เลขาฯ ก้าวหน้า ร่ายยาว แนะ 4 ข้อ ถึงเวลาปฏิรูปศาล รธน. เปลี่ยนองค์ประกอบการได้มาตุลาการศาล-ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจ ขอพรรคเคยถูกยุบช่วยผลักดันแก้ กม. ให้เป็นที่ยอมรับว่ายังจำเป็น ยัน ไม่คิดล้มล้างสถาบันฯ จะรักษาสถาบันฯ-ปชต.ไว้
วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายพิเศษในหัวข้อศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง ว่า ตนจะเริ่มบรรยายตั้งแต่ทำไมโลกใบนี้จึงคิดค้นตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา มาตรการการยุบพรรค จนกระทั่งประเทศไทยนำศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้ รวมถึงการยุบพรรค ซึ่งเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญขึ้นมา เราจะบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกฎหมายอื่นไม่ควรขัดรัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นควรยืนอยู่บนหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และหลักการตรวจสอบเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย ซึ่งเมื่อเราฟังแล้วก็จะคอยตามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีประโยชน์ ถือเป็นหลักการในอุดมคติ ขณะที่แนวคิดเรื่องของการยุบพรรคการเมืองเกิดจากนักวิชาการชาวเยอรมันที่ต่อต้านพรรคนาซี ก่อนจะถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในยุคที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเมื่อถูกนำมาเข้ามาใช้ในประเทศไทยก็จะผู้มีอำนาจนำไปดัดแปลง ตัดต่อพันธุกรรมแบบไทยๆ เพื่อให้เข้ากับประเทศไทย
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องเกี่ยวกับการพรรคในยุโรป บอกเป็นเทคนิคของผู้มีอำนาจ เวลาจะเอาประโยชน์ก็อ้างฝรั่ง ขณะที่ปกติบอกอย่าอ้าง ทั้งนี้ แนวปฏิบัติกรณียุบพรรคการเมืองของคณะกรรมาธิการเวนิส ระบุว่า เสรีภาพการรวมตัวการก่อตั้งพรรคการเมือง, พรรคที่ถูกยุบต้องใช้ความรุนแรงในการล้มระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นประชาธิปไตย, พรรคไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของสมาชิกที่ไม่ได้รับอนุญาตจากพรรคให้กระทำ, การยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย, การยุบพรรคเป็นข้อยกเว้นเคร่งครัดและต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ ไม่ใช่นิดหน่อยก็บอกว่าเป็นการล้มล้าง และศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นมีอำนาจยุบพรรคโดยต้องมีกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรม
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ตนยืนยันไม่ได้อยากอ้างฝรั่ง แต่เมื่ออ้างมาก็อ้างกลับ ท่านบอกประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เดินทางไปประชุมกับกรรมาธิการเวนิสเป็นประจำ ในเมื่อมีความสัมพันธ์สนิทกัน ใกล้ชิดกันเช่นนี้ รับแนวคิดกันเช่นนี้ การวินิจฉัยต้องเป็นไปตามแนวทางของกรรมาธิการ ทั้งนี้ เมื่อ นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม สอบถามที่กรรมาธิการเวนิส โดยมารยาทเขาก็ตอบว่า อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือถามหรือไม่ แต่เขายืนยันจะมาประชุมกับศาลรัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางการยุบพรรคในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2550 จากพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเมื่อมีการยุบพรรคก็มีการตัดสิทธิ์นักการเมืองของพรรคนั้นๆ ด้วย และหลังรัฐประหารในปี 2557 พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็สร้างพรรคแฝดขึ้นมา คือ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งได้มีการเตรียมที่จะเดินลงหาเสียงไว้แล้ว ก่อนที่ กกต.ไปร้องว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ ขณะรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทำให้มีการยุบพรรคและถูกตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 13 คน มาถึงพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกสั่งยุบพรรคและมีคณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ 16 คน รวมถึงสั่งห้ามไม่ให้วิจารณ์การเมือง แต่ตนก็ยังวิจารณ์อยู่
“มาถึงพรรคก้าวไกลก็ถูกร้องเรื่องของการล้มล้างการปกครอง จากเดิมจะยุบเรื่องการปฏิบัติจากเรื่องผิดกฎหมายและเลือกตั้งเทคนิคทางกฎหมาย แต่วันนี้มาเป็นเรื่องของการยุบพรรคในข้อหาการล้มล้างการปกครอง ที่มาจากชื่อเต็มคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมจึงมีความเห็นว่าการร้องยุบพรรคด้วยข้อหาเหล่านี้เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ส่วน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญกับการเมืองไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ตั้งแต่เรื่องของการซุกหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมาถึงการรัฐประหารในปี 2557 ก็ไม่ได้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง เมื่อคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญบอกให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แล้วที่เราเรียนมาคืออะไร จนกระทั่งมาถึงยุคนิติสงครามที่เอากฎหมายมาจัดการฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แทนที่จะปืนมาไล่ยิงกัน ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะพูดว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่คดีต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเกี่ยวจริงๆ
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ส่วนอนาคตศาลรัฐธรรมนูญไทย ควรจะไปต่อหรือยกเลิก หากจะไปต่อ ไปต่ออย่างไร ตนมองว่าได้เวลาปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. เปลี่ยนองค์ประกอบและกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี 9 คน แบ่งเป็น 3-3-3 โดยสามแรกให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นคนเสนอ 3 ที่สองให้ฝ่ายค้านเสนอ และอีก 3 ให้ศาลปกครองเป็นผู้เสนอ, 2. ตีกรอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ลดลงและเคร่ง 3. ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และ 4. สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญ
“เวลานักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิแล้วได้กลับมา ท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค อย่าพูดเฉยๆ เพราะบอกว่าไม่เห็นด้วยใครๆ ก็พูดได้ ลงมือทำง่ายนิดเดียว มีพรรคเดียวที่ไม่เคยถูกยุบคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือถูกยุบมาหมดแล้ว ถึงเวลาต้องรวมพลังกันแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เอามันออกไป วันนั้นเรดาร์รังสีอำมหิตเคยฉายไปที่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่วันนี้กลับมาอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วบอกว่าพวกเรารอด แล้วไม่ดำเนินการ พวกท่านช่วยกันหน่อยได้หรือไม่ ทั้ง นพ.ทศพร เสรีรักษ์, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ช่วยกันผลักดันแก้กฎหมายให้เป็นที่ยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญยังจำเป็น” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพรรค ก.ก.ถูกยุบ คนที่ไม่ถูกตัดสิทธิก็จะเดินหน้าต่อ แล้วเดินหน้าสร้างพรรคใหม่ และกลับมาได้คะแนนเสียงจำนวนมากในการเลือกตั้งปี 2570 และคำที่บอกว่าเป็นการล้มล้างสุดท้ายแล้วการที่บอกว่าการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความหมายอย่างไรกันแน่ ที่ผ่านมา ตอนถูกกล่าวหาว่าไม่มีความจงรักภักดี จนถึงวันนี้ตนยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะรักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับรักษาประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้หรือ ตนจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาทั้งสองสิ่งนี้ แม้ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ นายปิยบุตร บรรยายอยู่นั้น มี นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. และประชาชนกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค ก.ก.มานั่งฟังเป็นจำนวนมาก