“หนึ่งสมอง หนึ่งหัวใจ และสองมือ” คือวิธีถ่ายทอดจิตวิญญาณลงไปในงานศิลปะให้ได้ผลตรงใจที่สุด จากประสบการณ์ตรงของ “ศิลปินแห่งชาติ” เจ้าของเอกลักษณ์ภาพวาด “แสงเงา” อย่าง “ปรีชา เถาทอง” ชวนเด็กๆ เรียนรู้วิธีสร้าง “รูปที่ใจเห็น” จากนอกห้องเรียน ก่อนสร้างสรรค์ออกมาเป็น “รูปที่ตาเห็น” อย่างภาคภูมิใจ
เอกลักษณ์ “แสง-เงา” สร้างจาก “รูปที่ใจเห็น”
“อันนี้ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยนะ อาจารย์เคยเล่นกีตาร์ สมัยก่อนเล่นกับพี่ๆ น้องๆ กัน เพลงของ ‘Elvis (Presley)’ เพลงของ ‘สี่เต่าทอง’ ก่อนหน้านั้นก็เล่นดนตรีไทยกับพ่อแม่ ฝึกกับ ‘ครูเหม เวชกร’ ที่มาเล่นดนตรีไทยกับพ่อแม่อาจารย์ ทุกวันศุกร์-เสาร์ นั่นคือการ meeting ของคนโบราณ เหมือนมีคาราโอเกะส่วนตัว
เคยมีการตั้งโรงลิเกกันด้วย พี่น้องอาจารย์ช่วยเขียนฉาก เล่นลิเก แบ่งบทกันเป็นพระเอก เป็นผู้ร้าย พอวันหยุดก็ให้เด็กๆ ข้างๆ บ้านมาแต่งตัวเล่นลิเก แล้วก็มีเช่าการ์ตูนมา เขียนตัวการ์ตูนแจก มีให้เช่าด้วย
พูดง่ายๆ มันมีศิลปะอยู่ในนั้นด้วยตลอด มันคือวิถีชีวิตที่อาจารย์โตมา”
นี่คือเรื่องราวสุด Exclusive บางส่วน จากปาก “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2552 ที่เปิดเผยครั้งแรก ท่ามกลางบรรยากาศถาม-ตอบอย่างเป็นกันเอง ระหว่าง “ศิลปินตัวน้อย” กับ “ศิลปินเบอร์ต้นๆ ของไทย”
ในโอกาสที่นักเรียนโครงการ “Art Learning” หรือนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น ป.4 เดินทางไปเยี่ยมชมและวาดภาพนอกสถานที่ ณ “ศูนย์ศิลป์แสงเงา” หอศิลป์แสดงผลงานของ “อาจารย์ปรีชา”
“เทคนิคการวาดของอาจารย์คืออะไรครับ?” หนูน้อยคนนึงโยนคำถามขึ้นมา หลังฟังบรรยายจาก “ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง” ภัณฑารักษ์อิสระ และอาจารย์นักบรรยายศิลปะ จนเข้าใจเส้นทางชีวิตของศิลปินเจ้าของหอศิลป์ และพอจะเข้าถึงในเบื้องต้นแล้วว่า เอกลักษณ์โดดเด่นในผลงานสร้างชื่อของ “อาจารย์ปรีชา” คือการเล่นกับ “แสงและเงา”
“เทคนิคของอาจารย์มันมาจาก ‘My Heart, My Head และ My Hand’ ของอาจารย์เอง คือเทคนิคที่ control ด้วยใจ”
ศิลปินแห่งชาติเจ้าของผลงาน ให้คำตอบศิลปินตัวน้อยเอาไว้แบบนั้น ก่อนขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น เพื่อให้เด็กๆ หยิบ “หัวใจของการทำงาน” ไปใช้ได้ในวันที่เลือกคลุกคลีกับศิลปะในอนาคต
“คือต้องมีภาพในใจก่อน อย่างที่ 'อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก' (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) เคยพูดไว้ว่า ‘รูปที่ใจเห็น’ สำคัญมาก ก่อนจะทำให้เกิด ‘รูปที่ตาเห็น’
หรือต้องมี information ก่อน แล้วมันจะก่อให้เกิด inspiration จนนำมาสู่ imagination ที่ศูนย์กลางกายเรา (‘รูปที่ใจเห็น’) จิตเหนือสำนึกสังเคราะห์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ จนระเบิดออกมาเป็น ‘รูปที่ตาเห็น’ ในที่สุด”
ชีวิต “ศิลปินชั้นเยี่ยม” เล่าสู่ “ศิลปินตัวน้อย”
“อาจารย์เริ่มวาดรูปตั้งแต่กี่ขวบคะ?” อีกหนึ่งคำถามจากเด็กๆ ที่ทำให้ “หัวใจคนทั้งสองวัย” ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จากคำตอบที่ว่า “ตั้งแต่จำความได้เลย” ก่อนศิลปินชื่อดังด้านแสงเงา จะเริ่มเท้าความถึง “พี่น้องศิลปินตระกูลเถาทอง” รวม 4 คน
“บ้านอาจารย์วาดกันหมด เขียนกันบนฝาบ้าน แม้แต่ในสวน ยังเอากิ่งไม้แหลมๆ ไปเขียนกันบนใบตอง แล้วเอาใบตองมาตากแห้ง เก็บใส่สมุด เพราะเราไม่มีเงินซื้อกระดาษ
เชื่อไหมบ้านอาจารย์ไปเรียนหนังสือ ยังต้องเดินเท้าเปล่าไปเลย ยากจนมาก เดินเท้าเปล่าจากบ้านริมทางรถไฟ ไปตามทางบางกอกน้อย ข้ามเรือ 1 สลึง ไปฝั่งธรรมศาสตร์ แล้วเดินไปเรียนศิลปากร”
และมหาวิทยาลัยศิลปากรนี่เอง คือสถานศึกษาแห่งสำคัญที่ปั้นให้เกิด “ศิลปินแสงเงา” คนนี้ขึ้นมา จากการบ้านของ “ศ.ชลูด นิ่มเสมอ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ที่มอบหมายให้นักศึกษา “เขียนภาพเวลากลางคืน” มาส่งงาน
ในหัวของอาจารย์ปรีชาตอนนั้น คือ “ภาพวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร)” ตอนกลางคืน แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปวาดภาพยามวิกาลได้ อาจารย์จึงขอความช่วยเหลือจาก “เพื่อนเด็กวัด” ที่นั่น เข้าไปสเก็ตช์ภาพ จนออกมาเป็นผลงานชุด “แสงเงาวัดโพธิ์” ในปี 2515 ออกมา
นั่งวาดทั้งคืน จนผล็อยหลับไป กระทั่งวันใหม่มาเยือน อาจารย์ปรีชาก็ตื่นมาพบกับ “แสง” ที่สาดกระทบองศาต่างๆ จนเกิดเป็นรูปร่างประทับใจ บันดาลใจให้เลือดศิลปินในตัว นั่งวาดภาพเพิ่มจากที่อาจารย์สั่งไว้ คือภาพ “แสงและเงา” ของวัดโพธิ์ในตอนเช้า
และงานวาดชิ้นนั้นเองที่ทำให้อาจารย์ค้นพบสไตล์การวาด “แสงเงา” ของตัวเอง หลังส่งงานให้ “อาจารย์ชลูด” ดูแล้ว ผู้สอนแนะนำให้ส่งภาพเข้าประกวด “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ” จนสามารถคว้ารางวัล “เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม” มาครองได้สำเร็จในปี 2519
หลังจากนั้น ไม่ว่าจะวาดผลงานแนวไหน ทั้งภาพหุ่นนิ่ง ภาพนู้ด ฯลฯ ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน “แสงเงา” ก็จะปรากฏเป็นเอกลักษณ์ในงานศิลปินที่ชื่อ “ปรีชา เถาทอง” เสมอ
กระทั่งได้มีโอกาสกลับมาวาดภาพ “แสงเงา” ที่ตกกระทบ “วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)” และส่งประกวดสนามเดิมอีกครั้ง รางวัล “เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม” ก็กลับมาเป็นของอาจารย์อีกในปี 2520 และ 2522
ส่งให้ “ปรีชา เถาทอง” ศิลปินดาวรุ่งพุ่งแรงสมัยนั้น ถูกยกย่องให้เป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม” ตามเกณฑ์ศิลปินผู้ทรงอิทธิพล สามารถสร้าง “ผลงานศิลปะเหรียญทอง” ได้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีเพียง “24 ศิลปิน” ในประเทศไทยเท่านั้นที่ทำได้
ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน “ศิลปะ = ความสุข” ของเด็กๆ
“ชอบภาพนี้ตรงที่มีลายไทยจางๆ แล้วก็เหมือนมีรูปอยู่บนหน้าต่าง ดูงานอาจารย์แล้วประทับใจเรื่องการทำงานหนัก แล้วก็สร้างภาพที่สวยงามครับ
ผมวาดแสงกับเงาไม่ค่อยเป็น คิดว่าหัดยาก แต่ก็อยากวาดได้ครับ มาดูแล้วน่าจะช่วยเรื่องจินตนาการได้ ทำให้วาดได้ง่ายขึ้น”
ถ้าสงสัยว่าพาเด็กๆ มาดูงานศิลปะ แล้วได้อะไรกลับบ้าง? นี่คือตัวแทนความงอกงาม ผ่านความรู้สึกของ “น้องปรัชญ์-ปรัชญ์ ลิ้มทองกุล” ศิลปินตัวน้อย หนึ่งในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะของสาธิตจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของ “สมใจ จงรักวิทย์” อาจารย์ผู้ก่อตั้งและประธานโครงการมาตั้งแต่ต้น นานกว่า 13 ปี
ที่น่าสนใจคือ น้องปรัชญ์ บอกว่า ที่เลือกลงเรียนทางนี้เพิ่มเติม ไม่ได้อยากเป็น “ศิลปิน” แต่แค่อยากวาดรูปเป็น “งานอดิเรก” ตรงกับความคิดของเพื่อนนักเรียนอีกคนอย่าง “น้องปราง-พรรณวรท จิตรภักดี” ที่เปิดใจกับทีมข่าวเอาไว้ชัดว่า “หนูอยากเรียนไว้วาดรูปเล่นแก้เบื่อมากกว่าค่ะ จริงๆ อยากเป็นนักแสดง”
“ส่วนใหญ่หนูวาดแนว sketch ดินสอ แล้วก็สีไม้ค่ะ ที่ชอบภาพนี้เพราะมีเงา มีโบสถ์ มีวัด ดูแล้วมันก็สวยค่ะ เงาที่อาจารย์เขาวาดเหมือนจริงดี ปกติหนูวาดเงาไม่เป็น หนูก็อยากวาดเป็นอยู่ค่ะ”
ส่วนหนูน้อยอีกคนอย่าง “น้องนิต้า-อนิตา ตั้งกิจสุวานิช” ที่ยืนวาดลายไทยตามผลงานของอาจารย์ปรีชาให้เห็นอยู่พักใหญ่ๆ บอกชัดเลยว่า ได้แรงบันดาลใจจากการพกสมุดไปวาดภาพตามที่ต่างๆ จากเส้นทางชีวิตของศิลปินแห่งชาติผู้ถนัดด้านแสงเงา จนตั้งเป้าไว้ว่าจะขอทำตามให้ได้
“ดูงานอาจารย์แล้วรู้สึกว่ามันสวยค่ะ มันเหมือนของจริงมาก ปกติหนูไม่ได้วาดเงาเลย แต่พอมาที่นี่ก็เลยวาดตาม ก็วาดยากอยู่นะคะ (ยิ้ม) หนูคิดว่าวันหลัง หนูจะพกหนังสือ แล้วเวลาเจออะไร หนูก็จะวาดเหมือนที่อาจารย์วาดค่ะ หนูแค่อยากวาดให้มันมีความสุข”
เห็นผลผลิตจากต้นกล้าแห่งศิลป์ในวันนี้แล้ว ชื่นใจได้เลยว่าอย่างน้อยๆ ครอบครัวยุคใหม่ก็เข้าใจเรื่อง “สุนทรียะ” มากขึ้น ปล่อยทิ้งความเชื่อจากคนยุคเก่าที่เคยติดภาพลบด้านศิลปะไปในเชิง “ศิลปินไส้แห้ง” มองเพียงว่าเป็นศาสตร์ที่เรียนมาแล้ว ไม่สามารถเอาไปใช้เลี้ยงชีพได้จริง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “อาจารย์ปรีชา” ช่วยคอนเฟิร์มอีกเสียงว่า “mindset ของครอบครัวเริ่มเปลี่ยน เริ่มเห็นความสำคัญว่า วิชาศิลปะหรือวิชาสุนทรียะเนี่ย มันเป็นวิชากลางที่ต้องเรียนเปิดสมองเด็ก ให้เด็กเขาทำในสิ่งที่เขารัก รักในสิ่งที่ทำ นั่นคือ passion”
“ดังนั้น การทำงานด้านสุนทรียศิลป์ มันคือการระเบิดจากภายในใจของเขา เมื่อเขาเริ่มมี creative และเขารักในสิ่งเหล่านี้ ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำงานด้านนี้แล้วหาอะไรกินไม่ได้ มันเป็นอดีตไปแล้ว และเด็กรุ่นใหม่ก็เข้าใจเรื่องนี้ดี”
นอกกรอบห้องเรียน “ลงพื้นที่เสพศิลป์” ได้ผลยั่งยืน
ยกตัวอย่างย้อนกลับไปในสมัย “ศ.ศิลป์ พีระศรี” (คอร์ราโด เฟโรชี ชาวอิตาลีสัญชาติไทย) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะ ก็เคยตอบคำถามบรรดาผู้ปกครอง ในฐานะครูผู้สอน ผู้อำนวยการสอน และคณบดีคนแรกของ ม.ศิลปากร เอาไว้เช่นกันว่า “ลูกฉันมาเรียนศิลปะแล้ว จะไปทำอะไรกิน?”
“อาจารย์ศิลป์ ตอบไปยิ้มไปง่ายๆ ว่า เรียนศิลปะแล้วทำได้ทุกอย่าง ทุกอาชีพครับ” อาจารย์ปรีชา ช่วยขยายความให้เห็นภาพมากขึ้นว่า ศิลปะไม่ได้มีไว้เพื่อศิลปิน และห้องเรียนศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในสถาบัน
“ศิลปะสอนให้คนเป็น creative สอนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้สอนให้คนเป็นศิลปิน ถ้าเข้าใจตรงนี้ร่วมกันแล้ว เด็กทุกคนก็จะมีทักษะพิสัย และทักษะปฏิบัติ
ศิลปะมันเป็นเรื่องของความสุข เป็นเรื่องของสุนทรียะ ทำให้ใจเราสบาย เมื่อใจสบายแล้ว มันก็เกิด passion ไปทำอาชีพอะไรก็ทำด้วยใจสบาย เหมือนกับคำพุทธะที่ว่า ‘ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน’
‘ผู้รู้’ คือเราทุกคนต้องรู้ว่า เราอยู่ที่ไหน รู้โลก รู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
‘ผู้ตื่น’ คือเมื่อเรารู้แล้ว เราก็ตื่นรู้ว่า เราจะเป็นอะไร มีอาชีพอะไร ทำอะไร ซึ่งต้องอาศัยความ creative ให้รู้จักตัวตนของตัวเอง แต่ช่วงหลังๆ ระบบจะสอนให้เด็กๆ เป็น AI มากกว่า เมื่อไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้ราก passion มันก็ไม่เกิด
และเมื่อเรารู้ เราตื่นด้วย passion ในใจ และทำด้วยความรัก เราก็จะกลายเป็น ‘ผู้เบิกบาน’ จิตใจผ่องใส สุขใจ ความรู้สึกเหมือนหลังทำบุญใหม่ๆ ศิลปะก็เช่นนั้น”
เน้นให้เด็กๆ เรียนรู้จาก “ประสบการณ์ตรง” และ “การลงพื้นที่” เสพงานศิลป์ด้วยตัวเอง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยพวกเขาซึมซับได้ดีที่สุด อาจารย์ปรีชาขอแนะจากที่เห็นการเรียนการสอน ในสถาบันศึกษาตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา
“คุณค่าของศิลปินทุกคนมีอยู่บนโลกใบนี้ เพียงแต่ว่าผู้ดูจะเข้าใจคุณค่าเหล่านั้นหรือไม่ ผมชมเชยนะครับ การมาเรียนวิชาแบบนี้ การลงพื้นที่ มาสัมผัสของจริง มาเจอศิลปิน อันนี้เขาเรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติการที่ดีมาก มากกว่าไปดูรูปแห้งๆ ในหนังสือ หรือ E-Book ก็ตาม
อันนี้คือการเรียนแบบปฏิบัติการ เพราะถ้ามานั่งเรียนแค่ว่างานของ ‘ปรีชา เถาทอง’ เกี่ยวกับแสงเงา มีแสง 80 เปอร์เซ็นต์ มีเงา 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้ดูแค่ในสไลด์ที่ฉาย มันจะต่างจากเวลามาเจอของจริง มาซึมซับบรรยากาศ มันได้ความหมายถึงความซาบซึ้งมากกว่า
ผมอยากให้มีแบบนี้เยอะๆ แต่ผมบังคับสถาบันไม่ได้ ผมว่าสถาบันต่างๆ ควรเลิกเรียนในห้องเรียนได้แล้ว พวกวิชาด้านประวัติศาสตร์ สุนทรียะ”
“ยกตัวอย่าง ถามว่าทำไม ‘ศรีเทพ’ ถึงได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ให้เด็กไปซึมซับที่สถานที่จริงได้เลย ไม่ใช่ให้เลกเชอร์อย่างเดียว แล้วก็ตั้งเป็นประเด็นกว้างๆ ให้เด็กไปฝันอย่างเดียว นั่นแหละครับคือคำตอบ
ถ้าเราสอนให้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีคุณธรรม ไม่รู้เรื่องจริยธรรม สุนทรียะ ธรรมะ หรือความชอบธรรม เขาก็จะเห็นแค่ ‘ทำให้ได้เงิน-ให้มีชื่อ’ อะไรก็ได้ โดยไม่สนว่าจะ bully จะหิวแสงยังไงบ้าง อันนั้นอันตราย”
“โลกยุคใหม่น่ากลัว และทุกคนก็จะนั่งก้มหน้า ขอใช้คำหยาบว่า ‘เป็นขี้ข้ามือถือ’ สุดท้าย เราก็จะกลายเป็น ‘ขี้ข้าของ AI’ และ AI ก็จะมาแย่งงานเรา
เพราะฉะนั้น การเรียนให้ได้ผลในโลกปัจจุบัน ต้องเรียนด้วยการปฏิบัติการ เน้นประสบการณ์ตรง อันนี้สำคัญมาก
การเรียนในพื้นที่ ออกภาคสนาม มีความสำคัญ จะได้ประสบการณ์หลายมิติ มิติความรู้สึก มิติความคิด มิติความหมาย มิติเชิงปัญญา แบบที่เขา appreciated มันจะเกิดขึ้น เพราะความประทับใจมันจะเกิดขึ้นและอยู่ได้นาน”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและภาพ : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพบางส่วน : โครงการ "Art Learning" โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **