xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” เผยรายงาน “หัวน้ำนม” ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอธีระวัฒน์” เผยรายงานจากประเทศอิตาลี ผู้ที่กินหัวน้ำนม (โคลอสตรุ้ม) เป็นไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าคนที่ฉีดวัคซีนอย่างเดียวถึง 3 เท่า แม้จะเป็นรายงานตั้งแต่ปี 2007 แต่ควรลองปฏิบัติ เพราะหัวน้ำนมสามารถหาซื้อได้ และใช้ในปริมาณไม่มาก ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจเกิดผลข้างเคียงได้

วันนี้(12 ก.ย.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ในหัวข้อ “โคลอสตรุ้ม หัวน้ำนมป้องกันไข้หวัดใหญ่” มีรายละเอียด ระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากการย้อนวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันในปี 2023 ในผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารที่ไม่ได้ประจำการ US Veterans Administration ในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวของปี 2022 และ 2023

และพบว่าผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลเพราะไข้หวัดใหญ่ หรือเพราะโควิด โดยทั้ง 2 โรค มีอาการเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจเหมือนกัน และ มีสัดส่วนของการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพอๆ กัน ตาม propensity score weighting คือ 55.43% สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ 54.54% สำหรับวัคซีนโควิด

ตามข้อมูลใน วารสารสาร สมาคมแพทย์อเมริกัน กล่าวว่าวัคซีนโควิดนั้นมีประสิทธิภาพ 90% และวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพ 50% ในการป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาลได้

ดังนั้น จำนวนของผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลที่เกิดจากแต่ละโรคนั้นควรจะต่างกันชัดเจน

ผลปรากฏว่า
คนที่เข้าโรงพยาบาลจากโควิด จากทั้งหมด 8,996 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้วถึง 79.27% ไม่ได้รับ 20.73% โดยยังได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 36.16%
และถ้าวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพจริง ที่สามารถป้องกัน คนจากการเข้าโรงพยาบาลจากโควิด 90% ควรจะมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 69.96% แทนที่จะเป็น 20.73%

คนที่ เข้าโรงพยาบาล จากไข้หวัดใหญ่ในจำนวน 2,403 ราย ได้รับการฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ 61.88% และไม่ได้รับ 38.12% และได้รับวัคซีนโควิด 81.11%

และถ้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดที่ป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาล คือ 50% จำนวนคนที่เข้าโรงพยาบาลเพราะไข้หวัดใหญ่ ควรจะไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 53.11% แต่โดยที่ความเป็นจริงไม่ได้รับ 38.12%

Colostrum (โคลอสตรุ้ม) เป็นของเหลวที่จะหลั่งจากเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น วัว หลังจากคลอดลูกประมาณ 48-73 ชั่วโมงก่อนจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมปกติ โคลอสตรุ้มนั้นมีสารอาหารสูงกว่าน้ำนมทั่วไป และ มีประโยชน์ในการป้องกันโรค

รายงานจากประเทศอิตาลี ในวารสาร clinical and applied thrombosis/hemostasis ปี 2007 พบว่าในคนที่แข็งแรงโดยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย และกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและกินหัวน้ำนม กับกลุ่มสุดท้ายที่กินหัวน้ำนมเท่านั้น เป็นเวลาสองเดือน และทำการติดตามต่อไปอีกสามเดือน ปรากฏว่า กลุ่มที่กินหัวน้ำนมกับกลุ่มที่กินหัวน้ำนมและได้รับวัคซีนเป็นไข้หวัดใหญ่เท่ากัน แต่ยังเป็นน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนอย่างเดียวถึงสามเท่า ทั้งจำนวนครั้งที่เป็นและระยะเวลาที่เป็นจนกระทั่งถึงหาย

นอกจากนั้นยังได้พบว่าในกลุ่มที่เปราะบางมีความเสี่ยงสูงของโรคหัวใจและเส้นเลือด กลุ่มที่ได้หัวน้ำนม และกลุ่มที่ได้หัวน้ำนมและวัคซีน เข้าโรงพยาบาลน้อยกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนอย่างเดียว

จำนวนประชากรที่ไม่มีโรคประจำตัวอายุ 30 ถึง 80 ปีเป็นจำนวน 144 รายและประชากรที่เปราะบางอีก 65 ราย

รายงานนี้แม้จะทำตั้งแต่ปี 2007 แต่ควรหรือไม่ที่อาจจะลองพิจารณาปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เพราะหัวน้ำนมสามารถหาซื้อได้ และใช้ในปริมาณไม่มากในแต่ละวัน คือ 400 มก. นอกจากนั้นในรายงานนี้ตลอดจนข้อมูลถึงปัจจุบันเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดผลข้างเคียงต่อได้ในลักษณะไข้ปวดเมื่อยได้หลายวัน หรือผลกระทบอย่างอื่นที่มากขึ้นแม้จะไม่รุนแรงเท่าวัคซีนโควิดก็ตาม

ทั้งนี้ หัวน้ำนมมีสารที่มีประโยชน์ในเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตลอดจนการต่อสู้เชื้อโรคในระบบเม็ดเลือดขาว จากการที่มีสาร แลคโตเฟอริน แลกโต เปอรอกซิเดส และ อิมมูโนกลอบูลิน และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถขัดขวางไข้หวัดใหญ่ทางระบบทางเดินหายใจและที่แทรกซึมเข้ามาในระบบทางเดินอาหาร

และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมน้ำนมแม่ ถึงดีที่สุด

ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น