สงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ดึงดูดทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่ทยอยจับจองเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษของเทศกาลนี้กับตนเอง
หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่าสูงถึง 1.92 ล้านคน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน ตามมาด้วยมาเลเซีย และอินเดีย เกิดรายได้หมุนเวียนนับพันล้าน ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของสงกรานต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันก็ยังยืนยันถึงบทบาทของสงกรานต์ในฐานะหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญระดับโลก โดยที่ The Times สื่อยักษ์ใหญ่จากอังกฤษก็ได้จัดอันดับให้สงกรานต์อยู่ในอันดับที่ 8 ใน 15 เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ใกล้เคียงกับเทศกาลชื่อดังอย่าง คาร์นิวัลแห่งบราซิล และ เทศกาลโฮลีของอินเดีย
เมื่อพูดถึงสงกรานต์หลายคนจะนึกถึงภาพของการเล่นสาดน้ํา ประแป้ง การรดน้ำดำหัว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีนี้ ขณะเดียวกันในบางพื้นที่ก็ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิม เช่น การประกวดก่อเจดีย์ทราย ขบวนแห่นางสงกรานต์ และการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ยาก
แต่ปัจจุบันสงกรานต์ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับแนวคิด “สงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์” เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน การทะเลาะวิวาท หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยภาครัฐและภาคประชาชนต่างร่วมมือกัน เพื่อให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่สนุกสนานควบคู่ไปกับความปลอดภัย และหลาย ๆ พื้นที่ก็กลายเป็นต้นแบบของการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ อาทิ สีลม เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
ล่าสุดในแถลงข่าว “สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับเครือข่ายงดเหล้า และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคมจัดขึ้น นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยถึงความสำเร็จในการผลักดันให้มีการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยและปลอดเหล้าทั่วประเทศในปีที่ผ่านมาว่า จากงานวิจัยของมูลนิธิพลังสังคมถึงความเห็นของคนไทยต่อประโยชน์ของการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า ปี 2567 ครอบคลุม 18 จังหวัด มีกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน พบว่า ประชาชน 91.4% ช่วยลดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับ 90% ช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาท 87.6% ทำให้ปลอดภัย และอีก 87% ช่วยลดปัญหาลวนลามล่วงละเมิดทางเพศพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยร้อยละ 75.20% ชอบเที่ยวงานสงกรานต์ที่จัดแบบปลอดเหล้ามากกว่ามีเหล้า
“ผมคิดว่า เราควรรักษางานสงกรานต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เอาไว้ ในส่วนของพื้นที่เอกชน ไม่ว่าจะเป็นห้างหรือบางที่ที่ยังมีการจัดงานที่มีแอลกอฮอล์อยู่ ก็อยากจะเชิญให้ร่วมกันออกแบบ ‘โซนนิ่งปลอดแอลกอฮอล์’ มาร่วมทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีงานสงกรานต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น หากจัดงานแบบนี้อย่างต่อเนื่องทุกปีได้ ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์กว่า 207 ราย ถ้าสามารถสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ให้เข้มแข็งได้ เชื่อว่า ตัวเลขการสูญเสียจะลดลงและเราสามารถเอาชนะได้แน่นอน”
หนึ่งสิ่งที่ นพ.พงศ์เทพ ตั้งเป้าคือ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในเทศกาลต่าง ๆ และกล่าวต่อว่า ความสำคัญของแนวคิดสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แต่ยังช่วยป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ในสังคม โดยเฉพาะการสร้างแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชน และแนวคิดนี้ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น แต่ควรถูกขยายไปยังงานประเพณีและกิจกรรมอื่น ๆ เช่น งานกีฬา งานบุญ งานบวช โดยยึดหลัก ความสนุกโดยไม่พึ่งพาแอลกอฮอล์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมแห่งความสุขและปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ นพ.พงศ์เทพ ยืนยันถึงบทบาทของ สสส. และความร่วมมือที่พร้อมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์ ‘สงกรานต์วิถีไทยที่สนุก ปลอดภัย และไร้แอลกอฮอล์’ ให้เกิดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ปลอดเหล้า กว่า 100 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว (ปลอดเหล้า) 60 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นการเฉลิมฉลองที่นึกถึงความสุขและความปลอดภัยของทุกคนในสังคมทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
“สุดท้ายขอฝากที่รณรงค์กันมานานคือเรื่องเมาไม่ขับและการดื่มในพื้นที่สาธารณะ ผมว่า เราอย่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีในที่สาธารณะให้เด็กเห็น คนอื่นเห็น หรือกระตุ้นให้คนรู้สึกว่า การดื่มเหล้ามันเป็นเรื่องปกติ ในฐานะหมอต้องบอกเลยว่า มันเป็นสารพิษ เป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน ในงานสงกรานต์ถ้าคนเขาไม่ดื่มกัน เราก็อย่าดื่ม ถึงแม้ว่า บางทีอาจจะมีคนแอบเอาใส่ขวดเครื่องดื่มชูกำลังไป เรามองไม่เห็นนะว่า ข้างในมีอะไร อันนี้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ต้องบอกว่า จริง ๆ เราสามารถที่จะสนุกได้โดยไม่มีแอลกอฮอล์และมิตรภาพก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีแอลกอฮอล์เช่นกัน”
“สุดท้ายนี้ก็ต้องขอชื่นชมสำหรับผู้จัดงานเครือข่ายงดเหล้า เทศบาล หน่วยงานทุกคนที่เห็นประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการจัดงานสงกรานต์ งานประเพณีต่าง ๆ ที่ไม่มีเหล้าและเบียร์” นพ.พงศ์เทพ ทิ้งท้าย
ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำถึงการวางแนวทางและมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ไว้ว่า สคอ. เดินหน้าจัดมาตรการควบคุมและส่งเสริมการจัดกิจกรรมสงกรานต์ให้ปลอดภัยและไร้แอลกอฮอล์ โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชนอย่างเข้มแข็ง โดยมีนโยบายมอบหมายให้ทุกจังหวัดและพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการลดอุบัติเหตุ
นอกจากการรณรงค์ในวงกว้าง สคอ. วางมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยส่งเสริมการทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ด่านชุมชนระดับครอบครัว โดยใช้ อสม. 1 คน ดูแล 15 ครัวเรือนในพื้นที่ตนเอง ผ่านการใช้กลไก 3 ต. ได้แก่
ตระเตรียม อสม. ไม่จำเป็นต้องเดินเคาะประตูบ้านเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากเขาทราบข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้วว่า บ้านไหนมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บ้านไหนมีคนดื่ม และบ้านไหนมีเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก 3 ประการ หากสามารถลดหรือยับยั้งได้ก็จะช่วยลดปัญหาลง ติดตาม อสม. จะลงพื้นที่ติดตามและขอความร่วมมือจากเจ้าของร้านไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กหรือคนเมา และอย่าขายนอกเวลากฎหมาย สุดท้ายคือการ ตักเตือน อสม. มีบทบาทในการให้คำแนะนำและตักเตือน เช่น หากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอให้ดื่มอยู่ภายในบ้าน ไม่ควรขับขี่ และหลีกเลี่ยงการออกนอกพื้นที่หลังการดื่ม ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ในระดับหนึ่ง
“นอกจากนี้ อสม. ยังได้รับการอบรมวิธีการสังเกตพฤติกรรมผู้ที่อาจมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินที่กฎหมายกำหนด โดยใช้ 3 ท่า ก็คือ หลับตายื่นแตะจมูก เดินต่อขา ยกขาเดียว ถ้าทำไม่ได้แสดงว่า แอลกอฮอล์เกินกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากออกไปข้างนอกโดนจับแน่เพราะเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทำอยู่แล้ว”
ถนนสีลม ถือหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการงานที่มีประสิทธิภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย นพ.ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. ถอดบทเรียนจากการจัดงานในปีที่ผ่านมาพบว่า ถนนสีลมสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้อย่างมากมาย และจัดการได้อย่างปลอดภัย โดยมีการตั้งจุดคัดกรองไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืออาวุธเข้าไปในพื้นที่งาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่ 6 เลนบนถนน โดยเว้นเลนกลางสำหรับรถพยาบาล เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน
ซึ่งจากบทเรียนที่ได้รับ สำนักอนามัยจึงได้เสนอแนวทางให้นำ “โมเดลถนนสีลม” ไปใช้กับจุดเล่นน้ำอื่น ๆ ที่มีการปิดถนนหรือจัดงานขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยของการจัดงานสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทั้งเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
ที่ผ่านมา กทม. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการควบคุมและป้องกันปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากผลการดำเนินงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่า อุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ถือเป็นสัญญาณที่ดีและสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการรณรงค์ที่มาถูกทาง
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ กทม. ได้สำรวจจุดเล่นน้ำสงกรานต์ที่ห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบจำนวนทั้งสิ้น 71 จุด รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักงานเขต วัด และในชุมชน โดยเฉพาะจุดเด่นที่เป็นไฮไลต์ของกรุงเทพ ได้แก่ ถนนสีลม ที่มีการจัดการอย่างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีการส่งเสริมให้เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ปลอดภัยและปลอดแอลกอฮอล์
ปีนี้ กทม. ยังคงมาตรการความปลอดภัย สงกรานต์ 5 ป. ได้แก่ ปลอดแอลกอฮอล์ ปลอดแป้ง ปลอดปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่(แรงดันสูง) ปลอดโป๊เปลือย และ ประหยัดน้ำ
“เริ่มที่ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ปลอดแป้ง ป้องกันปัญหาการเมาแล้วขับและการล่วงละเมิดทางเพศหรือทำอนาจารอื่น ๆ ปลอดปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่หรือแรงดันสูง การใช้ปืนฉีดน้ำที่มีแรงดันสูง อาจทำให้เกิดอันตรายหากถูกฉีดเข้าตา ต่อมา ปลอดโป๊เปลือย ในอดีตสีลมเคยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมอย่างการถอดเสื้อผ้าเต้น ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ สุดท้ายคือ ปลอดอาวุธ คนเข้าไปเล่นเยอะ อาจมีมิจฉาชีพแอบเข้าไปล้วงกระเป๋าเลยต้องมีมาตรการการตรวจอาวุธที่เข้มข้น ที่สำคัญพอคนเข้าไปเล่นมาก ๆ ก็ต้องมีมาตรการป้องกันและนับจำนวนคนด้วยเพราะกลัวเกิดเหตุเหยียบกันตายเหมือนที่ต่างประเทศ ซึ่ง 5 ป. ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะรักษาประเพณีวัฒนธรรมไทยที่ดีเอาไว้ได้”
เมื่อพูดถึงการขับเคลื่อนสงกรานต์ปลอดภัยในปีนี้ เราจะเห็นได้ว่า มีการร่วมมือจากหลากหลายเครือข่ายที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลดังกล่าว ซึ่ง นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม มองถึงกระบวนการขับเคลื่อนนี้ไว้ว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตนและภาคีเครือข่ายเปรียบเสมือนด่านหน้าในการขับเคลื่อนสังคม จนสามารถร่วมกันผลักดันให้เกิด “พื้นที่โซนนิ่งปลอดแอลกอฮอล์” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เป็นภาคีหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ
ปัจจุบันมีพื้นที่จัดงานในลักษณะนี้แล้วกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ในโครงการ “ตระกูลข้าว” 60 แห่ง และพื้นที่ที่จัดงานแบบปลอดเหล้าโดยไม่อยู่ในโครงการอีกกว่า 100 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงพลังการขับเคลื่อนจากภาคประชาชนที่ยังคงยืนหยัด แม้สังคมจะเริ่มผ่อนคลายต่อพฤติกรรมการดื่มมากขึ้นก็ตาม
“ผมยังคงกังวลว่า มันจะเพียงพอหรือเปล่าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะขณะนี้ดูเหมือนสังคมจะผ่อนคลายเรื่องการดื่มมากขึ้น หลายคนถามเราว่า จะเอายังไงกัน เราจะไปตามนั้นไหมหรือว่าจะยืนหยัดกันต่อ หลังจากประชุมกันแล้วเราก็เลือกจะยืนหยัด เพราะถ้าหากเทียบกับ 10 กว่าปีที่แล้ว ใครเคยไปที่สีลมต้องบอกเลยว่า ปัจจุบันมันเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ฟ้ากับเหวเลยก็ว่าได้ แล้วก็เป็นบรรยากาศที่ดีมาก เช่นเดียวกับที่ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต”
“ผมมองว่า ตอนนี้ทุกคนกำลังช่วยกันรักษามรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไว้ ซึ่งเรากังวลมากเลยว่า ต่างชาติเขาจะรู้ไหมว่า เทศกาลนี้คนเจ็บ คนตายเยอะมาก ตีกัน ทะเลาะวิวาททุกหนแห่ง ปีที่แล้วนอกพื้นที่ก็เริ่มมีฝรั่งต่อยตี ยิงกัน อันนี้คือสิ่งที่เราเป็นห่วงว่า มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตายายให้มา เราจะรักษามันอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา”
“ดังนั้น สิ่งที่ต้องร่วมกันก็คือ เราต้องยืนยันในสิ่งที่เคยทำมา และทำให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ นโยบายและมีมาตรการที่ชัดเจน เพื่อตอกย้ำถึงคุณค่าของสงกรานต์ที่ไม่ใช่มีแค่การสาดน้ำ แต่ยังสามารถผลักดันไปสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power) อย่างที่ขอนแก่นใช้ถนนข้าวเหนียวดึงดูดนักท่องเที่ยว”
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสังคมไทยเกิดอาการเคยชินกับพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ซึ่งบางครั้งทำให้มองข้ามอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมนี้ ดังนั้น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ สคล. มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม และภาคีเครือข่ายขอเชิญชวนให้ปรับค่านิยมและพฤติกรรมใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ดื่มไม่ขับ 2.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ 3.ไม่ขาย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงานสงกรานต์ 4.ให้ความสำคัญต่อความสนุกที่ยั่งยืนมากกว่าความสนุกชั่วคราว 5. สนุกได้โดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6.สนิทได้โดยไม่พึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเอาจริงจังกับมาตรการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ปลอดเหล้าแล้ว สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุขของครอบครัวอย่างแท้จริง
“ประเพณีสงกรานต์ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจาก UNESCO ดังนั้น มาตรการเชิงป้องกันและร่วมกันไม่ให้เกิดความสูญเสียจึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงขอให้ภาคสังคมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1.ยืนหยัดเจตนารมณ์ประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ด้วยเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ปลอดภัยและยั่งยืน 2.ประกาศเป็นนโยบายร่วมในทุกระดับ ควบคุมแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำ ไม่ขายไม่ดื่มในพื้นที่สาธารณะ สร้างความปลอดภัยแก่ส่วนรวม 3.กำหนดมาตรการในพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้าอย่างจริงจัง มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดงาน 4.ตอกย้ำคุณค่าประเพณีสงกรานต์ที่ไม่ใช่แค่การสาดน้ำ เพราะมีวิถีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ เข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว 5.พัฒนาอัตลักษณ์แต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวและสืบสานวิถีวัฒนธรรมให้ร่วมสมัย ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย”
ถนนข้าวเหนียว ที่นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นที่ออกแบบพื้นที่เทศกาลที่ไม่เพียงคำนึงถึงความสนุก แต่ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการลดปัจจัยเสี่ยงจากแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง
นายวิทยา ภูโยสาร ปลัดเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ความสำเร็จของถนนข้าวเหนียวโมเดลไม่ได้เกิดขึ้นเพียงปีเดียว แต่เป็นผลต่อเนื่องจากการรณรงค์เรื่อง เทศกาลปลอดแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ปี 2548 โดยร่วมกับ สสส. ซึ่งปัจจุบันเข้าปีที่ 20 ผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง รวมถึงสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะช่วงเทศกาลหรือประเพณีสำคัญเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่กิจกรรมในชุมชนทั่วไปด้วย เช่น การจัดงานบุญปลอดแอลกอฮอล์ จนส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวค่อย ๆ ซึมซับเข้าสู่พฤติกรรมของประชาชนที่เข้าร่วมและสามารถขยายผลมาสู่เทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อสอบถามถึงการเตรียมความพร้อม นายวิทยา เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมเฉพาะที่ถนนข้าวเหนียวสูงสุดถึง 156,000 คน สามารถสร้างรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ปี 2568 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สุขีวิถีไทย รวมใจถนนข้าวเหนียว เที่ยวสนุกสาดถึงแก่น” โดยมีถนนข้าวเหนียวเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ครอบคลุมบริเวณถนนข้าวเหนียวและถนนศรีจันทร์ ซึ่งคาดว่า จะมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 23 ขอนแก่น เจ้าหน้าที่สรรพสามิตอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) รวมถึงอาสาสมัครกู้ชีพและกู้ภัย โดยมีการจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองตามแนวพื้นที่จัดงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเพื่อรักษาบรรยากาศแห่งความสนุกสนานควบคู่กับความปลอดภัย ผู้เข้าร่วมงานจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แป้ง ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเข้ามาภายในพื้นที่จัดงาน
“ปีนี้เราหวังว่า จะเป็นอีกปีหนึ่งที่บรรยากาศของการเล่นน้ำสงกรานต์เต็มไปด้วยความสนุกสนาน คิดว่า ปีนี้พี่น้องประชาชนจะตื่นตัวและกลับบ้านมากขึ้น เราตั้งเป้าว่า ถนนข้าวเหนียวของเราจะต้องเป็นหนึ่งในถนนที่ปลอดแอลกอฮอล์ระดับประเทศ เราเชื่อว่าแบบนั้น เพราะงานประเพณีสงกรานต์ที่เราจัดขึ้นเป็นการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมก็คือการเฉลิมฉลองเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัย ที่สำคัญคือต้องปลอดแอลกอฮอล์ ซึ่งเราก็ขอความร่วมมือไปจากห้างร้านที่อยู่ใกล้เคียง ร้านไหนที่ให้ความร่วมมือก็มีการมอบประกาศนียบัตรยกย่องชมเชยให้ ทีแรกก็มี 2-3 ร้าน ต่อมาก็ให้ความร่วมมือจำนวนมากขึ้น แม้แต่เซเว่นที่ตั้งอยู่ตรงนั้นเขาก็งดจำหน่ายแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลที่เราจัด ซึ่งถือว่า เป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชน ช่วยกันรณรงค์ในการลดแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญ”
ประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ปี 2568 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สุขีวิถีไทย รวมใจถนนข้าวเหนียว เที่ยวสนุกสาดถึงแก่น”เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 15 เมษายนนี้ หรือ 8 วันเต็ม ๆ พบกับกิจกรรมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปจาก 20 คุ้มวัด และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง พร้อมไฮไลต์คลื่นมนุษย์ที่ทุกคนรอคอย
ไม่เพียงแต่ที่ขอนแก่น ความสำเร็จลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นที่ เชียงใหม่ การจัดงาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่” ภายใต้แนวคิด “เสิร์ฟความม่วน สาดความมันส์ สีสันปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” ยังคงสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิม พร้อมเพิ่มสีสันใหม่ ๆ อย่าง “อุโมงค์น้ำกลางคืน” ที่ประตูท่าแพและถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดเล่นน้ำยอดฮิต นอกจากนี้การรักษามาตรการปลอดแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด โดยเชียงใหม่เริ่มกิจกรรมสงกรานต์ตั้งแต่วันนี้-16 เมษายน เริ่มด้วยการสรงน้ำพระที่วัดเชียงยืนและวัดสำคัญต่าง ๆ พร้อมจัดกิจกรรมทั่วทั้งจังหวัด และ ภูเก็ต กับการจัดงานสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ปีนี้ภูเก็ตกลับมาอีกครั้งกับ สงกรานต์โนแอลภูเก็ต 2568 Songkran No Alcohol Festival Phuket 2025 ที่ถนนดีบุก หน้าไลม์ไลท์ ภูเก็ต ในวันที่ 13 เมษายน ตั้งแต่เวลา 16:00 - 22:00 น. เพียงวันเดียวเท่านั้น โดยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และมีกฎข้อบังคับที่เคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย เช่น ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำกระท่อม ห้ามพกพาอาวุธ และทะเลาะวิวาท ห้ามบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา ตลอดจนห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าในงาน รวมถึงแป้ง และสีอีกด้วย