xs
xsm
sm
md
lg

ขอเป็นกำลังใจให้ “หมอธีระวัฒน์” ยุติความเสี่ยงการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสค้างคาวในประเทศไทย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะที่เป็นศูนย์ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมไวรัสจากสัตว์สู่คน จึงต้องมีหน้าที่ในการรับผิดชอบและรวมถึงความปลอดภัยด้วย จึงได้ตัดสินใจยุติการรับทุนจากต่างประเทศและยุติการเอาไวรัสค้างคาวมาศึกษา เนื่องจากจะ “เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง” รวมทั้ง “ต่อต้านการเอาไวรัสเหล่านี้ไปตัดต่อพันธุกรรม” และได้ตัดสินใจทำลายตัวอย่างไวรัสเหล่านี้จนหมดสิ้น

แต่ปรากฏว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กลับถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่าบริหารไม่รัดกุม ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหาย ทั้งๆ ที่ควรจะได้รับความชื่นชมยกย่องว่าได้ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและความปลอดภัยไม่ใช่เพียงต่อประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเดิมพันความปลอดภัยต่อมนุษยชาติด้วย

เรื่องนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยข้อสงสัยการที่เกิดโรคระบาดที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นโดยการตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ และนำไปสู่การทำธุรกิจวัคซีนล่วงหน้าโดยมีชีวิตเป็นเดิมพันหรือไม่

เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้นทำให้เกิดข้อสงสัยว่าไวรัสโควิด-19 อาจไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีกลุ่มบุคคลนักวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีส่วนในการอนุมัติให้ทุนหรือได้รับทุนวิจัยจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา

 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถมีใครยืนยันได้ว่าไวรัสโควิด-19 มาจากค้างค้าว และยังไม่มีใครตรวจสอบหาได้ว่าไวรัสโควิด-19 มาจากค้างคาวที่ไหน สายพันธุ์อย่างไร และเข้าสู่มนุษย์อย่างไร

 เพราะจนถึงวันนี้งานวิจัยทั้งหลายก็ยังไม่พบไวรัสโควิด-19 ตามธรรมชาติจากค้างคาวสายพันธุ์ไหนเลย คงมีแต่ความคล้ายคลึงกับไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าไวรัสโควิด-19 จากค้างคาวไปสู่มนุษย์นั้นอาจเป็นเรื่องเท็จ และอาจมีความหมายว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสงสัยการจดสิทธิบัตรล่วงหน้าในเรื่อง “วัคซีน mRNA” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014-2015 ทั้งๆ ที่ไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2019 และเป็นผลทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในสภาพจำยอมต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการใช้วัคซีนmRNA ให้กับประชาชนในแต่ละประเทศโดยข้ามขั้นตอนมาตรฐานการใช้วัคซีนทั่วไป

และยังมีข้อสงสัยในเรื่องไวรัสโควิด-19 มาจากห้องทดลองการตัดต่อพันธุกรรมโดยการสนับสนุนทุนจากสหรัฐอเมริการผ่านองค์กร NIH USAID EcoHealth alliance Wuhan อีกด้วย

ภายหลังการที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ถูกตั้งกรรมการสอบสวน จึงได้ทำคำให้การและหลักฐานต่อคณะกรรมการสอบสวนในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศควรจะได้รับทราบเรื่องสำคัญ

โดยความตอนหนึ่งในคำให้การนั้น มีเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้เขียนเอาไว้ในรายงานว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ได้มอบหลักฐานการทุจริตบางประการแต่กลับไม่ปรากฏผลใดๆ อย่างน่าสงสัยยิ่ง ทั้งๆ ที่สำนักงานตรวจสอบทุจริตของสภากาชาดไทยมีความเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากที่สุด จึงได้เสนอต่อกรรมการสภากาชาดไทยว่า

“ในเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งกรรมการสอบสวนแต่ไม่ปรากฏผล ทั้งนี้โดยที่ทางศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน

โดยในขั้นแรกตามที่มีการบันทึกจากสำนักงานบริหารสภากาชาดไทยให้แจ้งเบาะแสของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและทุจริต ดังประกาศในวันที่ 17 มีนาคม2564 ทำให้ทางศูนย์ฯ ได้แจ้งสำนักงานตรวจสอบทุจริตของสภากาชาดไทย รวมทั้งนำหลักฐานเอกสารประกอบไปด้วย

โดยในวันที่รายงานไปนั้น ผู้อำนวยการคุณอนุวัฒน์ จงยินดี และคณะได้สรุปว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากที่สุด

ในลำดับต่อมาทางศูนย์ฯ ได้เปิดเผยหลักฐานดังกล่าวต่อทั้งกรรมการของโรงพยาบาลจุฬาฯ รวมทั้งกรรมการของคณะแพทย์ฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนการทุจริตของบุคคลดังกล่าว พร้อมกันนั้น ได้มีตัวเลขที่ทางศูนย์ฯ สามารถที่จะปกป้องไม่ให้เกิดความเสียหายได้ เป็นจำนวน 9,893,323.58 บาท

โดยบันทึกส่งให้คณะแพทย์ฯ และโรงพยาบาล จุฬาฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 โดยเกิดจากการที่บุคคลหนึ่งได้ “ทำการยักย้ายถ่ายเทเงิน” รวมทั้งมีการตกแต่งเอกสารและย้าย “อาจ” มีผู้ร่วม กระบวนการอีกอย่างน้อยหนี่งถึงสองคน จากการตัดสินของคณะกรรมการสรุปว่า ไม่เกิดความเสียหายให้ยุติการสอบสวน และไม่มีการลงโทษใด ๆ”

จึงทำให้เกิดข้อสงสัยและคำถามว่าการตั้งกรรมการสอบสวน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑานั้น มีเบื้องหลังที่มีการปกป้องการทุจริตในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ หรือไม่?

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ยังได้เปิดเผยข้อห่วงใยของประชาชนต่อการทำวิจัยในเรื่องไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่าและการตัดต่อพันธุกรรม โดยที่ได้มีการยื่นหนังสือให้กับคณบดีคณแพทย์ศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว ความอีกตอนหนึ่งว่า

“ได้มีการยื่นหนังสือถึงคณบดีคณะแพทย์ฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลาบ่าย เพื่อให้มีการชี้แจงและยุติเรื่องการนำไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่าและการตัดต่อพันธุกรรม รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ อีก และมีการเรียกร้องให้คณบดีคณะแพทย์ฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ “

และถึงเวลาแล้วที่คณะแพทย์ศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ จะต้องทำเรื่องดังกล่าวนี้ให้เกิดความชัดเจนต่อสังคม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ยังได้ชี้แจงยืนยันด้วยว่าเรื่องบุคคลและขบวนการเหล่านี้ได้ถูกเปิดโปงซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดในทั้งสื่อในสหรัฐ ในประเทศอังกฤษเป็นต้น รวมกระทั่งถึงมีการสอบสวนในสภาคองเกรสของสหรัฐจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
โดยประเด็นนี้ ได้ปรากฏเป็นข่าวถึงหลักฐานข้อมูลรายละเอียดที่เปิดโปงจากต่างประเทศ รายงานจากคณะทำงานต่อสภาคองเกรซ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยต่อสาธารณะรายงานฉบับเต็ม 302 หน้า เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 US Senate รัฐสภาสหรัฐอเมริการ เป็นฉบับเต็มของ interim report ที่ออกมาก่อนหน้าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ความตอนหนึ่งว่า
“ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องเชื่อมโยงกันกับการวิจัยไวรัสจากค้างคาว การตัดต่อพันธุกรรมและในที่สุดเกิดเหตุระบาด ณ ที่นั้น ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม และต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 โควิดตัวสมบูรณ์ หลุดจากห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่นจากการพัฒนาวัคซีนโดยรับทุนสนับสนุน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ทำชี้แจงนี้ได้แสดงความห่วงใยต่อความพยายามในขบวนการ “วางระบบในห้องปฏิบัติการ” ที่ทำให้ข้อมูลที่ขาดความปลอดภัย รวมถึงมีความเสี่ยงถึงขั้นสามารถแก้ไขระบบจากต่างประเทศได้ด้วย และต้องไม่ลืมว่าห้องปฏิบัติการนี้ ชื่อ “ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” ซึ่งจำเป็นต้องความปลอดภัยสูงสุด หากมีความเสี่ยงแม้แต่น้อยผลความเสียหายอาจจะไม่เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้มนุษยชาติเดือดร้อนได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต้องตัดสินใจล้มเลิกระบบแบบนี้ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลจากต่างชาติได้ และใช้ระบบภายในที่จัดทำเองปรากฏเป็นคำชี้แจงความตอนสำคัญนี้ว่า

“การเชื้อเชิญจากหน่วยงานหนึ่งของ สภากาชาดไทยให้คณะแพทย์ฯ และโรงพยาบาลจุฬาฯ วางระบบ PACS ในห้องปฏิบัติการ โดยระบุข้อมูลของตัวอย่างที่ได้มาจากใคร อย่างไร ที่ไหน และเป็นโรคอะไรนั้น และเก็บไว้ที่ตู้เย็นใด ใช้ไปเท่าใดเป็นระบบจาก กระทรวงกลาโหมสหรัฐและตั้งแต่เริ่มต้นที่ศูนย์ความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้วางระบบนี้ให้ พร้อมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐพยายามติดต่อกับหน่วยงานกลุ่มของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

หลังจากที่มีการใช้ระบบ PACS ในห้องปฏิบัติการ ทางศูนย์ฯ พบว่าระบบดังกล่าวนี้สามารถตรงไปยังต่างประเทศได้

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อระบบมีปัญหา ปรากฏว่ามีคนสามารถเข้าถึงและทำการแก้ไขจากต่างประเทศได้ทันที ศูนย์ฯ จึงล้มเลิกการใช้อย่างเด็ดขาด และวางระบบเองเรียกว่าLaboratory control system LCS ลักษณะเช่นนี้ เป็นการได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย อายุ สถานที่เกิดเหตุ การวินิจฉัยทางคลินิก และการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ทันที ปัจจุบันยังมีความพยายามที่จะให้หน่วยงานของสภากาชาด โรงพยาบาลจุฬาฯ และคณะแพทย์ฯ ใช้ระบบนี้


โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ยังได้อธิบายลำดับถึงเหตุผลการที่ต้องยกเลิกโครงการไวรัสค้างคาว และต้องทำลายเชื้อไวรัสเหล่านี้ทั้งหมดตามลำดับดังนี้

 ประการแรก จากบทความในหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ โดยนักข่าว สืบสวน(investigative journalist รางวัลพูลิตเซอร์) คุณ David Willman ในวันที่ 10 เมษายน 2023 เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานหลายประเทศรวมทั้งจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคโรคอุบัติใหม่

โดยมีการสัมภาษณ์บุคลากรทั้งศูนย์ฯ ทั้งหมด 3 วัน ตั้งแต่ปลายปี 2022 และหลังจากนั้น มีการยืนยันข้อมูลเอกสารผ่านทางอีเมลตลอด และ WhatsApp และทางศูนย์ฯ บรรยายถึง จุดยืนของศูนย์ฯ ที่ยุติความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศทั้งหมด และยุติการรวบรวมตัวอย่างจากสัตว์ป่าและค้างคาว และถือว่าการหาเชื้อในคนและสัตว์ที่มีอาการถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดมากกว่า

การหาไวรัสที่ไม่รู้จักที่จะมาคาดคะเนว่า จะเข้ามามนุษย์หรือไม่ รวมทั้งมีความเสี่ยงอันตรายสูงสุดในการนำเชื้อจากสัตว์เข้ามามนุษย์ ในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง การขนส่งตัวอย่างและการปฏิบัติในห้อง Lab รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับไวรัสทั้ง ๆ ที่อุปกรณ์ป้องกันตัวไม่ครบถ้วนและ ในประวัติที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทั้งห้องปฏิบัติการของศูนย์และของหน่วยงานสัตว์ป่าถูกค้างคาวกัด

 ประการที่สอง ก่อนหน้าที่จะทำการตีพิมพ์ ทาง David ได้ทำการติดต่อผู้บริหารคณะแพทย์ศาสตร์ ศ.นพ.ดร.วรศักดิ์ ถึงความเห็น ในเรื่องการสืบเสาะหาไวรัสในสัตว์ป่าและค้างคาวโดยที่ การศึกษาดังกล่าวถือเป็นการวิจัยที่มีความเสี่ยงสูง

 ประการที่สาม ประเด็นที่สำคัญในการยุติการทำงานดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อมีการประชุมผ่านซูมกับประธานองค์กร EcoHealth alliance Peter Daszak ในวันที่ 6 มิถุนายน 2019

ทั้งนี้ องค์กรต้องการเตรียมรับทุนจาก NIH NIAID ซึ่งในการประชุมมีแพทย์หญิงอภิญเพ็ญ และ นายแพทย์ภูษณุ ร่วมอยู่ด้วย

“โดยต้องการให้ศูนย์ฯ รับผิดชอบจัดตั้ง EID Search (SE Asia research collaboration hub) เพื่อเป็น ศูนย์กลาง ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของNIAID ที่เรียกว่า CREID (center for Research in EID) โดยมี Linfa Wang ของสิงคโปร์และ Shengli Shi สถาบันไวรัสอู่ฮั่นร่วมอยู่ด้วย จากการติดต่อครั้งต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคมและวันที่ 16 ตุลาคม 2020”

ประการที่สี่ ผลของการประชุมในวันดังกล่าวทางศูนย์ฯ ยืนยันอย่างชัดเจนว่าตัวอย่างที่เก็บไว้อยู่แล้วนั้นต้องไม่ส่งออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ ในเอกสารรายละเอียดของโครงการได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“จะมีการนำตัวอย่างจากแหล่งที่เก็บทั้งในประเทศไทย ลาว มาเลเซีย และซาราวัคไปทำการพัฒนาทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง รวมทั้งการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ เข้าเซลล์มนุษย์และสัตว์ที่ปรับเปลี่ยนตัวรับไวรัสให้เป็นแบบมนุษย์”

โดยในเอกสารยังได้อ้างอิงด้วยว่า

“มีความสำเร็จในการควบรวม ไวรัสในตระกูลโคโรนา chimera จนมีความสามารถเข้าเซลล์มนุษย์และสัตว์ทดลองจนก่อโรคได้ โดยทำที่สถาบันทั้ง สหรัฐ ในสิงคโปร์ และ สถาบันไวรัสอู่ฮั่น โครงการนี้เพ่งเล็งไวรัสที่อยู่ในตระกูลโคโรนาFilovirus ตระกูลไข้เลือดออกอีโบลา และมาบวกค์ และ paramyxovirus ตลอดจนไวรัสนิปาห์ เฮนดร้า ที่จะทำการตัดต่อพันธุกรรม”

ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ไม่ร่วมมือด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวที่เกิดขึ้น ต้องขอชื่นชมในความกล้าหาญที่จะยืนหยัดของศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือให้กับขบวนการที่จะมีความเสี่ยงอันจะนำไปสู่การประดิษฐ์หรือการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ และการที่ไม่ส่งไวรัสออกไปนอกประเทศ รวมถึงการทำลายไวรัสทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงในประเทศไทยหรือมีคนนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนไม่เข้าร่วมกับการทำงานกับความไม่ปลอดภัยของข้อมูลของขบวนการที่น่ามีความเคลือบแคลงสงสัย เป็นสิ่งที่ฟังขึ้นอย่างยิ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้าน 3 สารพิษการเกษตรที่ทำร้ายชีวิตเกษตรกรและประชาชน การสนับสนุนให้ผู้ป่วยควรจะมีสิทธิ์ใด้ใช้กัญชามากขึ้นเพื่อลดยานำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนไปวิจัยในเรื่องสรรพคุณและคุณลักษณะของกลิ่นเทอร์พีนในตำรับยากัญชาของยาแผนไทยโบราณอันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการรักษาโรคได้ในหลายมิติ และยังมาสนับสนุนให้ประชาชนใช้ฟ้าทะลายโจรผงบดธรรมดาที่แสนจะประหยัด ปลอดภัย และลดความรุนแรงของไวรัสได้ด้วย

กาลเวลาที่ได้พิสูจน์คนและจุดยืนที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นผู้ที่ยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่คนในระดับศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นผู้ที่มีความรู้และศักยภาพที่จะยืนข้างผลประโยชน์กลุ่มทุนทางการแพทย์และยาจากต่างชาติได้ไม่ยาก แต่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ก็ได้เลือกยืนอยู่บนความถูกต้องอย่างชัดเจน

ด้วยเหตุผลนี้ จึงขอให้กำลังใจด้วยจิตคารวะและเคารพต่อศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในโอกาสนี้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น