ทุกวันนี้มนุษย์ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพมากมาย ทั้งที่มาจากสภาพอากาศ จากสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ยกตัวอย่างปัจจัยเสี่ยง เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือแม้แต่อุบัติเหตทางถนน ถือเป็นความเสี่ยงหลัก ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งต่อตัวบุคคล ชุมชน และสังคมที่อยู่ด้วย
อย่างปัญหายาเสพติด ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ เป็นโจทย์ที่ท้าทายแถมแก้ยากมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งมีข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (ที่มา : จากระบบ ฐานข้อมูล บสต. ปีงบประมาณ 2567) ระบุไว้ว่า ในปี พ.ศ.2567 มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด (บสต.) ทั่วประเทศ คัดกรองได้เป็นจำนวน 196,895 ราย แยกเป็นแบบบำบัดรักษา 189,427 ราย แบบรักษาต่อ 9,747 ราย และแบบติดตาม 165,824 ราย
หรือปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มีข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) พบว่า ปี พ.ศ. 2568 ผ่านมาไม่กี่เดือนได้รับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน มีผู้บาดเจ็บสะสม 273,662 ราย เสียชีวิต 4,407 ราย ซึ่งส่วนใหญ่การเสียชีวิตมาจากรถจักรยานยนต์ 81%
หรือข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 สรุปผล สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในช่วงปี 2550 - 2567 พบว่า จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 20.9 ล้านคน หรือ 35.2 %
โดยปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ได้คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และด้วยสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะที่น่าเป็นห่วงนั้น เหตุนี้เอง เพื่อผลักดันให้ชุมชนก้าวสู่ความเข้มแข็งและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่เดินหน้าสร้างกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียน ณ “ชุมชนหัวชุกบัว” ตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในต้นแบบแห่งความสำเร็จ ที่ได้นำร่องรับมือกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ อย่าง ยาเสพติด-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-อุบัติเหตุทางถนน โดยยึดแนวทาง "พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง" ในการขับเคลื่อนจัดการปัจจัยเสี่ยงอย่างมีระบบ ลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างเห็นผล และไม่เพียงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเชิงรูปธรรมเพียงเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ชุมชนอื่น สามารถนำแนวทางไปต่อยอด เพื่อสร้างชุมชนและสังคมที่ปลอดภัย พร้อมกับสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
สสส. ร่วมกับภาคี ถอดบทเรียนจากชุมชนต้นแบบ สร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ได้กล่าวถึงการศึกษาดูงานและลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนในพื้นที่ ณ ตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ครั้งนี้ว่า สสส. มีภารกิจเพื่อช่วยสานพลังของภาคชุมชน โดย สสส. ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายในการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและภัยคุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการกับกลไกของระบบสุขภาพอำเภอ ซึ่งได้เกิดรูปธรรมและผลลัพธ์ที่ชัดเจนในพื้นที่
“เรามีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในระดับอำเภอ อย่าง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และในระดับท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) อสม. ชุมชน หมออนามัยทั่วประเทศหลายหมื่นคน ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานในพื้นที่จริง ๆ เขาจะรู้ว่าในพื้นที่หรือในชุมชนที่เขาอยู่นั้น มีปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน หรือแม้แต่อุบัติเหตุทางถนน เรามีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่จะมาช่วยถอดบทเรียน มาช่วยสร้างองค์ความรู้เพื่อที่จะขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ สสส.มีความเชื่อมั่นว่าสังคมจะขับเคลื่อนได้ ต้องมาจากฐานรากที่รวมพลังกัน”
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ว่า ได้เห็นพลังของชุมชนในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาสำคัญ ทั้งยาเสพติด แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน มีการใช้วัฒนธรรมชุมชน โดยมีแกนนำ มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ทุกคนได้ตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน
กำแพงแสน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่
ผ่านกลไก พชอ.
นายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน กล่าวว่า อำเภอกำแพงแสน ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ ผ่านกลไก พชอ.กำแพงแสน โดยมุ่งเน้นประเด็นปัญหาหลักอย่าง ยาเสพติด แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุทางถนน และโรคไม่ติดต่อ NCDs โดยการแก้ไขปัญหา ต้องอาศัยการจัดการและการขับเคลื่อนของพื้นที่ อ.กำแพงแสน ระดมทีมภาคราชการ ภาคหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และพลังของภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ร่วมกันออกแบบและพัฒนากลไกการทำงานที่ยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
“ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานของ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คือ เครือข่ายหมออนามัย ที่เป็นพลังหลักสำคัญ อีกทั้งยังเป็นผู้นำช่วยเชื่อมประสานและพัฒนากลไกชุมชน ส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชนในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เสริมพลังและสะท้อนเชิงพัฒนาจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสสำคัญต่อการยกระดับและต่อยอดแนวคิดใหม่ ๆ สู่การขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่”
โดยอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการบูรณาการกลไกสุขภาพในระดับพื้นที่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ด้วยแนวคิด “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” มี 3 แนวทางหลักในการดำเนินงาน ได้แก่
1.ขจัดภัยยาเสพติด ผ่านยุทธศาสตร์ “สานพลังคนหัวชุกบัว ล้อมรักษ์ครอบครัว” ที่เน้นพลังชุมชนในการป้องกันและแก้ไข
2.ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยกลยุทธ์ “พักตับ ยืดชีวิต” เชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพ และส่งต่อการดูแลผ่านกลไก "สามหมอ" ได้แก่ 1.หมอชุมชน (อสม.) สำหรับประชาสัมพันธ์คนในชุมชนที่มีพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจคัดกรองประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) และร่วมกับทีมในการติดตาม เยี่ยมเสริมพลัง เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม 2. หมออนามัย (ทีมสุขภาพประจำ รพ.สต. ทั้งสาธารณสุข พยาบาล แพทย์แผนไทย) และ 3.หมอโรงพยาบาล (แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวหรือแพทย์ และทีมสุขภาพของโรงพยาบาลแม่ข่าย) สำหรับการตรวจรักษาต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ดื่มมีผลค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ (ค่า ALT มากกว่า 100) แพทย์และทีมสุขภาพของโรงพยาบาลแม่ข่ายจะร่วมให้ความรู้ คำปรึกษา และร่วมเยี่ยมติดตามเสริมพลังเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
3.ป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน ด้วยมาตรการ 5 ป. ได้แก่ ประชาคม, ประชาสัมพันธ์, ปลูกทัศนคติ, ปรับพฤติกรรม และปรับปรุงสภาพแวดล้อม ผ่านความร่วมมือของหมออนามัยและภาคีในพื้นที่
ด้าน นายธนาธิป บุญญาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา เล่าถึงปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสุขภาพในตำบลสระพัฒนา ตำบลหนึ่งในอำเภอกำแพงแสน ว่าหลัก ๆ แล้วมีด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่
1. ยาเสพติด พบมีผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัด 23 คน พบอาการทางจิต 1 คน และเป็นกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย มีอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง เป็นอันตรายกับคนในชุมชน 2 คน
2. แอลกอฮอล์ พบมีผู้ดื่มทั้งหมด 357 คน เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-59 ปี สูงถึง 62.5% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มดื่มแบบเสี่ยง 183 คน ดื่มแบบมีความเสี่ยงสูง 69 คน โดยเชิญชวนกลุ่มดื่มแบบเสี่ยงทั้งหมดตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ มีผู้สมัครใจเข้าร่วม 105 คน
3. อุบัติเหตุทางถนน ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ พบมีผู้ประสบภัย 61 คน ผู้บาดเจ็บ 59 คน เสียชีวิต 2 คน
โดยบทบาทการทำงานในพื้นที่ ต.สระพัฒนา นั้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา ได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหมออนามัย ได้บูรณาการการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด รวมถึงร่วมวางแผนในการดำเนินการ สำรวจพื้นที่ ร่วมติดตามแก้ไข และเป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทุกมิติ เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวกด้านสุขภาพของคนในชุมชน และเป็นหน่วยงานที่สร้างแกนนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้าน เช่น อบรมให้ความรู้กับ อสม. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันดูแล แก้ไขปัญหาในพื้นที่
“กระบวนการทำงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ก่อนอื่นคือ เราต้องสร้างความร่วมมือจากคนในชุมชน ซึ่งถ้าชาวบ้านเขาได้เห็น และตะหนักถึงปัญหาก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลไกเรื่อง อสม. การดึง อสม.เข้ามามีบทบาทในการลดปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแอลกอฮอล์ ความปลอดภัยทางถนน ยาเสพติด การสร้างความร่วมมือจะเป็นแนวทางที่ทำให้สามารถพัฒนาสู่ชุมชนปลอดภัยได้ เราได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้พัฒนาทีมจนสามารถปฏิบัติการชุมชนได้ในหลายประเด็น ทำให้เกิดชุมชนปลอดภัย ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้”
หัวชุกบัวโมเดล สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ แก้ปัญหายาเสพติด
ชุมชนบ้านหัวชุกบัว ตั้งอยู่ในตำบลสระพัฒนา ถือเป็นหนึ่งใน 15 ตำบลของอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ประชากรส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวไทยเชื้อสายไทยทรงดํา มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติในชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านหัวชุกบัว ได้กลายมาเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง และจากการดำเนินการ ใน ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา นายสุวัจชัย เกียรติสกุลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและอุบัติเหตุในทางหลักหรือทางรองของพื้นที่ ต.สระพัฒนา ว่า การทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทำให้ ต.สระพัฒนา สามารถจัดการปัญหาได้ค่อนข้างดี
“บ้านหัวชุกบัว หมู่ 4 ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการปัญหายาเสพติด โดยได้เปิดใจรับนโยบาย 'ชุมชนล้อมรักษ์' แก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อคืนผู้ป่วยยาเสพติดกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้เสพให้เปิดใจเข้ารับการบำบัด และทำให้คนในชุมชนได้เห็นและเข้าใจว่าผู้เสพ = ผู้ป่วย โดยมีผู้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 6 คน หยุดเสพ 3 คน ลดการใช้ยา 1 คน ทำให้เกิดครอบครัวล้อมรักษ์และครัวเรือนสีขาว 246 ครัวเรือน”
“โดยทำให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนอื่น ๆ ล่าสุดได้มีการขยายผลไปยังหมู่ 5 ชุมชนบ้านหนองหมู ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งมีผู้เสพเป้าหมาย 13 คน และแผนงานยังคงเน้นการทำงานร่วมกับชุมชน ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการเล่นกีฬาในชุมชน โดยจัดพื้นที่เล่นกีฬา ติดไฟให้สว่างเพื่อความปลอดภัย ลดการมั่วสุมยาเสพติด ทำให้ชุมชนตื่นตัวไปพร้อมกัน เพื่อให้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นชุมชนพื้นที่สีแดงอีกต่อไป” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา กล่าว
“ความสำเร็จของการดำเนินการนั้น มาจากผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้เข้ามาบำบัดได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม รวมถึงการสนับสนุนจากตำรวจที่พาผู้เสพเข้าร่วมกิจกรรม ทุกอย่างเกิดจากชุมชนไว้เหนือเชื่อใจทำให้เราเข้าถึงเขาได้มากขึ้น เมื่อก่อนบ้านใครติดยา จะไม่ถูกยอมรับ พอเราลงมือทำโครงการชุมชนล้อมรักษ์ แต่เดิมเราจะเอาผู้ป่วยไปบำบัดที่อื่น แต่ชุมชนล้อมรักษ์เรานำผู้สมัครใจมาบำบัดในชุมชน โดยให้ชุมชนให้ความร่วมมือ ทำให้เขาเห็นว่าชุมชนจะได้อะไรจากการที่ลูกหลานไม่ต้องไปบำบัดที่อื่น ชาวบ้านเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับลูกหลาน กับครอบครัว กับคนในชุมชนจริง ๆ เขาเลยกล้าเปิดใจคุยกับเรา มาขอคำปรึกษาจากเรา มองว่าเราเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้”
“ยกตัวอย่าง เคสหนึ่งตอนนั้นลูกเขามีอาการเพ้อ พูดคนเดียว หวาดระแวง ทำร้ายพ่อ ญาติเขาโทรมาปรึกษา เราก็เลยพาไปที่ อสม. ไปกับน้องตำรวจ น้องพยาบาล ไปเกลี้ยกล่อมให้เขาเข้าสู่กระบวนการบำบัด เป็นเคสที่ค่อนข้างหนักไม่สามารถเอาเข้าสู่กระบวนการชุมชนล้อมรักษ์ได้ ต้องส่งต่อ ซึ่งในกระบวนการส่งต่อต้องใช้บัตรประชาชนแต่ผู้ป่วยไม่มี เพราะตอนคลุ้มคลั่งเขาเผาหมดเลย เราเลยประสานงาน ท่านปลัดอำเภอก็ให้ทำบัตรประชาชนทันที เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยเร็วที่สุด ตอนนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้วครับ”
“นอกจากนี้เรายังใช้แนวทาง “พี่ใหญ่” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทนำพาผู้เสพคนอื่น ๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง และการมีส่วนร่วมของ อสม.ในการทำงานเชิงรุก การจัดการที่โปร่งใส และการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต. ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เช่น การลดพฤติกรรมมั่วสุม การลดการลักขโมย และการสร้างพฤติกรรมที่ดี”
“บทบาทหน้าที่ รพ.สต. จะเป็นศูนย์คัดกรองผู้ป่วยยาเสพติด โดยฝ่ายปกครอง ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. หากพบผู้ป่วยแล้วนำเข้ามา เราก็จะมีกระบวนการคัดกรองแบ่งออกเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง สีแดง โดยกลุ่มสีเขียวก็จะได้เข้ามาบำบัดในชุมชน กลุ่มสีเหลือง สีแดงจะเป็นบทบาทหน้าที่ของสถานพยาบาล คือโรงพยาบาลกำแพงแสน และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ส่วนเรื่องของการดูแลสวัสดิการ ดูแลที่พักอาศัย หรืออาชีพ ทางอบต.จะมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมที่จะช่วยเหลือดูแลต่อไป” นายธนาธิป กล่าว
หมออนามัย ถือเป็นคนวิชาชีพสุขภาพ ที่ปฎิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ครอบคลุมพื้นที่ทุกตำบล ทุกอำเภอทั่วประเทศ ทำงานแบบผสมผสานทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน อำเภอ โดยมีจุดแข็ง คือ เข้าใจ เข้าถึงชุมชน และรู้จักชุมชน มีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมทั้งเชื่อมประสานพลังทางสังคมและชุมชนในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรค และจัดการภัยคุกคามด้านสุขภาพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ผศ. ดร. บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ กล่าวถึง โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัย หรือ ผู้นำหมออนามัยแนวใหม่ (Mohanamai Academy) ว่าตอนนี้ได้มีการดำเนินการมาแล้ว 4 รุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งมีกระบวนการคัดเลือกหมออนามัยรุ่นใหม่ทุกวิชาชีพทั้งนักสาธารณสุข พยาบาล แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล ทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ (Mohanamai Academy) ดำเนินการ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังน้ำเขียว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลสระพัฒนา และโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลห้วยขวาง รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมในการร่วมดำเนินการ
“แนวคิดการทำงานของเราคือ “Play & Learn”-ทำไป เรียนรู้ไป สนุกไป ผมเชื่อมั่นว่า เมื่อเราทำงานด้วยใจรัก สิ่งที่ได้กลับมาจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และมีความสุข ผมภูมิใจที่ได้เป็นหมออนามัยของประชาชน แม้วันนี้จะเปลี่ยนสังกัดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ผมยังอยากให้สังคมจดจำคำว่า “หมออนามัย” ในฐานะคนที่อยู่ใกล้ชิด เข้าใจชุมชน และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้”
“ชีวิตเปลี่ยน เพราะเลือกที่จะเปลี่ยน”
บทเรียนจากชีวิตจริง ของบุคคลต้นแบบในตำบลสระพัฒนา
พี่หนุ่ม (นามสมมติ) อายุ 52 ปี หนึ่งในบุคคลต้นแบบเลิกยาเสพติด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลสระพัฒนา ได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตสมัยต้องอยู่ในวังวนของยาเสพติด ว่า ตนเคยติดยาเสพติดตั้งแต่อายุ 20 ปี ใช้ชีวิตอยู่กับยาเสพติดมานานกว่า 20 ปี ทั้งยาบ้า ยาไอซ์ ยาเค สมัยนั้นยาเสพติดหาได้ง่าย พื้นที่ที่อยู่เต็มไปด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่เสพยาเป็นเรื่องปกติ ใครไม่เสพก็เข้ากลุ่มไม่ได้ จากผู้เสพกลายเป็นผู้ขาย และสุดท้ายก็เข้าสู่เส้นทางนี้อย่างเต็มตัว
“จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผมคือ ลูกสาว วันหนึ่งลูกสาวบอกกับผมว่า “ถ้าหนูสอบติดพยาบาล พ่อต้องเลิกยาให้ได้นะ” และเมื่อลูกสอบติดจริง ๆ ผมจึงตัดสินใจเลิกทันที เพราะไม่อยากทำลายความหวังของลูก”
“หลังจากนั้น ผมเข้าร่วมโครงการบำบัดฟื้นฟูที่รัฐจัดผ่าน อสม. ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติอีกครั้ง ผมใช้เวลา 4 เดือนในกระบวนการบำบัด วันนี้ผมเลิกยามาได้ เกือบ 10 ปีแล้ว ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน สังคมกลับมายอมรับ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีเงินเก็บ สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ช่วงแรกจะยังมีคนไม่เชื่อในความเปลี่ยนแปลง แต่ผมพิสูจน์ให้เห็นด้วยการกระทำว่าผมเปลี่ยนได้จริง ๆ ”
“ผมอยากฝากถึงทุกคนว่า อย่ายุ่งเกี่ยวเสพยาเสพติดเด็ดขาด ไม่ต้องอยากรู้ ไม่ต้องอยากลอง เพราะเมื่อเข้าไปแล้ว จะออกมายากมาก ยาเสพติดทำให้เสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงอนาคต”
ด้านพี่เอก-เอกภพ สระทองคำ อายุ 42 ปี ปัจจุบันทำงานเป็น อสม. บุคคลต้นแบบเลิกเหล้าได้สำเร็จ ได้เล่าประสบการณ์การเลิกเหล้าของตนเองว่า เริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ดื่มต่อเนื่องทุกวัน ชีวิตวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า “เย็นนี้จะไปดื่มที่ไหน?” เหล้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2567 ได้ดื่มจนหมดสติ ต้องเข้าห้องไอซียูนอนรักษาตัว โดยไม่รู้สึกตัวอยู่ 3 วัน
“พอฟื้นขึ้นมาสายระโยงระยาง ครอบครัว ภรรยา และเพื่อนเล่าให้ฟังว่าเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถึงขั้นที่พ่อผมบนไว้ว่าถ้ารอด จะบวชให้ สิ่งเหล่านี้กระทบจิตใจผมมาก ผมเริ่มคิดว่า เราทำให้คนที่รักเราทุกข์ขนาดนี้เลยเหรอ? จากวันนั้นผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าหยุดดื่มได้ ชีวิตจะเปลี่ยนไปแค่ไหน? ในช่วงพักฟื้น มีหมออนามัยจาก รพ.สต. และเจ้าหน้าที่เข้ามาเยี่ยม ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และผมก็ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมในชุมชน”
“ทุกวันนี้ผมไม่ดื่มเหล้าแล้วครับ ไม่แตะเลย สุขภาพดีขึ้น ออกกำลังกายได้ ความคิดปลอดโปร่ง ทำอะไรได้มากมายในแต่ละวัน โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ ชีวิตใหม่ ผมได้สุขภาพที่ดีขึ้น มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ได้ปลูกผัก เลี้ยงปลาสวยงาม ทำสิ่งดี ๆ ที่มีประโยชน์ กระเป๋าสตางค์ไม่รั่วเพราะไม่ต้องเสียเงินกับเหล้า จากที่เคยคิดว่าเย็นนี้จะหากับแกล้มอะไร กลายเป็นคิดว่าเย็นนี้จะหากับข้าวอะไรดีแทน”
โดยพี่เอกฝากไว้อีกว่า ถ้ายังเลิกไม่ได้ ให้ลองลดดู แล้วคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
ชุมชนเข้มแข็ง สู่การเปลี่ยนแปลงที่ขยายผลได้จริง
แนวทางของ สสส. คือการสานพลังจากรากฐานสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนทั้งภาคชุมชน ภาควิชาการ ภาคราชการ รวมถึงภาคประชาชนให้เกิดการมีส่วนร่วม ส่งผลให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งงบประมาณ ทรัพยากร และกำลังคน ดำเนินงานผ่านการสนับสนุนของ สสส. เครือข่ายหมออนามัยวิชาการและกลไก พชอ. บนฐาน ‘พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการจัดการและสามารถลดปัญหาที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานจัดการปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามสุขภาพของ อ.กำแพงแสน ก่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การขยายผล เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต่อไปได้
“ผมเชื่อว่าถ้าสังคมมีฐานรากที่ดี มีชุมชนที่เข้มแข็ง ข้างบนลมแรงแค่ไหน สังคมก็อยู่ได้ ซึ่งการจะใช้กฎหมายแก้ปัญหาเรื่องเหล้า ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน เพียงอย่างเดียว ผมว่าเอาไม่อยู่หรอก ถ้าชุมชนไม่ช่วยกัน ซึ่งชุมชนหลายพื้นที่ทำโดยอาศัยกลไกแม้บางเรื่องไม่มีข้อกฎหมาย แต่เขามีการทำข้อตกลง ทำประชาคมหมู่บ้าน หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็สำเร็จได้”
“วันนี้เรามีชุมชนหัวชุกบัวเป็นต้นแบบ เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม มีค่านิยม มีความสามัคคี มีกฎกติกา มีการยอมรับ สิ่งเหล่านี้คือพลังของสังคม ซึ่งการที่เขามีวัฒนธรรมเดียวกัน ถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่ช่วยหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสิ่งที่เราจะมาเรียนรู้เพื่อนำไปถอดบทเรียน ขยายผล และต่อยอดเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น โดยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบทั้งหมด แต่เราสามารถเรียนรู้ และปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้”
“ณ วันนี้ สสส. พยายามเดินหน้าอย่างเต็มสูบ แม้การทำงานจะไม่ราบรื่นเสมอไป บางพื้นที่อาจจะได้ผลดี บางพื้นอาจจะต้องปรับปรุง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องมี “ความต่อเนื่อง” “ความจริงจัง” และ “ความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชน” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย