xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชเปิดตัว “SiMPC Services” ศูนย์บริการวิเคราะห์ชีวโมเลกุลและฟีโนมิกส์ พร้อมเทคโนโลยีชีววิเคราะห์ขั้นสูง ยกระดับงานวิจัยไทยสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงเปิดตัว “SiMPC Services” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นหน่วยบริการวิเคราะห์ระดับแนวหน้าด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมิกส์ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช (Siriraj Metabolomics and Phenomics Center: SiMPC) และ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีพันธกิจในการผลักดันงานวิจัยด้านชีวโมเลกุลของประเทศให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติ

ศูนย์ฯ มุ่งให้บริการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุลขนาดเล็กจากตัวอย่างทางคลินิก อาทิ เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ รวมถึงสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ สมุนไพร อาหารเสริม และพืชเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการแพทย์แม่นยำ การค้นพบสารออกฤทธิ์ใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม ในพิธีเปิดครั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ บริษัท DKSH Technology Limited, บริษัท Waters Corporation และบริษัท Agilent Technologies (ประเทศไทย) เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านเมตาโบโลมิกส์ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์แมสสเปกโตรเมตรี (Mass Spectrometry) ชั้นนำ เช่น Ion Mobility-Mass Spectrometry (IM-MS), LC-MS/MS และ GC-MS/MS โดยมีผู้ร่วมลงนาม ได้แก่
•ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
•ศ. ดร. นพ. ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช และผู้อำนวยการ SiMPC
•Mr. Marco Farina, Vice President, Scientific Solutions, Technology, DKSH
•Ms. Pooja Mayee, General Manager, Southeast Asia, Waters Corporation
• คุณ กิตติวรรณ กัลยาณมิตร, Country General Manager, Agilent Technologies Thailand
• คุณ ยุวภา คารพานนท์, Country General Manager, Agilent Technologies Thailand

ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการผสานพลังระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิจัยไทย และตอกย้ำบทบาทของศูนย์ฯ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ การแพทย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ”

ภายในงานยังประกอบด้วยกิจกรรมพิเศษ อาทิ
•ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “From Discovery to Applications: Siriraj and the Growth of Metabolomics in Thailand” โดย รศ. ดร. ศักดิ์ดา คุ้มหรั่ง
•นิทรรศการเทคโนโลยีชีววิเคราะห์ชั้นสูง และผลงานวิจัยเด่นจากศูนย์ฯ ได้แก่:
High-resolution Mass Spectrometry Imaging เทคโนโลยีการถ่ายภาพแมสสเปกโตรเมตรีความละเอียดสูงที่ไม่ต้องติดฉลากหรือนำสารออกจากตัวอย่าง ใช้ศึกษาองค์ประกอบและการกระจายตัวของโมเลกุลในเนื้อเยื่อมนุษย์ สมุนไพร และมะเร็ง ถือเป็นแห่งแรกในไทยและนับแห่งได้ในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างเป็นระบบ
Metabox 2.0 แพลตฟอร์มวิเคราะห์เมตาโบโลมิกส์ที่รองรับข้อมูลจากเทคโนโลยีโอมิกส์หลายประเภท ใช้งานง่ายและแม่นยำ เหมาะสำหรับการพัฒนาวิจัยการแพทย์แม่นยำ อาหาร ยา และสมุนไพรเพื่อความได้เปรียบเชิงอุตสาหกรรม
SiMD (Siriraj Metabolomics Data Warehouse) ฐานข้อมูลสเปกตราจาก Ion mobility และ Mass Spectrometry ครอบคลุมสารชีวโมเลกุลและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกว่า 800 ชนิด เพื่อรองรับงานวิจัยระดับประเทศ
Zebrafish Platform ระบบโมเดลปลาม้าลายเพื่อประเมินฤทธิ์ของสารชีวภาพในระดับโมเลกุลและระบบ ใช้คัดกรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนเข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้ SiMPC ยังดำเนินการวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การวินิจฉัยและรักษาโรคเรื้อรังที่สำคัญของประเทศ อาทิ โรคไตเรื้อรัง มะเร็งปอด โรคตับ และโรคผิวหนัง โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบแม่นยำ และการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพที่ตอบโจทย์ตลาด

พิธีเปิด SiMPC Services จัดขึ้นในวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.30–12.00 น.
ณ ห้องประชุมสิริรธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์วิจัย SiMPC ชั้น 9 อาคารศรีสวรินทิรา รพ.ศิริราช โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง












________________________________________

เกี่ยวกับ SiMPC
ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช (SiMPC) ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ภายใต้การกำกับดูแลของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และผู้อำนวยการศูนย์ฯ ร่วมกับคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ โดยมีพันธกิจในการพัฒนางานวิจัยระดับโมเลกุลให้สามารถตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และขับเคลื่อนแนวทางการรักษาแบบแม่นยำ (Precision Medicine) ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา
ศูนย์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านห้องปฏิบัติการ การวิจัยด้านชีวสารสนเทศ และการวิเคราะห์เมตาโบไลต์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการชีวภาพ อาทิ กรดไขมัน น้ำตาล กรดอะมิโน เมตาโบไลต์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน และเมตาโบไลต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคความเสื่อม เช่น tryptophan จาก kynurenine pathway รวมถึงเมตาโบไลต์จากจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbial metabolites) ที่ได้จากตัวอย่างเซรั่ม พลาสมา ปัสสาวะ อุจจาระ อาหาร และสมุนไพรไทย
SiMPC ได้นำเทคโนโลยีวิเคราะห์ระดับสูงมาใช้ในการวิจัย อาทิ
• LC-IM-TOFMS (High-Resolution)
• LC-MS/MS
• GC×GC-TOFMS (High-Resolution)
• Mass Spectrometry Imaging (High-Resolution)
พร้อมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม Metabox 2.0 สำหรับการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเมตาโบโลมิกส์จาก LC-MS, GC-MS และ IM-MS ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมข้อมูลไปจนถึงการวิเคราะห์ทางสถิติอย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้จัดทำฐานข้อมูล SiMD (Siriraj Metabolomics Data Warehouse) ซึ่งรวบรวมข้อมูลสเปกตราของสารเมตาโบไลต์ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคเหล่านี้ เพื่อให้บริการแก่สาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผลงานวิจัยของ SiMPC ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติมากกว่า 60 เรื่อง และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาในหลากหลายด้าน เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคผิวหนัง มะเร็งปอด โรคตับ การค้นหาสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ ตลอดจนการวิจัยด้านโภชนศาสตร์แม่นยำ (Precision Nutrition) นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมและการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัยไทยในระดับนานาชาติ
(เว็บไซต์: https://www.si.mahidol.ac.th/th/research-academics/research/simpc/index.html)


กำลังโหลดความคิดเห็น