xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ถาม “สมศักดิ์” ทวงคืนฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยกี่โมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” ทวงถาม “สมศักดิ์” จะใช้อำนาจในฐานะ รมว.สธ.คืนฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยกี่โมง หลังมีความพยายามถ่วงเรื่องไม่ยกเลิกแนวเวชปฏิบัติรักษาโควิด-19 ฉบับ 5 มิ.ย.67 ที่ตัดฟ้าทะลายโจรออก ทั้งที่ปลัด สธ.สั่งการแล้ว

วันนี้(1 ส.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ในหัวข้อ “ยาฟ้าทะลายโจรจะคืนให้ผู้ป่วยกี่โมง?” มีรายละเอียดระบุว่า

คู่มือแพทย์ทั่วประเทศสำหรับการรักษาโรคโควิด นั้นมีชื่อเรียกเต็มว่า… “แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข” ซึ่งขอเรียกสั้นๆในบทความนี้ว่า “แนวเวชปฏิบัติ”

“แนวเวชปฏิบัติ”สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 นี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดที่เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงได้มีคณะกรรมการในการพิจารณาชุดหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ และสมาคมทางการแพทย์ ฯลฯ โดยมีกรมการแพทย์เป็นผู้ออกประกาศแนวเวชปฏิบัติให้โรงพยาบาลทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม

ดังนั้นหากแพทย์ทั่วประเทศได้ปฏิบัติตามแนวเวชปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองว่ามีความสุจริต เพราะได้ผ่านคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว

ในทางตรงกันข้ามหากแพทย์คนใดนอกคอก จ่ายยาให้ผู้ป่วยนอกแนวเวชปฏิบัติย่อมต้องมี “ความเสี่ยง” ในการรับผิดชอบส่วนตัวหากมีโชคร้ายหรือเกิดเหตุไม่คาดคิด โดยปกติแพทย์ซึ่งมีภารกิจมากแล้ว ย่อมยึดถือแนวเวชปฏิบัติเป็นสาระสำคัญ เพื่อลดความยุ่งยาหรือลดความเสี่ยงของแพทย์

ตัวอย่างแนวทางเวชปฏิบัติที่ประกาศของกรมการแพทย์ฉบับก่อนหน้านั้นคือฉบับที่ 27 สำหรับโรคโควิด-19 วันที่ 18 เมษายน 2566 ระบุในตารางที่ 2 ว่ามี “ขั้นตอน”อย่างชัดเจนว่ายาฟ้าทะลายโจรให้จ่ายสำหรับคนไข้ความว่า

“เริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2“[1]

นี่คือแนวเวชปฏิบัติ “ฉบับสุดท้ายที่มีฟ้าทะลายโจร” ที่ระบุว่าให้เริ่มยาเร็วที่สุดหลังติดเชื้อ

ที่แนวเวชปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะเหตุว่าบัญชียาหลักแห่งชาติได้รับรองว่าฟ้าทะลายโจรรักษาช่วยลดภาวะปอดอักเสบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หากรีบให้ยาฟ้าทะลายโจรโดยเร็วที่สุดตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา[2],[3]

และการที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้พิจารณายอมรับให้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาลดปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิดได้นั้น ก็เพราะในช่วงเวลาของโควิดที่รุนแรงคือสายพันธุ์เดลต้า และเป็นช่วงเวลาที่คนไทยยังไม่ได้รับวัคซีน ได้ปรากฏรายงานโดยสังเขปของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ระบุเอาไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 ว่าจากผู้ป่วยที่ใช้ฟ้าทะลายโจรจริงพบว่า หากรับประทานให้เร็วและทันทีในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จะลดโอกาสของปอดอักเสบได้ถึงร้อยละ 94.3 เทียบกับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่รับยาฟ้าทะลายโจร[5]

ดังนั้นแนวเวชปฏิบัติฉบับที่กลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี่คือแนวเวชปฏิบัติฉบับปรับปรุงครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567[4] เพราะในตารางที่ 2 ไม่ปรากฏขั้นตอนใดให้จ่ายยาฟ้าทะลายโจรอีกต่อไป

แม้จะมีข้ออ้าง “แก้ตัว” ว่าตามบัญชียาหลักแห่งชาติ “แพทย์สามารถจ่ายยาฟ้าทะลายโจรได้”[6]

แต่ตรรกะที่ย้อนแย้งกัน คือ “ยาแผนปัจจุบัน”ก็อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกัน[7] และยาแผนปัจจุบันราคาแพงๆ เหล่านี้ ยังมีการระบุขั้นตอนต่างๆ อย่างชัดเจน อยู่ในแนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ต่อไปได้[2]

แต่เหตุใดยาฟ้าทะลายโจรซึ่งก็มีสถานภาพอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน[2],[3] กลับไม่ได้มีขั้นตอนใดๆ ที่อยู่ในแนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ได้อย่างไร[4]

เหตุใด “ยาแผนปัจจุบัน” กับ “สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” ซึ่งมีสถานภาพอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกัน ถึงมีการเลือกปฏิบัติในแนวเวชปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันได้อย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีข้ออ้างแก้ตัวได้อย่างไร? ว่าทุกอย่างยังดูเป็นปกติ เมื่อถูกตั้งคำถามว่าผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 แล้วจริงหรือไม่?

การกระทำดังกล่าว อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความว่า

”มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มี ประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่งต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรคการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย“[8]


ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษาและคณบดีจากวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และคุณรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นหนังสือถึงคุณสมศักดิ์​ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เรียกร้อง 3 เรื่อง ตรงไปตรงมา

เรื่องที่ 1 ขอให้หยุดเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567

เรื่องที่ 2 ขอให้เปิดเผยบันทึกการถอดเทปในการประชุมคณะกรรมการโควิด-19

เรื่องที่ 3 ขอให้เปิดเผยงานวิจัยเต็มฉบับที่ใช้อ้างในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติ[9]

แต่นับตั้งแต่วันที่ยื่นเรื่องจนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 รวมเวลา 17 วันแล้ว ที่ข้อเรียกร้องทั้ง 3 เรื่องก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จแม้แต่ข้อเดียว คือ…

“แนวเวชปฏิบัติยังคงไม่มีฟ้าทะลายโจรในขั้นตอนใดเลยสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และบันทึกการถอดเทปการประชุมและงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงในการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติก็ยังไม่เปิดเผยแต่อย่างใด”

เหตุผลและงานวิจัยที่เป็นเหตุในการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติยังคงเป็นความลับดำมืด เป็นปริศนาอยู่ในแดนสนธยาได้อย่างไร?

ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ที่จะไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรเร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะปอดอักเสบ

ทั้งๆ ที่การวิจัยเรื่องการฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยที่ใช้จริงในมนุษย์พบว่าช่วยได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว 2 ปีต่อเนื่องกัน ปรากฏในวารสาร Fortune Journal ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565-2566 [10]-[11]


งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เป็นผลงานการตีพิมพ์ในวารสาร Fortune Journal เมื่อปี 2565 การใช้ฟ้าทะลายโจรเผยแพร่งานวิจัยพบผู้ที่ติดเชื้อโควิดซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการฉีดวัคซีนใดๆในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563- มีนาคม พ.ศ. 2564 นำเสนอโดยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวินและคณะ เป็นการวิจัยแบบสุ่มไปข้างหน้า
ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ฟ้าทะลายโจร “ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีภาวะปอดอักเสบ”คือ “ร้อยละ 0” ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการปอดอักเสบร้อยละ 17.9[10]

โดยในวันที่ 5 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยได้รับยาฟ้าทะลายโจรตรวจพบเชื้อโควิดเหลือเพียงร้อยละ 34.5 เทียบกับวันที่ 5 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรตรวจพบเชื้อโควิดร้อยละ 57.1[10]

ในขณะที่ผลการตรวจค่าการอักเสบของร่างกายผู้ป่วย ผ่านการวัดระดับค่า C-reactive protein (CRP) ที่มีค่าเกินกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ของผู้ป่วยที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรไม่มีใครมีค่าการอักเสบ (CRP)มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตรแม้แต่คนเดียว คือ “ร้อยละ 0” ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีค่าการอักเสบ (CRP)มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตรร้อยละ 17.9 โดยที่ผู้ป่วยปอดอักเสบมีค่าการอักเสบ (CRP)อยู่ในระดับสูง[10]

งานวิจัยดังกล่าวนี้ยังได้ระบุด้วยว่าไม่พบความผิดปกติต่อระบบเลือด ตับ และไตแต่ประการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายาฟ้าทะลายโจรมีทั้งประสิทธิศักย์และมีความปลอดภัยการใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19[10]

งานวิจัยหนึ่งอีกชิ้น เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Fortune Journal เมื่อปี 2566 นำเสนอโดยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวินและคณะ เผยแพร่งานวิจัยพบผู้ที่ติดเชื้อโควิดซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการฉีดวัคซีนใดๆ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ถึง มีนาคม 2564 เช่นเดียวกัน พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ฟ้าทะลายโจรจะมีโอกาสปอดอักเสบร้อยละ 0.3 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีโอกาสปอดอักเสบร้อยละ 24.3[11]

คำถามมีอยู่ว่ามีการ “ฉวยโอกาส” นำงานวิจัยที่ยังไม่สมบูรณ์มาเป็นเหตุในการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติจริงหรือไม่?

เพราะผู้ทำวิจัยในงานวิจัยที่ถูกแอบอ้างไปตัดฟ้าทะลายโจร ได้มาอภิปรายเปิดโปงในเวทีในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567ว่าการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากแนวเวชปฏิบัติโดยอาศัยงานวิจัยที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร?

ด้วยเพราะงานวิจัยดังกล่าวนั้นกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป เพราะเป็นช่วงโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อสุขภาพได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งยังมีตัวแปรกวนที่มีผู้ที่ฉีดวัคซีนอีกด้วย การใช้กลุ่มตัวอย่างที่น้อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีไม่มีอาการหรือมีอาการอาจมีผลไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะได้รับยาหรือไม่ได้รับยาใดๆ (ไม่ว่าจะยาอะไรก็ตาม)


คำถามมีอยู่ว่าการที่มีการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัตินั้น ด้วยเพราะมีการแอบอ้างงานวิจัยที่ยังไม่สมบูรณ์เป็นความจริงหรือไม่ และเหตุใดจนป่านนี้ยังไม่มีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงแนวเวชปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการโควิด-19 มีการอ้างมาโดยตลอดว่าล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น จะไม่เห็นความผิดปกติของงานวิจัยเหล่านี้ได้อย่างไร

และมั่นใจว่าการตัดฟ้าทะลายโจรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหตุใดจนป่นนี้แล้วก็ยังไม่มีการเปิดเผยบันทึกคำต่อคำในรายงานการประชุม รวมทั้งงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงในการตัดฟ้าทะลายโจรออก

เพราะจนถึงวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 ก็เป็นเวลา 58 วันแล้วที่ฟ้าทะลายโจรถูกตัดออกจากเวชปฏิบัติที่ประกาศของกรมการแพทย์ แล้วจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสียโอกาสของผู้ป่วยหรือไม่?

เช่นเดียวกับประเด็นที่ว่าถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรแล้วมีอาการปอดอักเสบเกิดขึ้น แล้วต้องเสียงบประมาณในการใช้ยาจากต่างประเทศที่ราคาแพงขึ้นด้วยจริงหรือไม่?

จนกระทั่งทราบมาว่าก่อนที่กรมการแพทย์จะได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก้ตัวเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ว่าแพทย์ยังคงสามารถจ่ายยาฟ้าทะลายโจรได้นั้น คือวันเดียวกันที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมหน่วยขึ้นตรงบัญชาการให้นำฟ้าทะลายโจรกลับคืนมาในแนวเวชปฏิบัติและให้ตัดยาฟาวิพิราเวียร์ออก จริงหรือไม่?

ถ้าจริง เท่ากับว่ากรมการแพทย์ปฏิเสธการปฏิบัติตามบัญชาการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข จริงหรือไม่?

เช่นเดียวกับวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่มีข่าวว่านายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมหน่วยงานขึ้นตรงทั้งหมดในกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้แจ้งว่า แนวเวชปฏิบัติในการรักษาโรคโควิด-19 ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 นั้นยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้กรมการแพทย์ไปยกเลิกแนวเวชปฏิบัติฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ดำเนินการคืนฟ้าทะลายโจรคืนมาแนวเวชปฏิบัติให้ผู้ป่วยโควิด-19 และตัดฟาวิพิราเวียร์ออก[12] จริงหรือไม่?

ถ้าข่าวข้างต้นเป็นความจริง ย่อมมีคำถามตามมาว่า การประกาศแนวเวชปฏิบัติของคณะกรรมการโควิด-19 โดยกรมการแพทย์อาจจะเป็นโมฆะตั้งแต่แรกหรือไม่? และมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยและประชาชนในวงกว้างหรือไม่?

ยังไม่นับประเด็นการพูดคุยกัน 3 คนเมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ระหว่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฟ้าทะลายโจร ที่มีคำถามว่า

จริงหรือไม่ที่ว่าแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ว่าจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโควิด-19 ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 เพื่อพิจารณาแนวเวชปฏิบัตินำฟ้าทะลายโจรกลับคืนมาได้หรือไม่

แต่ภายในวันเดียวกันก็มีข่าวว่าคณะกรรมการโควิด-19 ที่พิจารณาแนวเวชปฏิบัติได้ตัดสินใจลาออก อันเป็นผลทำให้ไม่มีคณะกรรมการโควิด-19 จริงหรือไม่ และถ้าสมมุติเป็นความจริง ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าคณะกรรมการโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจะเลือกแนวทาง “หนีปัญหา” แทนที่จะตอบคำถามที่น่าสงสัยอย่างมือออาชีพจริงหรือไม่?

คำถามในท้ายที่สุดจนถึงวันนี้ฟ้าทะลายโจรก็ยังไม่ได้กลับคืนมาให้กับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลอยู่ดี

จึงต้องมีคำถามสุดท้ายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารกระทรวงนี้ จะทำอย่างไร? หรือจะปล่อยให้ผู้ป่วยเดือดร้อนต่อไป

จะทวงคืนฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ป่วยได้กี่โมง?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
1 สิงหาคม 2567

อ้างอิง
[1] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข, ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน 2566
https://covid19.dms.go.th/.../25660418150721PM_CPG_COVID...

[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชีนยาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๐, ง ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2564/E/120/T_0046.PDF

[3]ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๐ ง, ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖, หน้า ๔๕
https://herbal.fda.moph.go.th/media.php...

[4] กรมการแพทย์, แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 28, วันที่ 5 มิถุนายน 2567
https://eid.dms.go.th/Content/Select_Eid_Landding_page...

[5] อัมพร เบญจพลพิทักษ์ และคณะ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, รายงานสังเขปผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย Covid-19, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 19 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน 2564, หน้า 229-233
https://he01.tci-thaijo.org/.../article/view/249140/168781

[6] กรมการแพทย์, กรมการแพทย์ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมการใช้ฟ้าทลายโจรและพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗
https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page...

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๐๐ ง, ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖, หน้า ๔๔
https://ndi.fda.moph.go.th/.../file.../20230501883971849.pdf

[8] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, 6 เมษายน 2560 (มาตรา 55 หน้า 15)
https://www.senate.go.th/assets/portals/13/files/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร%20พุทธศักราช%20๒๕๖๐.pdf

[9] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, หนังสือฉบับที่ 2 อ.ปานเทพ หมอธีระวัฒน์ รสนา ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทวงสิทธิผู้ป่วยให้ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ที่ กอ.97/2567 เรื่อง ขอรายงานการประชุมและผลการวิจัยในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจาก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567 และระงับแนวทางแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับที่มีการตัดฟ้าทะลายโจรออก, วันที่ 16 กรกฎาคม 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/1013618043465229/?

[10] Kulthanit Wanaratna, et al., Efficacy and Safety of Andrographis Paniculata Extract in Patients with Mild COVID-19: A Randomized Controlled Trial, Fortune Journal, Volume 5 Issue 3, Archives of Internal Medicine Research (5), 2022 page 423-427
https://www.fortunejournals.com/.../efficacy-and-safety...

[11] Amporn Benjaponpitak, et al., Effect of Andrographis paniculata Treatment for Nonimmune Patients with Early-Stage COVID-19 on the Prevention of Pneumonia: A Retrospective Cohort Study, Fortune Journal, Volume 6 Issue 2, Archives of Internal Medicine Research (6), 2023 page 35-43
https://www.fortunejournals.com/.../effect-of...

[12] ผู้จัดการออนไลน์, "หมอโอภาส"ไม่ไหวจะทน "หมออัมพร" ดื้อตาใส "เวชปฏิบัติ" ตัดฟ้าทะลายโจร เบื้องหลังคำสั่งหักอธิบดี, คอลัมน์ข่าวปนคน คนปนข่าว, 1 สิงหาคม 2567
https://mgronline.com/politics/detail/9670000066937


กำลังโหลดความคิดเห็น