"เสียดาย บ้านเรามีแสงแดดมากมาย น่าจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้มากๆ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์" หลายคนอาจมีความคิดเหมือนกันกับความคิดข้างต้นนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีวี่แววว่าจะมีใครทำได้สักที แต่เป็นจริงแล้วที่รั้วจามจุรี
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า แม้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ทั่วๆ ไปจะไม่มีศักยภาพพอผลิตกระแสไฟฟ้าต่างโรงไฟฟ้าได้ แต่หากดึงเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงที่ใช้กับยานอวกาศมาใช้บนพื้นโลก คือ เซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้างควอนตัมดอต ความฝันนี้ก็เป็นจริงได้
ในงานวิจัย "เซลล์แสงอาทิตย์โครงสร้างควอนตัมดอต" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2550 โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ จึงมีการเตรียมต้นแบบโครงสร้างควอนตัมดอตระดับนาโนชนิดต่างๆ ในห้องปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อย เช่น ควอนตัมดอตที่เรียงตัวเป็นระเบียบ ควอนตัมโมเลกุล ควอนตัมดอตคู่ ควอนตัมวงแหวน และควอนตัมดอตที่มีจำนวนดอตหนาแน่นสูง ซึ่งจะช่วยให้การแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
"เซลล์แสงอาทิตย์ทั่วๆ ไปจะมีประสิทธิภาพแปลงแสงแดดไปเป็นไฟฟ้าได้แค่ 12 -15% แต่แบบโครงสร้างควอนตัมดอตจากสารประกอบแกลเลียมอาร์เซไนด์ (GaAs) จะให้ไฟฟ้าได้ถึง 25.9% และยิ่งความเข้มข้นแสงสูงขึ้นก็จะแปลงไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วย" นักวิจัยกล่าว ซึ่งความเข้มแสงที่มากขึ้นนี้จะเกิดจากการใช้เลนส์รวมแสงให้มาตกบนแผง โดยมีประสิทธิภาพได้ถึงที่ความเข้มมากกว่า 100 เท่าของแสงอาทิตย์ขึ้นไปทีเดียว
ส่วนขั้นต่อไปของงานวิจัย ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกว่า จึงเป็นการนำเสนอแนวคิดนี้ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่หากมีความสนใจก็มั่นใจว่าจะให้กำเนิดโรงไฟฟ้าชนิดนี้ได้ โดยใช้ทุ่งกว้างติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ และมีฐานหมุนให้สามารถหันไปรับแสงได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นจะพัฒนาให้มีต้นทุนต่ำลงไปพร้อมๆ กันด้วย เนื่องจากตอนนี้ยังมีราคาแพงมาก