บีบีซีนิวส์/เดอะแฮรัลด์ - นักวิทยาศาสตร์เจ้าของตำนานแกะดอลลี่ "เอียน วิลมุต" ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นอัศวิน เป็นท่านเซอร์คนใหม่แห่งอังกฤษ พร้อมเพื่อนนักวิทยาศาสตร์และบุคคลที่สร้างคุณงามความดีอีกหลายคน
ศ.เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) นักวิทยาศาสตร์เมืองผู้ดีวัย 63 ปี ผู้ให้กำเนิดแกะดอลลี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่ถือกำเนิดจากการโคลนนิง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อัศวิน (knighthood) จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อใหม่ว่า "เซอร์" (Sir)
"ผลการพระราชทานบรรดาศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปีนี้สมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง ผมเองก็ตื่นเต้นและปลื้มปีติเป็นอย่างมาก ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นอัศวิน ผลของงานวิจัยที่ดีต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นตำแหน่งอัศวินของผมในครั้งนี้ก็คือรางวัลสำหรับทีมงานทุกคนนั่นเอง" เซอร์เอียนกล่าวอย่างปลื้มปิติ
เซอร์เอียน เป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ประกาศความสำเร็จในการสร้างสิ่งมีชีวิตโดยไม่ต้องอาศัยการผสมกันระหว่างไข่ของเพศเมียและอสุจิของเพศผู้ แต่ใช้วิธีการโคลนนิงแทน โดยใช้นิวเคลียสของเซลล์ร่างกายมาย้ายฝากไว้ในเซลล์ไข่ แล้วฝากไว้ในท้องของแม่อุ้มบุญ ซึ่งแกะดอลลีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่ถือกำเนิดขึ้นจากวิธีนี้ในปี 2540
ต่อมานักวิจัยหลายประเทศนำเทคนิคการโคลนนิงของเซอร์เอียนไปใช้อย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดองค์ความรู้และประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่นำการโคลนนิงมาใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยที่เรียกว่า เธอราเพียวติก โคลนนิง (therapeutic cloning) และใช้ในงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์
ก่อนหน้านี้เซอร์เอียนเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี (Office of the Order of the British Empire: OBE) หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวงศ์อังกฤษ มาแล้วเมื่อปี 2542 จากการบุกเบิกเทคโนโลยีการโคลนนิงนั่นเอง ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การซ่อมแซมและสร้างอวัยวะใหม่ สก็อตติช มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Scottish Centre for Regenerative Medicine at Edinburgh University)
ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อัศวินและเป็นท่านเซอร์คนใหม่เช่นเดียวกับวิลมุตประจำปีนี้ เช่น ศ.จอห์น เบลล์ (John Bell) จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (University of Oxford), อเล็กซานเตอร์ มาร์คแฮม (Alexander Markham) จากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) และโรเบิร์ต เนย์เลอร์ (Robert Naylor) จากโรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ ลอนดอน (University College London Hospital NHS Foundation Trust) เป็นต้น
ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนดังในอดีตที่เคยได้รับพระราชทานโอกาสนี้มาแล้ว ได้แก่ กักเลียลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาลี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2452 จากการประดิษฐ์โทรเลขไร้สาย ได้รับเมื่อปี 2457, อับดาส ซาลาม (Abdus Salam) ชาวปากีสถาน และนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลประจำปี 2522 จากผลงานการสร้างทฤษฎีอิเล็กโทรวีก (Electroweak Theory) ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ ต่างๆ ทั้งทางแม่เหล็กไฟฟ้าและทางนิวเคลียร์ได้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อปี 2532 และเจมส์ วัตสัน (James D. Watson) ผู้ค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2505 ได้เป็นอัศวินในปี 2544