xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “ชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี” พบยอดศิลปินไทย ชัชวาล รอดคลองตัน กับ โครงการ Art Learning สาธิตจุฬาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"งานศิลปะของชัชวาลนั้นเป็นสองแนวทางคือ ความเป็นจริง กับ ศิลปะไทย ที่ผสานร่วมกัน แล้วพัฒนาหรือสร้างแนวทางใหม่ ๆ ออกมา แนวทางของชัชวาลทั้งทักษะการเขียนภาพที่เสมือนจริง กับ ทักษะที่พัฒนางานศิลปะไทย ทั้งสองงานนี้เป็นงานที่มีความโดดเด่นด้วยกันทั้งสองลักษณะ ... ... วิวัฒนาการของเขาในแต่ละยุคสมัยนั้นถือว่าก้าวกระโดด เพราะสามารถที่จะปรับตัวเอง กับงานของตัวเองที่เห็นความเป็นอุดมคติ ที่ยังรักษาอุดมคติที่แท้จริงของความเป็นไทยอยู่ แต่ในขณะเดียวกันบางอย่างชัชวาลก็ใช้อุดมคติมาเป็นส่วนเสริมแนวความคิดใหม่ ๆ รูปลักษณ์ใหม่ ๆ" --- อ.ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ต้นเดือนกรกฎาคม 2568 ท่ามกลางบรรยากาศร้อนชื้นของฤดูฝนแห่งกรุงเทพมหานคร โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ หรือ Art Learning สาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) นำโดย อ.นลินทิพย์ คร้ามอยู่ ประธานโครงการฯ และ อ.สมใจ จงรักวิทย์ ที่ปรึกษาโครงการนำนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สิบกว่าชีวิตเข้าไปหลบฝนและไอร้อนเพื่อไปทัศนศึกษา เยี่ยมชมงานศิลปะของศิลปินชั้นนำของประเทศ ณ ชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี (Chatchawan Art Gallery) ของ "อ.โต้ง" ชัชวาล รอดคลองตัน ในซอยเพชรเกษม 48 เขตภาษีเจริญ (คลิกแผนที่ : https://maps.app.goo.gl/F2mtBuoqE6j4U6ct5)


"อ.โต้ง" ชัชวาล เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2517 จบการศึกษาจากโรงเรียนศิลปในปี 2533 ก่อนศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง สาขาจิตรกรรม ในปี 2535 และศิลปกรรมบัณฑิต สาขาจิตรกรรมในปี 2537 จากสถาบันเดียวกัน

อ.ชัชวาล ถือเป็นศิลปินอิสระ ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งจิตรกรรม และประติมากรรม โดยผลงานได้รับอิทธิพลจากประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทย ความเชื่อในพระพุทธศาสนา และความศรัทธาในองค์เทพเจ้าฮินดู รวมถึงเทพเจ้าจีน ซึ่งแทรกซึมและผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย โดย อ.ชัชวาล สามารถผสมผสานศิลปะไทยดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัย โดยจุดเด่นของงานศิลปะคือ มีการใช้สี แสง และเงาอย่างพิถีพิถัน สร้างสมดุลระหว่างโทนสีร้อนและเย็นเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศ ทำให้เส้นสายลายไทยมีชีวิตชีวาและแสดงถึงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง

ด้วยผลงานที่โดดเด่น และความสม่ำเสมอของการผลิตและพัฒนาผลงานศิลปะตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่ยอมรับ และได้รับการเชิดชูเป็นรางวัลมากมายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พ.ศ.2544 รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 25, พ.ศ.2550 รางวัลยอดเยี่ยม (Grand Prix) จาก THE BEPPU ASIA BIENNALE OF CONTEMPORARY ART 2007 ณ ประเทศญี่ปุ่น, พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกเป็น Thailand Artist Brand Ambassador โดย Royal Talents Inc. (Netherlands), ปี 2566 wfhรางวัลเหรียญทอง The 23nd International Calligraphy and painting Exchange Exhibition at Tokyo Metropolitan Art Museum ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะที่ปัจจุบัน ผลงานของ ชัชวาล รอดคลองตัน เป็นที่สะสมของนักสะสมงานศิลปะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยสถานที่จัดแสดงงานศิลปะสำคัญของ อ.ชัชวาล ยกตัวอย่างเช่น เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม, พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK), หอธรรมพระบารมี จ.ฉะเชิงเทรา และล่าสุดก็คือ Chatchawan Art Gallery ในซอยเพชรเกษม 48 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ นี่เอง


Chatchawan Art Gallery ตั้งอยู่บริเวณปากซอยเพชรเกษม 48 แยก 41 เป็นสถาปัตยกรรมสูง 4 ชั้น ที่ดูภายนอกแทบไม่รู้เลยว่าภายในเป็นทั้งสตูดิโอ, Workshop และแกลเลอรี ของศิลปินชื่อดัง ทั้งยังบรรจุไว้ด้วยผลงานของศิลปินระดับประเทศจำนวนมาก โดยเมื่อคณะของคณาจารย์ และนักเรียนชั้น ป.6 ของโครงการ Art Learning ไปถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นกันเองจากเจ้าของสถานที่คือ “อ.โต้ง” ชัชวาล รอดคลองตัน และ “พี่เอ๋” ดร.อรนิศวร์ เพชรวงศ์ศิริ ภรรยา ในฐานะผู้อำนวยการหอศิลป์ Chatchawan Art Gallery ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในฐานะอดีตผู้สื่อข่าว พิธีกรและผู้ประกาศข่าว ทางช่องไอทีวี และไทยพีบีเอสด้วย


เมื่อเดินเข้าไปในชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี แห่งนี้ ณ ประตูทางเข้า เหล่านักเรียนและผู้มาเยือน ต่างสะดุดตาด้วยภาพเขียนสูงจรดเพดานที่ชื่อ “ภาพไตรภูมิ”

“ไม่รู้น้อง ๆ เคยเป็นเหมือนผมไหมคือ ตอนเด็ก ๆ ผมเคยถามตัวเองว่าเกิดมาทำไม ทำไมเราต้องเกิด? อันนี้เป็นความคิดของผมตั้งแต่เด็ก จนได้ไปอ่านหนังสือสวรรค์นรกว่าเป็นยังไง ใครทำดีก็ไปสวรรค์ ใครทำชั่วก็ไปนรก เพราะฉะนั้นเจตนาของการรูป ๆ นี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการทำให้คนเห็นถึงว่า การทำคุณงามความดีจะได้พบภูมิอะไรบ้าง ที่ปรารถนา เพราะฉะนั้นทุกคนมีที่ไป เหมือนแผนที่ชีวิต ถ้ารู้จักไตรภูมิ เราก็จะรู้ว่า อ๋อ! เราทำดีจะไปไหน ทำชั่วไปไหน เราก็จะรู้ว่าเรามีที่ไป ไม่ได้เกิดมาแค่ชาติเดียว ... บางคนคิดว่าเราเกิดมา พอแก่ไปเราก็หายไปจากโลกนี้ แต่ในทางพุทธศาสนา บอกว่าไม่ใช่ ดวงจิตของเรานี้คือการท่องไปในวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ...” อ.ชัชวาล อธิบายถึงแรงบันดาลใจเบื้องต้นในการสร้างผลงาน “ไตรภูมิ” อันประกอบไปด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชุด “สมมุติ” เนื่องจากความงดงาม และละเอียดลออ จึงใช้เวลาทำงานนานถึง 3 ปี


ทั้งนี้นอกจากผลงานที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมอันลึกซึ้งแล้ว ในบริเวณชั้น 1 ของ ชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี ยังเต็มไปด้วยงานจิตรกรรม และประติมากรรมชั้นยอดอีกมากมาย รวมถึงผลงานชิ้นล่าสุดของ อ.โต้ง ด้วยนั่นคือ “พระแม่โพสพ” ซึ่งเขียนขึ้นด้วยสีน้ำมัน


พอเดินต่อขึ้นไปยังชั้นลอยของหอศิลป์แห่งนี้ก็จะพบกับวิวัฒนาการในผลงานของ อ.โต้ง ชัชวาล ตั้งแต่ในยุคแรก ๆ และถัด ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ ภาพเสมือนจริง ภาพแอ็บแสตร็ค (ศิลปะนามธรรม) งานประติมากรรม ฯลฯ โดย “พี่เอ๋”ดร.อรนิศวร์ ได้อธิบายถึงแนวคิด วิธีการทำงาน และที่มาที่ไปของผลงานชิ้นต่าง ๆ ของ อ.ชัชวาล อย่างละเอียด สร้างความสนใจให้แก่น้อง ๆ ในโครงการ Art Learning อย่างมาก พร้อมกันนั้นยังได้แนะนำให้ชมผลงานเด่น ๆ ของศิลปินชื่อดัง และศิลปินรุ่นใหม่ท่านอื่น ๆ ที่เป็นพี่น้องเพื่อนฝูง และ อ.ชัชวาล ชื่นชอบให้การสนับสนุนอีกด้วย




ถัดมาในชั้นที่สอง มีห้องจัดแสดงผลงานที่ อ.โต้ง สะสม โดยอัดแน่นผลงานล้ำค่าของ “ศิลปินแห่งชาติ” หลากหลายท่านเอาไว้ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อ.อังคาร กัลยาณพงศ์, อ.ถวัลย์ ดัชนี, อ.ช่วง มูลพินิจ, อ.ประหยัด พงษ์ดำ, อ.พิชัย นิรันต์, อ.ทวี รัชนีกร, อ.ปรีชา เถาทอง (คลิกอ่าน >> เปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ “อ.ปรีชา” ถ่ายทอดทริกเขียน “รูปที่ใจเห็น” สู่ศิลปินตัวน้อย), อ.ประเทือง เอมเจริญ, อ.ธงชัย รักปทุม เป็นต้น


สำหรับอาร์ต แกลเลอรี่แห่งนี้นอกจากจะเป็นที่จัดแสดง ผลงานของ อ.โต้ง ชัชวาล ศิลปินระดับชาติที่เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศและทั่วโลกแล้ว ยังมีงานของพี่น้องเพื่อนฝูง รวมถึงงานของศิลปินรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก โดยแม้แต่ในห้องนอนของแขกผู้มาเยือน ห้องรับประทานอาหาร หรือ หน้าห้องน้ำก็ยังเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะชั้นยอดที่มีทั้งหมด ราว 200-300 ชิ้น (ไม่นับรวมกับที่ อ.โต้ง และภรรยา สะสมและเก็บเอาไว้ ณ สถานที่อื่นอีก)

ขณะที่เมื่อเดินขึ้นไปยังชั้นที่สาม ของชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี่ แห่งนี้ก็จะพบกับห้องพระ ที่บรรจุงานศิลปะที่สะท้อนความศรัทธา ความเชื่อ และความผูกพัน ของเจ้าของสถานที่กับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ส่วนในชั้นที่สี่ นั้นถูกจัดให้เป็นพื้นที่สันทนาการ และเหมาะกับการสังสรรค์แลกเปลี่ยน โดยจัดให้มีโต๊ะสนุกเกอร์ ซึ่งเป็นกีฬาที่ อ.โต้ง และน้องชายชื่นชอบ รวมถึงบาร์เครื่องดื่ม ขณะที่พื้นที่รอบ ๆ ก็ยังเต็มไปด้วยงานศิลปะน้อยใหญ่ของ อ.โต้ง และพรรคพวกเพื่อนฝูง


เมื่อ MGR Online ได้นั่งพูดคุยกับ “อ.โต้ง” ชัชวาล ถามถึงแนวคิดของการศึกษา และการเรียนรู้ศิลปะของเด็ก ๆ ในยุคก่อน ปัจจุบัน และทิศทางในอนาคตว่ามีความเห็นอย่างไร อ.โต้ง ก็ให้คำตอบดังนี้

“ถ้าพูดย้อนไปสมัยผมเป็นเด็ก โอกาสที่คนจะได้เรียนศิลปะว่ายากแล้ว เพราะว่า บางครอบครัวไม่รู้จักเรื่องศิลปะ และก็ไม่เห็นว่าจะสามารถนำไปประกอบอาชีพอะไรได้ เปรียบเทียบกับยุคสมัยนี้การเวลาผ่านไป วงการศิลปะขับเคลื่อนไป ทำให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพว่า ศิลปะเป็นทั้งซอฟท์พาวเวอร์ ทั้งสร้างรายได้ ทั้งเผยแพร่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ มันก็เลยทำให้มุมมองของผู้ปกครองเปลี่ยนไป และแรงสนับสนุนก็น่าจะดีกว่าในยุคของผมมาก นอกจากนี้ จริง ๆ ในระดับสากลที่ผมได้สัมผัส อย่างตอนที่ผมได้รับรางวัลที่ญี่ปุ่น เด็ก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลก็ถูกพาเข้าพิพิธภัณฑ์แล้ว เขาจะมีคุณครูเหมือนอาจารย์โครงการ Art Learning ที่นำเด็ก ๆ มาชมงานศิลปะ ผมก็เลยมีไอเดียเรื่องเหล่านี้ว่าเราจะต่อยอดกับบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงศิลปะได้ยังไง เพราะฉะนั้นเราก็ใช้บ้านเขาเรา ใช้สถานที่ที่เรามี ประกอบกับที่เราชอบเก็บโน่นนี่นั่นมาผสมผสาน เราก็เลยคิดว่าตรงนี้มันเป็นแหล่งให้ความรู้ได้

“ผมก็เลยคิดว่าอยากจะให้มี (อาร์ต แกลเลอรี) ลักษณะแบบนี้เกิดในชุมชนหลาย ๆ แห่ง เพราะว่าศิลปะมันอยู่ในทุกคน ไม่ได้อยู่เฉพาะคนที่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะหรอก เพียงแต่ว่าเขาไม่รู้จักว่าอันนี้คือความเข้าใจเรื่องศิลปะ ทีนี้่พรสวรรค์ที่ว่ามันคือการถูกพัฒนาขึ้นมาโดยความชอบของเขา มันเลยเกิดเป็นพรสวรรค์ขึ้น เมื่อก่อนวิชาศิลปะถ้าใครวาดรูปไม่สวยเขาก็ว่าไม่มีศิลปะ ถูกไหม แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่วาดรูปไม่สวย แต่เขามีความจริงใจในการสร้างงานศิลปะ เหมือนเด็กที่เขาวาดสิ่งที่เขาเห็น วาดประสบการณ์ของเขา เขารู้ เขาเห็นอย่างนี้มา แล้ววาด สื่อออกไป บางคนก็เป็น Abstract ทำเป็นการ์ตูน ดูไม่รู้เรื่อง แต่ก็ถูกตัดสินไปแล้วว่าไม่มีพรสวรรค์เรื่องศิลปะ ในขณะเดียวกันในความเป็นจริงคือ ถ้าเราไม่ได้ไปปิดกั้นเขา วันนึงเขาอาจจะหลุดกลายเป็นศิลปินระดับโลกก็ได้ มาปัจจุบันความรู้ตรงนี้สามารถที่จะพัฒนาเยาวชน และสร้างโอกาสให้มากขึ้น”


เมื่อเราถามต่อว่า ทุกวันนี้ ที่เขาว่ากันว่าเป็น ยุคของเอไอ (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาทำลาย หรือ แรงกดดันต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่ หรือคนในอนาคตหรือไม่? อ.โต้ง ตอบว่า

“ในมุมมองของผมเอไอ หรือ ทุกอย่างที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันก็อยู่กับการนำไปใช้ของคนด้วย ถ้าคนที่หัวหมอหน่อยก็นำไปใช้ในด้านที่ไม่ดี โลกเรามันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว มันก็วนเวียนอยู่แบบนี้ แต่ว่าในขณะเดียวกัน พอเทคโนโลยีมันก้าวหน้าเราก็ควรจะใช้มันในทางที่ถูกต้อง แต่ว่าก็ควรจะปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเยาวชนตั้งแต่เด็ก รวมไปถึงผู้ใหญ่ ผู้ที่เอามาใช้งานให้มันถูกต้อง แล้วก็สอนเด็กให้รู้ถึงวิธีการพัฒนาสมอง หรือ การใช้ศักยภาพของเรา

“ยังไงเอไอไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรืออะไรก็ตาม มันก็มาจากข้อมูลที่พวกเรา มนุษย์รวบรวมมานั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันไม่สามารถที่จะเลียนแบบได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นพอมนุษย์คิดอะไรได้ใหม่ ๆ มันก็จะเกิด และถูกการบันทึกเอาไว้ แล้วก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อไป แต่ผมเชื่อว่าเรื่องของความคิดสร้างสรรค์มันจะไม่หมดไป มันจะมีต่อไปเรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าเราใช้มันถูกต้อง ถูกวิธี มันก็จะเอามาเป็นเครื่องมือในการทำอะไรให้มันง่ายขึ้น และสะดวกขึ้น มันก็จะทำให้ทุกอย่างบรรลุผล และพัฒนาได้เร็ว ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ บางคนก็ใช้เอไอในการหาข้อมูล หรือ การสเก็ตช์ภาพก็มี
“ถามว่าผิดไหม? ผมว่าไม่ผิดเพราะว่าเขามีไอเดียของเขาในการสร้าง และรวบรวมเอาข้อมูลทั้งหมดมา อย่างในสมัยเราต้องไปนั่งหาข้อมูล ไปสถานที่จริง อย่างผมวาดรูปในหลวง ร.9 ที่พระปฐมเจดีย์ ก็ต้องตามไปดูวัด สถานที่จริงที่นครปฐม เพียงแต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่เทคโนโลยีมันถูกสร้างมาให้เขาสามารถหยิบต่าง ๆ นำมาใช้ได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง และมันจะสามารถทำให้ทุกอย่างมันพัฒนาได้มากขึ้น แต่ถามต่อ เอไอเทียบเท่ามนุษย์ได้ไหม ผมว่ามนุษย์ยังต้องการความงาม ยังต้องการรสชาติของการสัมผัสรับรู้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำ และความคิดของมนุษย์ ศิลปะมันมีความแตกต่างตรงนี้ มันมีความละเอียดอ่อน เหมือนเราไปชมบางภาพไปดูว่ามันก็เหมือน ๆ กัน แต่บางภาพมันกลับสะท้อนความรู้สึกอะไรได้แบบบอกไม่ถูก ...”


ส่วนคำถามที่ว่าปัจจุบัน เด็ก ๆ มีการแข่งขันสูงมาก พ่อแม่หลายคนก็กดดันให้ลูกเน้นทางวิชาการเป็นหลัก เรื่องศิลปะเป็นแค่ส่วนเสริม หรืองานอดิเรกเท่านั้น อ.โต้ง มีคำแนะนำอย่างไรกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ลูกมีความสนใจด้านศิลปะว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไรดี?

“ตรงนี้มันมีปัญหามาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยยุคผม หรือก่อนหน้านี้ด้วยว่าเรียนศิลปะ เป็นศิลปินแล้วไส้แห้ง แต่ว่าในปัจจุบันภาพลักษณ์เปลี่ยนไป ทุกคนเห็นในสิ่งใหม่ว่า ศิลปะสร้างโลก มันพัฒนาแล้ว มันทำให้มีรายได้ มันช่วยสร้างชื่อเสียง ผมว่าผู้ปกครองบางคนก็เริ่มเปิดใจแล้ว แล้วก็คิดว่าถ้ารู้ว่าลูกเราถนัดอะไร แล้วส่งเสริมในสิ่งนั้น คิดดูว่าศักยภาพเขาจะไปได้เร็วขนาดไหน? ผู้ปกครองยุคนี้เท่าที่ผมรู้จักบางคนก็สนับสนุน

“ผมเคยสอนเด็กที่บ้านลูกศิษย์ ซึ่งครอบครัวก็มีอาชีพ มีฐานะอยู่แล้วเป็นบริษัทอิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต เผอิญลูกสาว 2 คนอยากเรียนศิลปะให้แม่ช่วยหาครูมาสอน ตอนผมเรียนจบใหม่ ๆ ผมก็รับสอน ผมก็ไปสอนให้จนเด็กบอกว่า "ครูโต้ง อยากเรียนศิลปะแต่ไม่รู้จะบอกแม่ยังไง?" ผมก็เลยช่วยไปพูดให้ ก็เลยไปคุยกับคุณแม่ว่า คุณแม่ ...ลองคิดดูว่า อาชีพของเขาไม่ว่าเขาจะเรียนอะไร จบออกมาเขาก็ต้องมาช่วยงานที่บ้าน ถูกไหม ดังนั้นในระหว่างที่เขาจะเรียน ให้เขาได้เรียนตามที่เขาปรารถนาดีไหม? เพื่อจะได้มีวิชาชีพติดตัวในอีกด้านนึง คุณแม่เขาก็เห็นด้วย ก็เลยให้ลูกเรียนศิลปะทั้งสองคน โดยคนนึงไปเรียนการออกแบบเซรามิก ส่วนอีกคนก็ไปเรียนด้านสถาปัตยกรรม ทุกวันนี้เขาก็ไปตามทางเส้นทางนี้ แล้วก็กลับมาช่วยบริหารกิจการครอบครัวได้ เขาก็มีอาชีพสองอาชีพ”

นอกจากนี้ อ.โต้ง ชัชวาล กล่าวด้วย วิชาศิลปะไม่จำเป็นว่าต้องเรียนแล้วมาทำงานศิลปะ เป็นศิลปินอาชีพ เพราะการเรียนศิลปะนั้นก็เพื่อการแสวงหาความสุข หรือการพัฒนาจิตใจ เพื่อนำมาช่วยเสริมกับศาสตร์ด้านอื่น ๆ ที่หลายคนมองข้าม เพราะบางทีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็จะมองแบบศิลปะไม่ได้

“อยากจะฝากให้น้อง ๆ เอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้ในวันนี้เอาไปพัฒนาต่อยอดในชีวิตของเรา อาจจะเกี่ยวกับเรื่องการเรียน หรือ ไม่เกี่ยวกับการเรียน หรือ เป็นความชอบส่วนตัวเราก็เอาไปพัฒนามันได้ ก็เป็นประโยชน์แล้ว ถ้าใครชอบวาดรูปก็อยากให้ทำต่อไป แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนศิลปะ เราก็ยังวาดรูปได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเป็นอาชีพก็ได้” “อ.โต้ง” ชัชวาล รอดคลองตันกล่าวทิ้งท้ายเป็นแง่คิดอันล้ำค่า


=========

หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่สนใจเยี่ยมชม ชัชวาล อาร์ต แกลเลอรี (Chatchawan Art Gallery) สามารถติดต่อไปได้ที่ Facebook : Chatchawan Art Gallery




























กำลังโหลดความคิดเห็น