xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” เตือนอย่าประมาท แม้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือโควิดไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอธีระวัฒน์” เผยรายงานในสหรัฐฯ ผู้ป่วยโควิดและไข้หวัดใหญ่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว เป็นเครื่องเตือนใจว่าวัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสามารถป้องกันอาการหนักได้ เมื่อป่วยควรระมัดระวังตนเองไม่ให้แพร่เชื้อ และใช้ฟ้าทะลายโจรตามขนาดที่กำหนด

วันนี้(8 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า อย่าประมาทแม้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือโควิดไปแล้ว สำหรับโควิดวัคซีน มีการสรุปว่าไม่สามารถกันติด ไม่สามารถกันแพร่ได้ ดังรายงานวันที่ 5 มิถุนายน 2024 ใน วารสาร BMC medicine

และนอกจากนั้นรายงานในวารสาร British Medical Journal ยังสังเกตว่าแม้เมื่อมีการฉีดวัคซีนไปแล้วแต่อุบัติการเสียชีวิตสูงเกินผิดปกติที่ผ่านมาในซีกโลกตะวันตก 47 ประเทศ ยังสูงมากกว่าธรรมดาตั้งแต่ปี 2020 แม้มีการใช้วัคซีนในวงกว้าง รวมทั้งมีมาตรการควบคุมต่างๆ และการตายสูงผิดปกติเช่นนี้ยังคง ปรากฏจนกระทั่งถึงปี 2024 ดังรายงาน ต่อมา แม้กระทั่งการวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศไทยเอง โดยทั่วโลกจึงเริ่มสังเกตเห็นการตายกระทันหันเฉียบพลันช่วยชีวิตไม่ทันแม้ในวัยรุ่นคนอายุน้อยจนกระทั่งคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือคุมได้ดีมาตลอด รวมถึงภาวะสมองเสื่อม อย่างที่มีรายงานจากประเทศเกาหลีในปี 2024 นี้และภาวะจิตอารมณ์หดหู่แปรปรวนที่รายงานจากประเทศเกาหลีเช่นกัน

สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นการย้อนวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันในปี 2023 ในผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารที่ไม่ได้ประจำการ US Veterans Administration ในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวของปี 2022 และ 2023

ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลเพราะไข้หวัดใหญ่ หรือเพราะโควิด โดยทั้ง 2 โรค มีอาการเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจเหมือนกัน และ มีสัดส่วนของการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพอๆ กัน ตาม propensity score weighting คือ 55.43% สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ 54.54% สำหรับวัคซีนโควิด

ตามข้อมูลรายงาน ใน วารสารสาร สมาคมแพทย์อเมริกัน กล่าวว่าวัคซีนโควิดนั้นมีประสิทธิภาพ 90% และวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพ 50% ในการป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาลได้

ดังนั้น จำนวนของผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลที่เกิดจากแต่ละโรคนั้นควรจะต่างกันชัดเจน

ผลปรากฏว่า
คนที่เข้าโรงพยาบาลจากโควิด จากทั้งหมด 8,996 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้วถึง 79.27% ไม่ได้รับ 20.73% โดยยังได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 36.16%

และถ้า วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพจริง ที่สามารถป้องกัน คนจากการเข้าโรงพยาบาลจากโควิด 90% ควรจะมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 69.96% แทนที่จะเป็น 20.73%

คนที่ เข้าโรงพยาบาล จากไข้หวัดใหญ่ในจำนวน 2,403 ราย ได้รับการฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ 61.88% และไม่ได้รับ 38.12% และได้รับวัคซีนโควิด 81.11%

และถ้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดที่ ป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาล คือ 50% จำนวนคนที่เข้าโรงพยาบาลเพราะไข้หวัดใหญ่ ควรจะไม่ได้รับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 53.11% แต่โดยที่ความเป็นจริงไม่ได้รับ 38.12%

อนึ่ง คณะผู้รายงานได้เสนอว่าการติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนที่น่าเชื่อถือนั้นต้องทำการติดตามเมื่อนำมาใช้แล้ว และดูข้อมูลตรงของการเจ็บป่วยที่อาการหนักเข้าโรงพยาบาล โดย ผู้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
อาจใช้ข้อมูลตามรายงานทั่วไปในวารสารอย่างเดียวไม่ได้

รายงานต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าวัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสามารถป้องกันอาการหนักเข้าโรงพยาบาลได้ตามที่ประสงค์

ดังนั้นการระมัดระวังตนเองป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นเมื่อรู้สึกไม่สบาย ต้องแยกตัวพองามใส่หน้ากาก และที่สำคัญคือใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดตามที่กำหนดในฉลากของแต่ละยี่ห้อ

ทานทันทีที่เริ่มมีอาการไม่ใช่รอจนกระทั่งอาการชัดเจนสุกงอมหรือรอจนกระทั่งทราบว่าเป็นชื่อเชื้ออะไรแน่แล้วค่อยทาน

ทานตามขนาดที่กำหนดติดต่อกันห้าวัน
ข้อมูลความปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกต้องไม่พบตับอักเสบตามที่กลัว

ข้อมูลที่นำมาแสดงเฉพาะฉบับนี้เป็นข้อมูลก่อนตีพิมพ์




กำลังโหลดความคิดเห็น