xs
xsm
sm
md
lg

จับพิรุธ! ข้อมูลชงประกาศกัญชาเป็นยาเสพติดขัดแย้งกันเอง แนะไม่ควรใช้กำหนดนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอปัตพงษ์” ตั้งข้อสังเกตข้อมูลที่ใช้ประกอบพิจารณานำกัญชากลับเป็นยาเสพติดไม่สอดคล้องกัน บางสไลด์บอกจำนวนผู้ผิดปกติทางจิตปี 65-66 มีเกือบ 5 หมื่นคน แต่อีกสไลด์บอกแค่ 2 พัน ส่วนการเรียกเก็บเงินจาก สปสช.ที่เกี่ยวข้องกับกัญชามีเพียง 2 พันกว่า - 5 พันกว่าครั้ง น้อยกว่า 8-21 เท่า แนะไม่ควรใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบประชาชน ควรพิจารณาผลบวกและลบอย่างรอบด้านก่อน

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สอดคล้องกันของข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เพื่อเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชาและช่องดอกกัญชงเป็นยาเสพติดประเภท 5

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า บางสไลด์ระบุจำนวนผู้มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมเท่ากับ 48,138 – 48,195 คน ในปี 2565 – 2566 (ภาพที่ 1 และ 2)

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2
แต่ในอีกสไลด์ กลับ ระบุว่า มีเพียง 29,577 – 34,073 คน ในปี 2565 – 2566(ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3
และอีกสไลด์ กลับ ระบุว่า มีเพียง 1,630 – 2,079 คน ในปี 2565 – 2566 (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4
ข้อมูลการเรียกรับเงินค่าบริการจาก สปสช. (เบื้องต้น ยังไม่ใช่เงินที่จ่ายจริง) (สปสช.ดูแลประชากร ประมาณ 48 ล้านคน)
สถิติข้อมูลการเรียกรับเงินค่าบริการจาก สปสช.ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ปี 2565- 2566 มีเพียง 2,323 – 5,935 ครั้ง เท่านั้น (ตารางที่ 1) แตกต่างจากตัวเลข 48,138 – 48,195 คน ในปี 2565 – 2566 อย่างมากมา คิดเป็น 8 - 21 เท่า หรือ ร้อยละ 800 – 2,100


จากความไม่สอดคล้องกันของข้อมูลดังกล่าว รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เห็นว่า มีประเด็นที่ควรอภิปราย ดังนี้

1.ตัวเลขสถิติจำนวนผู้มีปัญหาจากกัญชา มากกว่าตัวเลขที่เรียกเก็บจาก สปสช.อย่างมาก ขัดกับวิสัยของโรงพยาบาลที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางการเงินของ รพ.ที่ควรเรียกเก็บเงินจาก สปสช. อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการวินิจฉัยและรายงาน เรื่องนี้

2.เคยมีการศึกษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า แพทย์วินิจฉัยจากข้อมูลบอกเล่าของผู้ป่วยเป็นหลัก มีการส่งตรวจหาสารกัญชาในร่างกาย เพียงร้อยละ 36 ของคนที่สงสัยเท่านั้น และที่ส่งตรวจก็พบว่ามีกัญชาในร่างกายจริงเพียงร้อยละ 40 ของคนที่ส่งเท่านั้น

3.ควรวิเคราะห์โดยพิจารณาข้อมูลในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น จำนวนคนที่ได้ประโยชน์จากกัญชา (ส่วนใหญ่ใช้แบบนอกระบบบริการของรัฐ) เช่น ตัวเลขที่คำนวณจากนิด้าโพล พบว่า มีคนใช้กัญชาเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 10 ล้านคน ใช้สูบ 7 ล้านคน (การสูบมีสรรพคุณทางการแพทย์) ใช้รักษาโรค 4.6 ล้านคน และน่าจะส่งผลดี ทำให้คนมารับบริการลดลง ถึง 27 ล้านครั้ง ประหยัดเงินได้อย่างน้อย 1.9 หมื่นล้านบาท

4.ในสไลด์ที่นำเสนอต่อคณะกรรการฯ แสดงให้เห็นว่า การจ่ายยากัญชา ในระบบน้อยมากๆ เมื่อเปรัยบเทียบกับการคำนวณที่พบว่า คนไทยที่เจ็บป่วยอย่างน้อย 24.6 ล้านคน ที่น่าจะได้ประโยชน์จากกัญชา

ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ได้แก่ 1.คณะกรรมการไม่ควรใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากำหนดนโยบายสาธารณะที่จะกระทบต่อประชากรจำนวนมาก

2.คณะกรรมการควรส่งหนังสือไปขอให้กองทุนสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน (กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคมและ สปสช. ) เปิดเผยข้อมูลการเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด

3.คณะกรรมการควรพิจารณาผลกระทบทางบวกและลบ ของการนำกัญชา “กลับไปเป็นยาเสพติด” อย่างรอบด้านเพียงพอ ทั้งมิติทางการแพทย์ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ถ้ามีโอกาสเกิดผลกระทบทางลบมากกว่าอย่างชัดเจน ควรหยุดการพิจารณาไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลที่รอบด้านมาตัดสินใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น