xs
xsm
sm
md
lg

“โรช” ดันโมเดล iPDM เปลี่ยนโฉมการดูแลเบาหวานไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล–เฉพาะบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย เปิดตัวโมเดล iPDM ยกระดับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วยโซลูชันดิจิทัลแบบครบวงจร มุ่งเสริมศักยภาพผู้ป่วย–แพทย์ ลดช่องว่างการเข้าถึงในกลุ่มเปราะบาง พร้อมความร่วมมือจากสมาคมเบาหวานฯ เร่งปิดช่องว่างสุขภาพทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ – บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดยนายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ ประกาศเปิดตัวแนวคิด Integrated Personalised Diabetes Management (iPDM) หรือ โมเดลการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการเฉพาะบุคคล ภายใต้หัวข้อ “เบาหวาน...อย่าเบาใจ ขับเคลื่อนการดูแลเบาหวานในประเทศไทย ด้วยดิจิทัลโซลูชัน” เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้จริง

นายมิไฮ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคเบาหวานยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญด้านสาธารณสุขของไทยและโลก โดยจากข้อมูล Diabetes Atlas 2025 โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) พบว่า คนไทยวัยผู้ใหญ่กว่า 11.1% หรือราว 6.5 ล้านคน เป็นเบาหวาน โดยเกือบ 40% ยังไม่รู้ตัว ส่งผลให้หลายรายได้รับการวินิจฉัยช้า เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“โรคเบาหวานไม่ใช่แค่ตัวเลขในรายงาน แต่เป็นความจริงของชีวิตผู้คนจำนวนมาก ซึ่งต้องแบกรับทั้งความเสี่ยงสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการดูแลที่ทันสมัย” นายมิไฮกล่าว พร้อมระบุว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงเบาหวาน สร้างภาระเศรษฐกิจในไทยกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP

โมเดล iPDM ของโรชฯ เป็นการผสานการดูแลผู้ป่วยแบบรายบุคคลเข้ากับเครื่องมือดิจิทัล เช่น เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (BGM) และแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ เฝ้าระวังระดับน้ำตาลได้แบบเรียลไทม์ และแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ

จุดเด่นของ iPDM ได้แก่
•การตรวจน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ช่วยควบคุมโรคได้แม่นยำ
•การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในกระบวนการดูแลตนเอง
•ลดภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวจากภาวะแทรกซ้อน
•เชื่อมโยงแพทย์–ผู้ป่วย–เทคโนโลยีในระบบเดียวกัน


“เรามุ่งมั่นทำงานร่วมกับภาครัฐ สมาคมวิชาชีพ และพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาที่เท่าเทียม โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรอยู่มาก” นายมิไฮกล่าว 










ในงานครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานการณ์โรคเบาหวานในระดับโลกและประเทศไทย พร้อมเสนอแนวทางปิดช่องว่างด้านการดูแลอย่างยั่งยืน

รศ.นพ.เพชร กล่าวว่า ข้อมูลจาก IDF ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกถึง 589 ล้านคน และคาดว่าจะพุ่งถึง 853 ล้านคนภายในปี 2593 โดยกว่า 40% ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วย โดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง (LMICs) ซึ่งรวมถึงไทย

“ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 6.5 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ดีพอ เนื่องจากขาดการคัดกรอง การเข้าถึงเทคโนโลยี และบุคลากรด้านสุขภาพที่เพียงพอ โดยเฉพาะในชนบท” รศ.นพ.เพชรกล่าว

รศ.นพ.เพชรระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การตรวจน้ำตาลต่อเนื่อง (CGM) และระบบ iPDM เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแนวทางการดูแลผู้ป่วย จากรูปแบบเดิมที่เน้นการรักษา มาเป็นการบริหารจัดการอย่างแม่นยำ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเสริมศักยภาพการดูแลตนเองของผู้ป่วย

ตัวอย่างโครงการนำร่อง เช่น ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ผู้ป่วยที่ใช้แอปพลิเคชันควบคู่กับการตรวจวัดน้ำตาลสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับกลุ่มที่จดบันทึกด้วยกระดาษแบบเดิม

“หากเราสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตจริงของผู้ป่วยได้ ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาลหรือห้องทดลอง แต่ในชุมชน ในบ้าน หรือแม้แต่ในมือถือของเขาเอง เราจะสามารถเปลี่ยนอนาคตของโรคเบาหวานในประเทศได้” รศ.นพ.เพชรกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น