม้จะถนัดด้านศิลปศาสตร์ แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ทำคะแนนทางวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่า จึงทรงเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplime de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา ด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ยังคงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย”
แม้จะทราบดีว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงให้การสนับสนุน “โอลิมปิกวิชาการ” มาตั้งแต่ที่ดิฉันอยู่มัธยม แต่เราก็สนใจใคร่รู้เพียงแค่ว่า ในแต่ละปีมีเพื่อนๆ น้องๆ ได้เหรียญรางวัลจากเมืองนอกกลับมากันเท่าไหร่
ปี 2532 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งผู้แทนร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงให้การสนับสนุน พร้อมทั้งประทานเงินส่วนพระองค์ เสด็จประทานเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่ผ่านการอบรมเข้ม และนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันระหว่างประเทศ
จากนั้นทรงพระอนุญาตให้นำเงินที่ทรงประทานและเงินจากกองทุนการกุศลสมเด็จย่าให้จัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา” (สอวน.) เพื่อโครงการโอลิมปิกวิชาการ และชมรมโอลิมปิกวิชาการ ขึ้นเมื่อ 12 ต.ค.2542
สอวน.ได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
นอกจาก สอวน. จะเป็นอีกแหล่งคัดกรอง “ช้างเผือก” เข้าสู่เวทีโอลิมปิกวิชาการแล้ว ศูนย์ทั้ง 21 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังเป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แก่นักเรียนที่มีความสามารถ ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
เด็กเก่งส่วนใหญ่ต่างสอบแข่งขันเพื่อให้ได้ร่วมค่าย สอวน. ที่แม้ไม่ได้หวังไกลถึงขั้น “โอลิมปิกวิชาการ” แต่หวังในเบื้องหน้ากับ “วิชาการ” อันเข้มข้น และ “กิจกรรม” ข้างเคียงที่แตกต่างไปจากห้องเรียน
การกระจายโอกาสสู่ภูมิภาค ทำให้ได้เยาวชนที่มีความสามารถซ่อนอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ มากมาย และการเตรียมความพร้อมอีกขั้นเพื่อให้หัวกะทิที่คัดสรรมาข้นเข้มมากพอที่จะแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ จึงทำให้ข่าวคราว “จำนวนเหรียญ” ของโอลิปิกวิชาการจากผลงานของสุดยอดนักเรียนในแต่ละปีจึงเป็นที่สนใจไม่น้อย
การที่ทรงสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศนั้น นับเป็นบทบาทสำคัญยิ่ง ที่ทรงมีในการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระยะยาว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงประทานวโรกาสให้ผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ เข้าเฝ้าฯ ทรงประทานกำลังใจ ทรงห่วงใย พร้อมทั้งประทานคำแนะนำ ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่สม่ำเสมอ
หลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.51 พสกนิกรทั่วประเทศต่างแสดงความไว้อาลัยแห่งการจากไปในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ต่างรวบรวมพระกรณียกิจ พระประวัติ พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ รวมถึงพระจริยวัตรในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เพียงแค่ชมในวันแรก เราต่างก็ตระหนักได้ว่า ที่ทรงสนับสนุนโอลิมปิกวิชาการ ที่ทรงเสด็จ พอ.สว. หรือที่ทรงส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงพระกรณียกิจและพระเมตตาแค่เศษเสี้ยวเดียว ในบรรดาพระกรณีกิจอีกนานับประการ
“ความเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ นั้น เป็นที่รับทราบกันในหมู่ประชาชนยุคปัจจุบันแต่เพียงว่า ทรงมีพระอิสริยศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้จริงแล้ว หากได้มีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลลงลึกถึงพระกรณียกิจ พระประวัติ พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ รวมถึงพระจริยวัตร จะพบว่า ทรงมีคุณลักษณะที่โดดเด่นอุปมาอุปไมยได้กับ “แสงหนึ่ง” คือ เปรียบดุจแสงที่ส่องสว่าง และส่องฉายอาบ ให้เราได้มองเห็นความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ ของสรรพสิ่งในโลกนี้ แต่ผู้คนมักไม่ได้มองเห็น “แสง” นั้น”
ตามคำที่ “ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม” พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ได้ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไว้ เมื่อคราวจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา
ถ้าจะเปรียบตามจริงแล้ว ยังทรงเปรียบประดุจแสงที่ส่องฉาย และอาบสะท้อนให้ผู้คนได้มองเห็นความยิ่งใหญ่ ความสวยงามของพระราชบิดา พระราชมารดา พระอนุชาทั้งสองพระองค์ตลอดมา ...และ “แสงหนึ่ง” นี่เอง ยังส่องสว่างให้ประชาราษฎร์ไทยในแผ่นดินได้มีชีวิตที่ดีขึ้น สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นจากพระกรณียกิจผ่านองค์กรและมูลนิธิต่างๆ
ท่านผู้หญิงทัศนาวลัยอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยกับ “รุ้งงาม” เพื่อสื่อความหมาย หรือคุณลักษณะที่ซ่อนอยู่ใน “แสงหนึ่ง” ซึ่งเมื่อผนวกรวมกันแล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงความหมาย หรือคุณลักษณะอันงดงามที่อยู่ภายในแสง...เมื่อวันฟ้าคลี่ ที่ปรากฏให้เห็นคือ “รุ้งงาม”
บัดนี้ ทุกคนได้ประจักษ์อย่างแจ่มชัดแล้วว่า “แสง” ที่เราไม่ทันได้สังเกตเห็นนั้น มีคุณค่ามากเพียงไร เมื่อเพ่งพินิจเข้าไปใน “แสง” เราต่างก็มองเห็น “คุณลักษณะพิเศษ” ที่ซ่อนอยู่
พระกรณียกิจและพระจริยวัตรที่ได้รับการประมวลผ่านแหล่งต่างๆ ทำให้เราทั้งหลายตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า “การกระทำสิ่งที่ดีงาม” แม้จะยังไม่ปรากฏเป็น “รุ้ง” ในทันทีทันใด แต่ย่อมจะสะสมเป็น “แสง” ที่ทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยคุณค่า นับเป็นแบบอย่างอันดียิ่งที่เหล่าพสกนิกรทั้งปวงสมควรน้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
ที่จริงแล้ว “รุ้ง” นับเป็นปรากฎการณ์ที่มองเห็นได้เฉพาะบุคคล เพราะองศาการมองที่ต่างกัน ทำให้ปกติแล้วเราจะเห็นรุ้งกินน้ำที่ต่างกันเสมอ
ทว่าในวันนี้...พสกนิกรชาวไทย ต่างเห็น “รุ้ง” ที่ฉาบอยู่บนท้องฟ้าในองศาเดียวกัน.
(เพลง "แสงหนึ่ง" - บอย โกสิยพงษ์ feat. นภ พรชำนิ)