xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์ "โฮปไดมอนด์" เพชรอาถรรพ์สีน้ำเงิน จริงหรือเก๊ด้วยยูวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไซน์เดลี/เอพี- สีน้ำเงินของ "โฮปไดมอนด์" เพชรสีน้ำเงิน 45.52 กะรัตซึ่งตั้งโชว์อย่างสงบนิ่งในศูนย์รวบรวมอัญมณีของพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน สหรัฐฯ นั้นดึงดูดคนนับล้านให้มาเยี่ยมชมเพชรอาถรรพ์ที่สร้างตำนานต้องคำสาปนานนับศตวรรรษ แต่สิ่งที่คนเหล่านั้นไม่ได้เห็นคือการเรืองแสงสีแดงอยู่ชั่วครู่หลังฉายรังสียูวีลงเพชรน้ำงาม ซึ่งนักวิจัยพบว่าเป็นวิธีช่วยจำแนกเพชรจริงจากของเก๊

นักวิจัยธรณีวิทยาสหรัฐฯ จากสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ห้องปฏิบัติการทหารเรือสหรัฐฯ (Naval REsearch Laboratory) และมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State) ได้ทดลองฉายรังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวีลงบนเพชรสีน้ำเงินจากธรรมชาติจำนวน 66 เม็ดซึ่งรวมถึง "โฮปไดมอนด์" (Hope Diamond) เพชรสีน้ำเงิน 45.52 กะรัต และ "บลูฮาร์ท" (Blue Heart) เพชรสีน้ำเงิน 30.82 กะรัต ทำให้เกิดการเรืองแสงในย่านที่ตามองเห็น

จากการวัดว่าด้วยเครื่องตรวจสเปกตรัมพบว่าเพชรจากธรรมชาติเหล่านั้นเรืองแสงในย่านความยาวคลื่น 500 นาโนเมตรซึ่งทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินและ 660 นาโนเมตรที่ทำให้เห็นเป็นสีแดง โดย "โฮปไดมอนด์" ปรากฏเรืองแสงเป็นสีแดงอยู่ราว 5 นาทีหลังจากปิดเครื่องฉายรังสียูวีไปแล้ว ขณะที่เพชรสีน้ำเงินอื่นๆ เรืองแสงเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งการเรืองแสงที่ให้สีในลักษณะดังกล่าวสัมพันธ์กับสัดส่วนของโบรอน (boron) และไนโตรเจนที่เจือปนในคาร์บอนของเพชร

"แม้ว่าเพชรสีน้ำเงินส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นสีชมพูหรือน้ำเงินเมื่อถูกฉายด้วยแสงอัลตราไวโอเลต เราพบว่าเพชรสีน้ำเงินทั้งหมดนั้นมีการเรืองสีแดงด้วย แต่ต่างไปจากโฮปไดมอนด์ตรงที่แสงสีแดงของเพชรสีน้ำเงินบางเม็ดนั้นถูกแสงสีน้ำเงินแกมเขียวกลบ" ปีเตอร์ เฮียนีย์ (Peter Heaney) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตทที่รวมในการศึกษาครั้งนี้กล่าว โดยพวกเขาไม่สามารถเคลื่อนย้ายเพชรได้นอกจากนำเครื่องมือไปทดสอบที่พิพิธภัณฑ์ โดยมีเวลาช่วงก่อนเปิดและหลังปิดพิพิธภัณฑ์สำหรับทำการทดลอง

การเจือปนของธาตุต่างๆ ในคาร์บอนทำให้เพชรเกิดสีสันต่างๆ สำหรับเพชรสีน้ำเงินนั้นโบรอนที่เจือปนให้เกิดสีน้ำเงินในธรรมชาติ ส่วนเพชรสีเหลืองนั้นเกิดจากการเจือปนของไนโตรเจน ซึ่งเครื่องวัดสเปกตรัมสามารถวัดคุณสมบัติจากการเจือปนของธาตุต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพชรสีน้ำเงินในธรรมชาติมีระดับโบรอนเจือปนสูงและมีระดับเจือปนของไนโตรเจนต่ำ ซึ่งอันตรกริยาของธาตุทั้งสองอาจทำให้เกิดการเรืองแสงสีแดงเมื่อถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวี และนักวิจัยยังได้ทดลองกับเพชร 3 เม็ดที่สังเคราะห์ขึ้นและเจือปนธาตุโบรอนซึ่งพบว่าเพชรสีน้ำเงินสังเคราะห์ทั้งสามที่แม้จะแยกไม่ออกด้วยตาเปล่านั้นไม่ปล่อยคลื่นแสงความยาว 660 นาโนเมตรออกมาเหมือนเพชรธรรมชาติอื่นๆ

สำหรับ "โฮปไดมอนด์" นั้นเป็นเพชรที่ได้จากโคตรเพชร 112 กะรัตที่ขุดได้จากเหมืองในอินเดียเมื่อกลางศตวรรษที่ 16 จากนั้นก็ถูกเจียระไนให้เหลือ 67 กะรัตเป็นเพชร "เฟรนซ์บลู" (French Blue) เพื่อประดับมงกุฎของกษัตริย์ฝรั่งเศส แล้วเพชรดังกล่าวได้หายไประหว่างปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อนที่จะปรากฏภายหลังอีก 20 ปีต่อมาในปี 2355 ในรูปของเพชรขนาดราว 45 กะรัตในชื่อโฮปไดมอนด์

เจฟเฟอรีย์ โพสท์ (Jeffery Post) ผู้รักษาศูนย์รวบรวมอัญมณีแห่งสหรัฐฯ ในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนกล่าวว่า หากโฮปไดมอนด์นี้คือเพชรสีน้ำเงินจากโคตรเพชรเม็ดเดียวกับที่เป็นเครื่องประดับมงกุฏกษัตริย์ฝรั่งเศส การทดลองที่พบนี้ก็ใช้จำแนกอัญมณีที่มาจากแหล่งเดียวกันได้ อย่างไรก็ดีระหว่างการทดลองไม่สามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องแสง แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการบันทึกวิดีโอไว้ให้ผู้เข้าชมได้เห็น

"ผู้คนทั่วไปคิดถึงโฮปไดมอนด์ว่าเป็นอัญมณีแห่งประวัติศาสตร์ แต่การศึกษาครั้งนี้ได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของเพชรซึ่งเป็นตัวอย่างสำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่หาได้ยาก ซึ่งช่วยให้เรามองทะลุเข้าไปในความรู้ของเราเกี่ยวกับเพชรและการก่อเกิดของอัญมณีเหล่านี้ในโลก" โพสท์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น