xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” ชี้ฝีดาษลิงติดไม่ง่าย ไม่ต้องประสาทกินหาวัคซีนมาฉีด เผยไทยมีของดี “ขมิ้นชัน” สู้ไวรัสได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอธีระวัฒน์” เผยฝีดาษลิงติดไม่ง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิดกัน หรือสัมผัสเยื่อบุผิวกับตุ่มหรือแผล คนไทยไม่จำเป็นต้องรีบไปหาวัคซีนมาฉีดเสริมธุรกิจการขายและอาจได้ผลกระทบมาอีก เพราะวัคซีนที่ใช้ตอนนี้ยังไม่ยืนยันผลชัดเจน แถมเสี่ยงหัวใจอักเสบ ขณะที่เมืองไทยมีสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ที่สู้กับไวรัสได้ดี

วันนี้(22 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เขียนบทความเรื่อง “ฝีดาษวานร คนไทยไม่กลัวมาก” มีเนื้อหาดังนี้

ไวรัสตัวนี้ อยู่ในกลุ่มดีเอ็นเอ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้มีการผันตัวกันรวดเร็วเหมือนแบบกลุ่มอาร์เอ็นเอเช่นโควิด

และในเวลาที่ผ่านมา ก็กระจุกกันอยู่ที่ประเทศต้นกำเนิดคือแอฟริกากลางเป็นกลุ่มที่หนึ่งและแอฟริกาตะวันตกเป็นกลุ่มที่สอง

แต่แล้วมีเหตุการณ์เริ่มผันแปรในปี 2021 และ 2022 ที่ปรากฏว่ามีผู้ติดฝีดาษลิงในประเทศนอกถิ่นกำเนิดและที่สำคัญก็คือไม่ใช่เป็นคนที่มาจากแอฟริกาและไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านั้น ทำให้เริ่มวิตกว่ามาจากไหน และการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมพบว่ามีการผันแปรของพันธุกรรมมากมายอย่างผิดปกติ

จวบจนกระทั่ง ในปี 2024 ที่พบกลุ่มใหม่แยกจากกลุ่มหรือ Clade ที่ 1 กลายเป็น 1b ซึ่งดูเหมือนว่ารุนแรงมากกว่าและแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มที่หนึ่งตามธรรมดา

ทั้งนี้ ไวรัสตัวใหม่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมีการประดิษฐ์นั้นมีการตรวจสอบโดยกรรมาธิการ เฉพาะของวุฒิสภา สหรัฐฯ โดยกรรมาธิการดังกล่าวออกรายงาน 73 หน้า ในวันที่ 11 มิถุนายน 2024 เป็นการสอบสวนการทำวิจัยไวรัสฝีดาษลิง ที่มีความเสี่ยงสูงโดยทำให้มีความรุนแรงมากขึ้นและติดต่อได้ง่ายขึ้นระหว่างคนสู่คน

ขั้นตอนตัดต่อส่วนของไวรัสในกลุ่มที่สอง ไปยังกลุ่มที่หนึ่งปรากฏว่าความรุนแรงลดลง

ดังนั้นเลยมีกระบวนการที่ทำโดยเอาส่วนที่หนึ่งเสียบไปยังกลุ่มที่สองจนได้ผลสำเร็จ มีความรุนแรงมากขึ้นและแพร่ได้เร็ว เกิดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สืบจนพบว่าเป็นการอนุมัติทุนในองค์กร NIH NIAID ของสหรัฐฯ ในปี 2015 และรายงานความสำเร็จในปี 2022 ซึ่งในขณะนั้นเอง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น

และนำไปสู่การสืบสวนจนกระทั่งถึงผู้อนุมัติสนับสนุนงานสร้างไวรัสใหม่ คือ ดร.เฟาซี

และเหตุการณ์ที่คล้องจอง คือการฝึกซ้อมรับมือผู้ก่อการร้ายโดย สมมุติว่ามีการ ใช้อาวุธชีวภาพ คือไวรัสฝีดาษลิงที่ตัดต่อพันธุกรรม ชื่อ Akhmeta ทั้งในปี 2021 และในปี 2022 โดยสร้างฉากทัศน์ เริ่มจากการปล่อยไวรัสจนกระทั่งมีการระบาดทั่วโลกและล้มตายไปหลายร้อยล้านคนและในขณะเดียวกันมีการตระเตรียมยาและวัคซีน

เหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบันที่มีการติดเชื้อฝีดาษลิงในมนุษย์ที่ง่ายขึ้น เริ่มเกิดขึ้นในปี 2021 และ 2022 และทยอยแพร่ไปทั่วโลก

จนองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนทั่วโลก

ข้อมูลฉบับเต็มจากการสอบสวน
https://d1dth6e84htgma.cloudfront.net/Mpox_Memo_Rpt_correction_18e95e3204.pdf?utm_source=substack&utm_medium=emai


วัคซีน jennyos ที่ มีการนำมาใช้นั้น เป็นวัคซีนเชื้อเป็น แม้ว่าจะเป็นชนิดที่บอกว่า เมื่อฉีดแล้วจะไม่เติบโตในมนุษย์ก็ตาม

แต่ความจริง อาจจะถึงเวลาไหมที่จะฉีดให้ทุกคน?

น่าจะเป็นสำหรับผู้สัมผัสคนที่เป็นโรคจริงๆ และประสิทธิภาพ 85% นั้น ยังไม่ยืนยันชัดเจน ดังรายงานในปี 2024 เป็นการอนุมานจากระดับแอนติบอดีในน้ำเหลือง

ทั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรที่เป็นตัวต่อสู้ไวรัสได้ดีที่สุด

และนอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงของหัวใจอักเสบร่วมอยู่ด้วย ทางบริษัทเองบอกว่าอย่างน้อยมี 8 ใน 10,000 ราย และไม่ทราบว่าเหมือนวัคซีนโควิดที่หัวใจอักเสบทั้งที่มีและไม่มีอาการ โดยพบว่ามีแผลเป็นก่อตัวได้จนกระทั่งถึงอย่างน้อยหนึ่งปีและอาจเกี่ยวพันกับสาเหตุตายกระทันหันเฉียบพลันได้หรือไม่?

แต่เป็นที่น่าดีใจ ที่ประเทศไทยมีสมุนไพรมากมายซึ่งพบแล้วว่ากินแล้วเป็นยาเป็นอาหารต้านไวรัสได้

ยา Tecovirimat ที่องค์การอนามัยโลกประกาศใช้รักษาฝีดาษลิงกลุ่ม I b
มีรายงานแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผล
https://www.nature.com/articles/d41586-024-02694-x?s=09

ขมิ้นชัน และส่วนสารประกอบต่างๆปรากฏว่ามีปฏิกิริยาสู้กับไวรัสฝีดาษลิงได้จากการตรวจสอบ ด้วยกระบวนการทางโมเลกุลและการขัดขวางไวรัส และ ควร ต้องมีการศึกษาลึกมากกว่านี้ และการเอามาใช้อย่างน้อยก็สามารถใช้ได้ด้วยความสบายใจ ทั้งนี้เนื่องจากราคาถูกและเข้าถึงได้ทั่วไปรวมทั้งไม่มีพิษ อันตราย

นอกจากนั้น ขมิ้นชัน มีรายงานมาเป็น 10 ปีแล้วตั้งแต่ช่วยบรรเทาและรักษาไวรัสเอดส์ ไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสตับอักเสบ โควิด โดยสู้ได้กับทั้ง RNA และ DNA ไวรัส เช่น ฝีดาษลิง ดังกล่าวแล้ว

สมุนไพรซึ่งเป็นยา ซึ่งก็ยังมีฟ้าทะลายโจรอีกซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัสมหาศาลเช่นเดียวกัน

อีกทั้งมียาฆ่าพยาธิไอเวอร์เมคติน ซึ่งมีสรรพคุณฆ่าไวรัสได้มหาศาลเช่นกัน และช่วยยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งได้อีก

(หลักฐานและเอกสารได้เคยโพสต์ไว้แล้วใน FB ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)

ขมิ้นชันนอกจากต่อต้านไวรัส ยังมีส่วนช่วยสมองเสื่อมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมสมุนไพรเหล่านี้รวมทั้งยาฆ่าพยาธิ จึงมีสรรพคุณครอบคลุมไวรัสได้เป็นโขยง

นั่นเป็นเพราะสามารถต้านการอักเสบได้ และออกฤทธิ์สู้กับไวรัสที่กลไกหลายขั้นตอน (multi-step ทำให้ เป็น broad spectrum) ในการขัดขวางไวรัสตั้งแต่ป้องกันการเกาะติดที่ผิวเซลล์การหวำ เข้ามาในเซลล์ ป้องกันการเพิ่มจำนวน ไม่ให้มีการสร้างโปรตีน ไม่ให้มีการรวมตัวเป็นตัวไวรัสและหลุดออกไปจากเซลล์ที่จะแพร่ไปทั่ว

ซึ่งไม่เหมือนกับยาปัจจุบันซึ่งออกฤทธิ์ตรงไปตรงมาในขั้นตอนเดียวและข้อสำคัญถ้าไวรัสมีการผันแปรพันธุกรรมก็จะดื้อต่อยา

ว่าถึงฝีดาษลิงในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสองหรือกลุ่ม 1 b ก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการติดนั้นไม่ได้ง่าย ต้องใกล้ชิดกัน ทั้งขึ้นกับระยะเวลา และขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ การแพร่เชื้อจะเริ่มตอนที่เริ่มไม่สบาย ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด กอดรัดฟัดเหวี่ยง จูบ มีเพศสัมพันธ์ หรือมีการสัมผัสของเยื่อบุผิวกับตุ่มหรือแผล

ไม่ใช่ ติดต่อทางอากาศหรือแบบโควิด ที่ติดต่อง่ายไปทางละอองฝอย

และไม่ถึงกับต้องเป็นโรคประสาทรีบไปหาวัคซีนมาฉีด เสริมธุรกิจการขายและปะเหมาะเคราะห์ร้ายได้ของแถมผลกระทบมาแบบโควิดอีก


หลักฐานบางส่วนของ ขมิ้นชัน
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10073709/

Curcumin as an Antiviral Agent
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7693600/

Curcumin covid
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2405844023088564

https://www.mdpi.com/1999-4915/13/10/1914

https://www.cell.com/heliyon/pdf/S2405-8440(21)00455-2.pdf

Antiviral, anti-inflammatory and antioxidant effects of curcumin and curcuminoids
https://www.nature.com/articles/s41598-024-61662-7

Antiviral Therapeutic Potential of Curcumin: An Update
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8617637/

Antiviral food
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10420791/

เราคนไทยมีของดีที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาให้เราลูกหลานไทยใช้จนปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น